xs
xsm
sm
md
lg

‘ชาวอุยกูร์ในจีน’ หวาดวิตกปฏิกิริยารุนแรงจากเหตุหฤโหดที่ ‘คุนหมิง’

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China’s Uyghurs fear Kunming backlash
By Radio Free Asia
06/03/2014

ชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ในประเทศจีนที่เกือบทั้งหมดเป็นชาวมุสลิม อาจต้องเผชิญกับปฏิกิริยาตอบโต้ในทางกีดกันแบ่งแยกเชื้อชาติอย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก ภายหลังเกิดเหตุฟันแทงสังหารโหดในสถานีรถไฟเมืองคุนหมิงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไปรวมทั้งสิ้น 33 คน โดยที่มีรายงานว่าทางการผู้รับผิดชอบของจีน กำลังเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยชนิดซึ่งมุ่งจำแนกชาติพันธุ์อย่างเข้มงวดกวดขัน ทั้งนี้การเลือกปฏิบัติดังกล่าวทำได้ไม่ยากเย็นเลย เนื่องจากบัตรประจำตัวประชาชนทุกใบในประเทศจีนมีการบอกระบุว่าเป็นคนชาติพันธุ์ใดเอาไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว

ชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ในประเทศจีนที่เกือบทั้งหมดเป็นชาวมุสลิม อาจต้องเผชิญกับปฏิกิริยาตอบโต้ในทางกีดกันแบ่งแยกเชื้อชาติอย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก ภายหลังเกิดเหตุฟันแทงสังหารโหดในสถานีรถไฟเมืองคุนหมิง โดยที่มีรายงานว่าทางการผู้รับผิดชอบของจีน กำลังเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยชนิดซึ่งมุ่งจำแนกชาติพันธุ์อย่างเข้มงวดกวดขัน ทั้งนี้เป็นคำเตือนของเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งจากเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์แห่งซินเจียง (ซินเกียง) อันเป็นดินแดนฐานะเทียบเท่ามณฑลซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

ตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์รายวันของรัฐฉบับหนึ่ง มูตะลิฟ โอบุล (Mutalif Obul) ผู้ว่าการจังหวัดคัชการ์ (Kashgar) ของซินเจียง ได้กล่าวเมื่อวันพุธ (5 มี.ค.) ที่ผ่านมาว่า เมืองใหญ่ๆ ในประเทศจีนได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยชนิดที่พุ่งเป้าหมายไปยังคนชาติพันธุ์อุยกูร์ ภายหลังเกิดเหตุฟันแทงในวันเสาร์ (1 มี.ค.) ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปรวมทั้งสิ้น 33 คน โดยที่ทางการผู้รับผิดชอบของจีนระบุว่า เหตุร้ายคราวนี้เป็น “การโจมตีแบบผู้ก่อการร้าย” ด้วยฝีมือของกลุ่มชาวอุยกูร์ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน (หมายเหตุผู้แปล – ภายหลังถูกฝ่ายจีนวิจารณ์ทักท้วงว่า “สองมาตรฐาน” ในที่สุดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯก็พูดถึงเหตุการณ์ที่คุนหมิงนี้โดยเรียกว่าเป็น “การก่อการร้าย” เช่นกัน ดูรายละเอียดได้ที่http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000025165)

“แต่ผมหวังว่าทางเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทั้งหลายจะพิจารณาให้ความสนใจกับความรู้สึกของคนซินเจียงด้วยเช่นกัน” ไชน่าเดลี่ หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษของทางการจีนรายงานคำพูดของโอบุล

“การที่คนซินเจียงจะไปหางานทำนอกเขตปกครองตนเองนี้ คงจะเป็นเรื่องลำบากยิ่งกว่าเดิมมากหลังเกิดเหตุการณ์โจมตีครั้งนี้ขึ้น แต่ก็หวังว่ามันจะเป็นปัญหาเพียงแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น” เขาบอก

คำเตือนของเขาเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งแยกกีดกันสืบเนื่องจากชาติพันธุ์ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเย็นอะไร เนื่องจากบัตรประจำตัวประชาชนของจีนทุกใบจะมีการระบุชาติพันธุ์เอาไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว) ได้รับการยืนยันจากรายงานที่ออกมาจากเมืองกุ้ยหลิน เมืองทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยที่มีเจ้าของเกสต์เฮาส์รายหนึ่งเล่าว่า ตำรวจที่นั่นได้ออกคำสั่งถึงพวกธุรกิจท้องถิ่นให้จับตาและใช้มาตรการกีดกันเป็นพิเศษต่อชาวอุยกูร์

“ตอนนี้เราไม่รับคนซินเจียงเข้ามาพักแล้ว” เจ้าของกิจการเกสต์เฮาส์แซ่จาง รายหนึ่งบอกวิทยุเอเชียเสรี ทั้งนี้หลังจากที่ในเมืองกุ้ยหลินเองก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิตในเหตุใช้มีดฟันแทง ซึ่งเกิดขึ้นวันเดียวกับเหตุร้ายรุนแรงในคุนหมิง โดยที่รายงานหลายกระแสชี้ว่าผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนร้ายที่กุ้ยหลิน ก็เป็นชาวอุยกูร์

“ (ตำรวจ) มีคำสั่งมาที่เราแล้ว เพราะเรามีกิจการเกสต์เฮาส์อยู่” จาง กล่าว

“พวกเขาบอกว่า ถ้ามีคนซินเจียงเข้ามาขอเช่าห้องพัก เราควรจะปฏิเสธ แต่ถ้าพวกเขาต้องการจะพักกันจริงๆ เราก็ควรรายงานให้ตำรวจรู้”

