xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.ยูเครนยอมรับใบลาออกนายกฯ “ปูติน” เตือนยุโรปเลิกแทรกแซง - S&P หั่นเครดิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - ประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ยอมรับใบลาออกของนายกรัฐมนตรีมืย์โคลา อาซารอฟ และรัฐมนตรีทั้งคณะแล้วในวันอังคาร (28) แต่ขอให้ทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่าจะแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่ปูตินใช้เวทีซัมมิตอียู-รัสเซีย ยืนกรานให้เงินกู้ยืมตามเดิมแม้ฝ่ายค้านเคียฟก้าวสู่อำนาจ ทว่าก็เตือนยุโรปไม่ควรแทรกแซงกิจการภายในของยูเครน เพราะรังแต่จะซ้ำเติมเหตุความไม่สงบที่กัดเซาะเสถียรภาพของชาติสหภาพโซเวียต จนล่าสุดถูกเอสแอนด์พีปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ผมยอมรับใบลาอออกของมืย์โคลา อาซารอฟ และผลลัพธ์ที่ตามมาคือการลาออกของรัฐบาลยูเครนทั้งคณะ” เนื้อหาของพระราชกฤษฎีกายุบสภาเผยแพร่บนเว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดี ขณะที่ทาง ยานูโควิช ร้องขอให้คณะรัฐมนตรีชุดนี้ทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่

ก่อนหน้านี้ นายอาซารอฟแถลงว่าได้ “ตัดสินใจเป็นการส่วนตัว” และยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อประธานาธิบดียานูโควิช ด้วยหวังว่าวิธีการนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการประนีประนอมทางการเมืองและสังคมเพื่อยุติวิกฤตความขัดแย้ง

ข้อเสนอการลาออกของอาซารอฟ มีขึ้นพร้อมๆ กับที่รัฐสภายูเครนได้เปิดประชุมวิสามัญ และลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ยกเลิกกฎหมายต่อต้านการชุมนุมประท้วง ซึ่งพรรครัฐบาลเป็นผู้ผลักดันให้ผ่านออกมาบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่จุดวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน

การเลิกกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นการยอมอ่อนข้ออย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนครั้งแรกของประธานาธิบดียานูโควิช ตั้งแต่ที่วิกฤตคราวนี้ปะทุขึ้นเมื่อ 2 เดือนก่อน และทำให้พวกผู้ชุมนุมประท้วงจำนวนหลายพันที่บริเวณ “จัตุรัสเอกราช” ใจกลางกรุงเคียฟ พากันไชโยโห่ร้องด้วยความยินดี

เหตุผลิกผันอย่างฉับพลันของความยุ่งเหยิงที่เกาะกุมยูเครนมานานกว่า 2 เดือน มีขึ้นขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย พบปะกับเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรป(อียู) ณ ที่ประชุมซัมมิตในบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม อันมีวิกฤตในยูเครน เป็นหัวข้อหารือสำคัญ
ประเด็นวิกฤตทางการเมืองในยูเคน กลายเป็นหัวข้อหลักในที่ประชุมซัมมิทอียู-รัสเซีย ในบรัสเซลล์ โดยที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เตือนยุโรปไม่ควรแทรกแซงกิจการภายในของเคียฟ
นายปูติน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในเมืองบรัสเซลส์ หลังประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรปในวันอังคาร (28) ปฏิเสธการแทรกแซงใดๆ ของต่างชาติในยูเครน ด้วยอ้างว่าการเดินทางเยือนใดๆ ของคณะผู้แทนนานาชาติจะยิ่งเป็้นการซ้ำเติมความไม่สงบในอดีตสหภาพโซเวียตแห่งนี้ “ผมคิดว่าหากมีคนกลางมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งมีปัญหามากเท่านั้น และอย่างน้อยที่สุด รัสเซีย ก็ไม่เคยคิดแทรกแซงใดๆ” คำพูดของนายปูติน เป็นการเหน็บแนมอียูและชาติตะวันตกอื่นๆ ที่ส่งกลุ่มคณะผู้แทนไปยังยูเครน ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นางแคทเธอรีน แอชตัน ประธานนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป ออกบินไปยังกรุงเคียฟอีกครั้งในทันทีหลังจากเสร็จสิ้นการประชุม ส่วนนายสเตฟาน ฟูเล กรรมาธิการด้านการขยายจำนวนสมาชิกและนโยบายประเทศเพื่อนบ้านของอียู ก็เดินทางกลับไปยังยูเครนเช่นกัน และนับเป็นการเยือนเคียฟเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 4 วัน

ก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม วิกตอเรีย นูแลนด์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศท่าทีสนับสนุนฝ่ายผู้ประท้วงด้วยการนำเค้กและคุกกี้ไปแจกจ่าย ส่วน ส.ว.จอห์น แม็กเคน ก็เคยขึ้นปราศรัยต่อผู้สนับสนุนฝ่ายฝักใฝ่ยุโรปกว่า 200,000 คนในกรุงเคียฟ โดยบอกว่า “อเมริกายืนอยู่ข้างคุณ”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปูติน ที่ยืนเคียงข้างรัฐบาลของนายยานูโควิชมาตลอด ย้ำอีกครั้งว่า “ผมคิดว่าประชาชนชาวยูเครนจะสามารถคลี่คลายปัญหาด้วยตนเอง” ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าว “ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าคู่หูพันธมิตรสหภาพยุโรปจะตอบสนองโกรธเกรี้ยวเพียงใด หากมีรัฐมนตรีต่างประเทศของเราไปปรากฏตัวและปราศรัยกับที่ชุมนุมต่อต้านยุโรปในประเทศใดประเทศหนึ่ง อย่างเช่นกรีซ หรือไซปรัส”

กระนั้นก็ดี นายปูตินบอกว่า รัสเซียจะยังปล่อยเงินกู้ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และลดราคาพลังงานแก่รัฐบาลยูเครนตามเดิม แม้ว่าทางฝ่ายค้านจะก้าวสู่อำนาจก็ตาม “ที่คุณถามว่าเราจะทบทวนข้อตกลงปล่อยกู้และลดราคาพลังงานหรือไม่ หากว่าฝ่ายค้านก้าวสู่อำนาจ ผมขอตอบคำถามตรงๆ เลยว่าเราจะไม่ทำแบบนั้น”

มอสโก เสนอเงินกู้ยืมและปรับลดราคาก๊าซแก่ยูเครนเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลของประธานาธิบดียานูโควิช กลับลำยกเลิกการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีและข้อตกลงทางการเมืองกับสหภาพยุโรป (อียู) อย่างกะทันหัน ขณะที่ความเคลื่อนไหวหันไปกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซียครั้งนี้ คือชนวนเหตุให้ประชาชนเริ่มต้นการประท้วงและบานปลายมาจนถึงขณะนี้

อีกด้านหนึ่งในวันอังคาร (28) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส (เอสแอนด์พี) ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของยูเครนลง 1 ขั้น จาก B- สู่ CCC+โดยอ้างถึงความไร้เสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น