เอเอฟพี - กองทัพยูเครนเผยอ้างในวันจันทร์ (3) ว่ารัสเซียขีดเส้นตายให้กองกำลังของพวกเขาในไครเมียยอมจำนน ไม่งั้นจะเจอกับปฏิบัติการจู่โจมแบบเต็มพิกัด เดือดร้อนสหรัฐฯต้องออกมาปราม บอกมอสโกต้องรับผิดชอบโดยตรงหากสถานการณ์ลุกลาม อย่างไรก็ตามทางรัสเซียออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“มีคำขาดให้เราวางอาวุธและออกจากที่นั่นเสีย หรือไม่ก็ต้องพร้อมสำหรับการถูกโจมตี” วลาดีสลาฟ เซเลซนอฟ โฆษกระดับท้องถิ่นของกระทรวงกลาโหม บอกกับเอเอฟพีจากซิมเฟโรโปล เมืองหลวงของไครเมีย “บางทีอาจเป็น 01.00 น. 02.00 น.หรือไม่ก็ 03.00 น.ของวันอังคาร เวลาต่างกัน ยังไม่แน่ชัด”
ข่าวคราวคำขู่ดังกล่าวก่อความกังวลแก่ชาติตะวันตก พันธมิตรของยูเครน ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯ ที่ออกมาชี้ว่าคำขู่โจมตีใดๆ อาจทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดในไครเมีย ลุกลามเข้าสู่ขั้นเป็นอันตราย “วอชิงตันกำลังดำเนินการตรวจสอบข่าวที่ว่ามอสโก ต้องการให้เหล่าผู้นำยูเครนยอมจำนนหรือเสี่ยงถูกโจมตีแบบเต็มพิกัดเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ซึ่งหากว่ามันเป็นจริงสถานการณ์อาจลุกลามเข้าสู่อันตราย และรัสเซียต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง”
ด้านวุฒิสมาชิก จอห์น แม็คเคน แม้ย้ำสหรัฐฯยังไม่คิดถึงการส่งทหารเข้าประจำการในยูเครน แต่กระนั้นก็บอกว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา คงไม่ยืนหยัดอยู่ฝ่ายเดียวกับ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเป็นแน่
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์ รายงานว่าฐานทัพทะเลดำของรัสเซียในไครเมีย ปฏิเสธข่าวลือเกี่ยวกับแผนโจมตีที่มั่นทางทหารของยูเครนในคาบสมุทรไครเมียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบอกว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระทั้งเพ “มันไร้สาระสิ้นดี” ตัวแทนของฐานทัพเรือรัสเซียในไครเมียบอก “เราถูกกล่าวหารายวันว่าจะใช้กำลังทหารกับสหายยูเครนของเรา ความพยายามกระทบกระเทียบเราแบบนี้ มันไม่ได้ผลหรอก”
ก่อนหน้านี้ กระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย ยืนยันว่าฐานทัพทะเลดำในไครเมีย จะไม่แทรกแซงการเมืองภายในของยูเครน และความเคลื่อนไหวใดๆ ทางทหาร เป็นการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อปกป้องตนเอง หลังจากถูกกล่าวหาเสริมกำลังเข้าไปในไครเมีย และเข้ายึดครองเขตปกครองตนเองของยูเครนซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือสำคัญของแดนหมีขาวแห่งนี้เอาไว้ในทางพฤตินัย
วิกฤตบนพื้นที่ชายขอบด้านตะวันออกของยุโรปคราวนี้ เสี่ยงที่จะระเบิดกลายเป็นการทดสอบสัมพันธภาพระหว่างมอสโกกับตะวันตกครั้งใหญ่ที่สุดภายหลังยุคสงครามเย็น โดยขณะนี้แหลมไครเมียที่กองทัพเรือรัสเซียภาคทะเลดำประจำการมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 กำลังตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพรัสเซียตลอดจนกลุ่มนักรบท้องถิ่นที่สนับสนุนมอสโกเกือบสมบูรณ์แล้ว
อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค นายกรัฐมนตรีรักษาการของยูเครน ยอมรับเมื่อวันอาทิตย์ว่า ยูเครนอยู่บนขอบเหวของความหายนะ และว่าการบุกรุกใดๆ ของรัสเซียถือเป็นสงคราม ขณะที่ความหวาดวิตกต่อความขัดแย้งนี้ก่อความตื่นตระหนกแก่ตลาดทุนทั่วโลกและส่งให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยาน
เหล่าผู้นำโลกต้องนัดประชุมหารือกันอย่างเร่งด่วนและมีการสนทนากันทางโทรศัพท์หลายรอบแล้ว ในความพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งนี้ รวมถึงไปพูดคุยถึงแนวทางการช่วยเหลือยูเครนให้รอดพ้นจากหายนะผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ นัดประชุมฉุกเฉินตอนเวลา 20.30 จีเอ็มที (ตรงกับเมืองไทย 03.30 น.) ตามคำร้องขอของรัสเซีย
ด้านสหภาพยุโรปในวันจันทร์ (3) ได้ก็เปิดประชุมหาทางก้าวผ่านความเห็นต่าง ถึงแนวทางตอบสนองต่อวิกฤตที่ลุกลามในยูเครน พร้อมเตือนรัสเซียว่าความสัมพันธ์ของมอสโกกับกลุ่มสมาชิก 28 ชาติ อาจตกอยู่ในความเสี่ยง หากรัสเซียไม่ยอมลดขอบเขตความตึงเครียดในยูเครนลง
เอเอฟพีรายงานว่าหัวข้อซึ่งที่ประชุมยกมาถกเถียงกัน ได้แก่ความเป็นไปได้ที่จะระงับการผ่อนปรนร้องขอวีซาอียูของพลเมืองรัสเซีย เช่นเดียวกับความร่วมมือใหม่ๆ อย่างไรก็ตามไม่มีการพาดพิงถึงห้ามเคลื่อนย้ายอาวุธหรือมาตรการลงโทษอื่นๆ แต่อย่างใด แต่กระนั้นที่ประชุมก็ได้มีประณามมอสโกต่อการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนอย่างโจ่งแจ้ง
ก่อนหน้านี้ เหล่าประเทศร่ำรวยขู่ที่จะตัดมอสโกออกจากที่นั่งในจี 8 จากพฤติกรรมก้าวร้าวในยูเครน อย่างไรก็ตามดูหมือนว่ายุโรปและวอชิงตัน มีทางเลือกอย่างจำกัดในการจัดการกับวลาดิมีร์ ปูติน
สำหรับประธานาธิบดีปูติน นั้น ยืนกรานว่า มีหน้าที่ปกป้องประชาชนผู้พูดภาษารัสเซียในไครเมีย และในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน จากกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงที่สนับสนุนตะวันตก เครมลินยังชิงชังรัฐบาลใหม่ในเคียฟที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู ภายหลังพวกเขาปลดวิกเตอร์ ยานูโควิช พันธมิตรสำคัญของมอสโกจากตำแหน่งประธานาธิบดียูเครนปลายเดือนที่แล้ว โดยยืนยันว่า การปลดดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญของยูเครน
ความมั่นใจของปูตินได้รับการสนับสนุนจากข้อเท็จจริงที่ว่า ชาวยูเครน 46 ล้านคนแบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยพื้นที่ทางตะวันตกต้องการกระชับสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (อียู) ขณะที่พื้นที่ทางตะวันออกและใต้ เช่น ไครเมีย ต้องการการสนับสนุนจากรัสเซีย
วิกฤตยูเครน ปะทุขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เมื่อผู้ประท้วงเริ่มต้นออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลฝักใฝ่รัสเซีย ที่กลับลำยกเลิกข้อตกลงประวัติศาสตร์กับอียู และสถานการณ์เข้าสู่จุดลงเอยเมื่อเดือนที่แล้ว หลังเกิดเหตุปะทะระหว่างกองกำลังความมั่นคงกับผู้ประท้วง คร่าชีวิตไปเกือบ 100 ศพ และเป็นจุดจบทางอำนาจของประธานาธิบดี วิกตอร์ ยานูโควิช ที่เวลานี้ลี้ภัยอยู่ในรัสเซีย อย่างไรก็ตามการไค่นล้มนายยานูโควิช นำมาซึ่งความเคลื่อนไหวของฝ่ายสนับสนุนอดีตผู้นำรายนี้ในไครเมียและตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับกระแสแบ่งแยกดินแดน