**“ต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย”**

เมื่อวันพุธ (5 มี.ค.) นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน ได้ออกมาประกาศให้คำมั่นที่จะต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย ภายหลังเกิดเหตุโจมตีที่สถานีรถไฟเมืองคุนหมิง อันเป็นเมืองเอกของมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของสื่อมวลชนทางการจีน ผู้ก่อเหตุรวม 8 คน (ในจำนวนนี้ 4 คนถูกยิงตาย และที่เหลือถูกตำรวจรวบตัว) ได้สังหารผู้คนเสียชีวิตไป 29 คน และบาดเจ็บอีกราว 140 คน จากการใช้มีดเที่ยวไล่ฟันแทงคนที่กำลังเข้าแถวซื้อตั๋วอยู่ที่สถานีรถไฟซึ่งมีผู้คนคับคั่งแห่งนี้

“เราจะ ... ยืนหยัดในการต่อสู้ปราบปรามการใช้ความรุนแรงและการก่อการร้าย เพื่อธำรงรักษาความมั่นคงแห่งชาติและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมเอาไว้” หลี่กล่าวต่อบรรดาสมาชิกของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน (National People's Congress ใช้อักษรย่อว่า NPC) ซึ่งเป็นรัฐสภาตรายางของแดนแดนมังกร ที่เริ่มเปิดการประชุมประจำปีในกรุงปักกิ่งในวันพุธ (5 มี.ค.)

“เราขอประณามอย่างแรงกล้าต่อการใช้ความรุนแรงแบบการก่อการร้ายอันร้ายแรงยิ่ง ซึ่งบังเกิดขึ้นในสถานีรถไฟเมืองคุนหนิงของหยุนหนานเมื่อวันที่ 1 มีนาคม” เขาบอก

“เราจะต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่กับอาชญากรรมแบบก่อการร้ายทุกๆ รูปแบบ ซึ่งดูหมิ่นเหยียบย่ำตัวบทกฎหมายของประเทศนี้ และท้าทายเป็นปฏิปักษ์ต่ออารยธรรมของมวลมนุษย์” เขาระบุ

“เราจะทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยทางชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกๆ คน” หลี่ ประกาศ

**คุนหมิง**

อย่างไรก็ตาม ที่เมืองคุนหมิงนั้น ชาวอุยกูร์หลายคนกล่าวว่าพวกเขาตกเป็นเหยื่อของการถูกตั้งข้อจำกัดและการถูกแบ่งแยกกีดกันสืบเนื่องจากชาติพันธุ์ของพวกเขามาตั้งนานแล้ว

“(ในซินเจียงที่เป็นบ้านเกิดของพวกเขานั้น) พวกคนจีนอพยพ (ซึ่งหลั่งไหลเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเขตดังกล่าว) ได้เข้ามาครอบครองทรัพย์สมบัติ, ที่ดิน, บ้านอาศัย, โอกาสในการทำงาน, ธุรกิจ, และทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดแล้ว” ชายผู้หนึ่งซึ่งขอไม่ให้เปิดเผยนาม กล่าวแสดงความรู้สึก” แล้วรัฐบาลจีนยังสั่งห้ามศาสนาของเราและภาษาของเราอีกด้วย”

เขาบอกว่า ชาวอุยกูร์ที่อยู่นอกซินเจียง มักตกเป็นเป้าหมายคอยจ้องเล่นงานจากพวกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอยู่เป็นประจำ

“พวกเขาไม่ยอมให้เราขึ้นรถโดยสารหรือขึ้นรถแท็กซี่ แล้วพวกเรายังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพักในโรงแรมด้วย” ชายผู้นี้กล่าว “โรงพยาบาลต่างๆ ก็ไม่ยอมรับเราเข้ารักษาถ้าเราเกิดเจ็บป่วย เราถูกรังควาญถูกรบกวนในทุกๆ ที่เลย”

**เหมือนเป็น “ศัตรูในดินแดนของตัวเอง”**

หวัง หลี่ซวง (Wang Lixiong) นักเขียนที่มีฐานอยู่ในปักกิ่งแต่ได้เฝ้าติดตามประเด็นปัญหาชาวอุยกูร์และชาวทิเบตอย่างใกล้ชิด ให้ความเห็นว่า การที่เกิดเหตุโจมตีเหล่านี้ขึ้นมานั้นเริ่มแรกที่สุดเนื่องมาจากการที่ทางการมีทัศนคติต่อชาวอุยกูร์ ตลอดจนต่อวัฒนธรรมและศาสนาของพวกเขา โดยมองว่าเป็นศัตรู

“ปัญหาใหญ่ที่สุดนั้นไม่ได้อยู่ที่พวกผู้ก่อการร้ายจำนวนน้อยๆ หรอก” เขาบอก

“อันตรายใหญ่ที่สุดนั้นอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ว่า ประชาชนของซินเจียงถูกมองว่าเป็นศัตรูในดินแดนของพวกเขาเอง”

รุยิเก ตูร์ดุช (Rukiye Turdush) เป็นผู้รายงานข่าวนี้ให้แก่วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาอุยกูร์ (Radio Free Asia's Uyghur Service), โฮ ซาน (Ho Shan) รายงานให้แก่ภาคภาษากวางตุ้ง (Cantonese Service), และ เถียน อี้ (Tian Yi) รายงานให้แก่ภาคภาษาจีนกลาง (Mandarin Service), ทั้งนี้ รุยิเก ตูร์ดุช (Rukiye Turdush) และ ลุยเซตตา มูดี (Luisetta Mudie) เป็นผู้แปลและ ลุยเซตตา มูดี (Luisetta Mudie) เขียนรายงานข่าวนี้เป็นภาษาอังกฤษ

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น