เอเอฟพี - พลเมืองญี่ปุ่นเรือนหมื่นพากันออกมาร่วมชุมนุมประท้วงการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ที่กรุงโตเกียววันนี้ (9 มี.ค.) ในเวลาที่แดนอาทิตย์อุทัยกำลังเตรียมจัดพิธีรำลึกครบรอบ 3 ปี เหตุพิบัติภัยจังหวัดฟูกูชิมะ
บรรดาผู้ชุมนุมนัดรวมตัวกันที่สวนสาธารณะฮิบิยา ซึ่งอยู่ใกล้กับอาคารที่ทำการของรัฐบาลกลาง ก่อนจะร่วมกันเดินขบวนรอบรัฐสภาแห่งชาติญี่ปุ่น
พวกเขามารวมตัวกันเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่ออุตสาหกรรมนิวเคลียร์ และรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ผู้ที่เรียกร้องให้เดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกครั้ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก
“ผมคิดว่า การออกมาแสดงจุดยืนทุกครั้งที่สามารถทำได้เป็นสิ่งสำคัญมาก” ยาสุโระ คาวาอิ นักธุรกิจวัย 66 ปี จากจังหวัดชิบะ ทางภาคตะวันออกของกรุงโตเกียวกล่าว
คาวาอิ กล่าวเสริมว่า “วันนี้ ชาวญี่ปุ่นไม่ได้ใช้กระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งถ้าเราหยุดใช้พลังงานนิวเคลียร์แบบนี้ต่อไป แล้วหันมาส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และลงทุนกับเทคโนโลยีแบบประหยัดพลังงาน ผมคิดว่าญี่ปุ่นจะอยู่โดยไม่ใช้นิวเคลียร์ได้”
ในสัปดาห์นี้ ชาวญี่ปุ่นจะร่วมกันรำลึกวาระครบรอบ 3 ปี เหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ ซึ่งเกิดขึ้นทางภาคเหนือเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 จนส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางเหนือ
ภัยธรรมชาติครั้งนั้นได้คร่าชีวิตผู้คนไป 15,884 ราย ทั้งยังมีผู้สูญหายอีก 2,636 คน
คลื่นลูกมหึมาได้ซัดถล่มระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ จนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย และระเบิด ส่งผลให้สารกัมมันตรังสีฟุ้งกระจายไปทั่วพื้นที่ทางการเกษตรอันกว้างใหญ่ไพศาล
จนถึงตอนนี้ โรงฟ้าแห่งนี้ก็ยังไม่สามารถกลับไปดำเนินการได้โดยสมบูรณ์ โดยเหล่าวิศวกรชี้ว่าจะต้องใช้เวลาถึง 4 ทศวรรษเพื่อรื้อถอนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ชำรุดเสียหายเหล่านี้
บรรดาผู้ชุมนุมในกรุงโตเกียวเน้นย้ำว่า ญี่ปุ่นสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหมือนที่เคยทำมาแล้วหลายเดือน ขณะที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ทั้ง 50 เครื่องของประเทศนี้ยังถูกปิดไว้ เนื่องจากถูกประชาชนออกมาคัดค้านไม่ให้ให้เปิดใช้งานอีกครั้งอย่างหนัก
ในแผนการแสดงท่าทีต่อต้านนิวเคลียร์แบบสบายๆ เหล่านักดนตรีได้ร่วมกันบรรเลงเพลง ด้วยกระแสไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ในสวนสาธารณะ ขณะที่บรรดาพ่อค้าแม่ขายหลายสิบชีวิตระดมกันเสนอขายสินค้าที่ผลิตขึ้นในพื้นที่ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ
แม้ว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิตจากพิบัติภัยปรมาณูโดยตรง แต่ก็มีชาวเมืองฟูกูชิมะอย่างน้อย 1,656 ชีวิต ที่ต้องอำลาโลกไปเพราะอาการแทรกซ้อนจากความเครียด และอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่อพยพหลบภัยนานๆ