xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญฯ หวั่นวิปโยค เหตุจีนปราบก่อการร้าย ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่กำลังลาดตระเวนบริเวนสถานีรถไฟในคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนันเมื่อวันที่ 2 มี.ค.   ทางการจีนได้ระบุเหตุคนร้ายไล่แทงผู้คนที่สถานีรถไฟคุนหมิง เป็นฝีมือกลุ่มลัทธิก่อการ  ร้าย (ภาพ เอเอฟพี)
เอเจนซี - รัฐบาลจีนลั่นว่าจะปราบกลุ่มก่อการร้าย ตอบโต้เหตุไล่ฆ่าแทงประชาชนที่สถานีรถไฟคุนหมิง แต่บรรดานักวิเคราะห์ หวั่นนโยบายตาต่อตาฟันต่อฟัน จะยิ่งโหมความแค้นและกระตุ้นความรุนแรง

สำนักข่าวซินหวา รายงาน (3 มี.ค.) ว่า เมิ่ง เจี้ยนจู้ เลขาธิการแห่งสำนักการเมืองและกฎหมายกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้มีอำนาจสูงสุดในหน่วยคุมความมั่นคงจีน ได้ประณามเหตุการณ์คนร้ายชุดดำไล่ฟันกลุ่มคนฯ ว่าเป็นฝีมือของลัทธิก่อการร้าย ที่เลือดเย็น ไร้ความเป็นมนุษย์ ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะดำเนินมาตรการขั้นสูงสุดภายใต้กฎหมาย ในการจับกุมและลงโทษคนร้าย และจะมิให้สมาชิกลัทธิก่อการร้ายผู้ใดหลุดรอดไปได้อย่างเด็ดขาด

รายงานข่าวกล่าวว่า เหตุโจมตีด้วยมีดและระเบิด ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในซินเจียง ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนั้น แม้จะสั่นสะเทือนสังคมแต่ยังไม่มีครั้งไหนที่จะรุนแรงเท่าครั้งล่าสุดที่สถานีรถไฟคุนหมิง เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งมีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 33 คน และบาดเจ็บกว่าร้อยคน

ซาน เหว่ย นักรัฐศาสตร์การปกครอง จากสถาบันเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า เหตุรุนแรงล่าสุดสะเทือนขวัญประชาชนจีนทั่วไปมาก และอาจจะทำให้รัฐบาลได้รับการสนับสนุนให้ใช้มาตรการรุนแรงในการปราบการก่อการร้าย รวมทั้งพิจารณาประเด็น-นโยบายต่างๆ ในพื้นที่ซินเจียง อุยกูร์ ซึ่งรังแต่จะกลายเป็นวงจรแห่งโศกนาฎกรรม

นักวิเคราะห์หลายคน กล่าวว่า รัฐบาลหากทำอะไรที่ก่อให้เกิดการนองเลือดก็ย่อมหมดความชอบธรรม และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในเวทีนานาชาติ

กลุ่มสิทธิมนุษยชน กล่าวหาว่านโยบายของรัฐบาลจีนกดขี่วัฒนธรรม และเหยียดเชื้อชาติของชนชาติท้องถิ่นอุยกูร์ ดินแดนซึ่งมั่งคั่งด้วยทรัพยากรแห่งชาติ นักวิเคราะห์ฯ ชาวตะวันตก แสดงความเห็นว่า จีนปกครองดินแดนซึ่งประกอบด้วยชนพื้นเมืองอุยกูร กับชาวฮั่นที่อพยพเข้าไปด้วยมาตรฐานคนละอย่าง

ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์ขัดแย้งจนเกิดความรุนแรงที่เมืองอุลุมชี ในปี พ.ศ. 2552 ระหว่างชาวฮั่น กับชาวอุยกูร์ท้องถิ่น จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน นั้น แม้ทางการจะมุ่งแก้ไขด้วยการสร้างความเจริญพัฒนาเศรษฐกิจ มีการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ฯ ขนาดว่าซินเจียง มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 11.1 สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศ (ร้อยละ 7.7) ก็ตาม แต่กระนั้น ก็ยังไม่สามารถแก้ไขความเหลื่อมล้ำต่างๆ

ซาน เหว่ย กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่ซินเจียงไม่สามารถทำได้ในปีสองปี จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องอาจจะ 10 ปี หรือ 20 ปี ขณะที่กลุ่มสิทธิฯ อ้างว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในซินเจียงนั้น ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของชาวฮั่น ซึ่งอพยพมาตั้งรกรากจำนวนมากในดินแดนอุยกูร์

แบร์รี่ เซาท์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายชนกลุ่มน้อย จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฮ่องกง กล่าวว่า ชาวอุยกูร์สูญเสียประโยชน์และจะตกเป็นผู้แพ้ในระบบเศรษฐกิจจีนที่กำลังขับเคลื่อนด้วยตลาด

แบร์รี่ กล่าวว่า ผู้ประกอบการชาวฮั่นส่วนใหญ่นั้นมีการเลือกปฏิบัติไม่มากก็น้อยกันทั้งนั้น พวกเขาต้องการทำงานกับคนงานที่พูดจาภาษาเดียวกัน และไม่เรียกร้องวันหยุดทางศาสนา และอีกด้านหนึ่ง แนวความคิดเกี่ยวกับสงครามศาสนาก็อาจจะมีอิทธิพลอยู่บ้าง ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอินเดีย หรือรัสเซีย

"แม้ว่า รัฐบาลจีนจะต้องการปราบปรามถอนรากถอนโคน แต่ก็อยากให้ใช้วิธีที่สร้างประโยชน์ให้กับชาวอุยกูร์ในพื้นที่ เพื่อปรับทัศนคติและแนวคิดการแบ่งแยกดินแดน" แบร์รี่ กล่าว

ด้านศาสตราจารย์จิ้น คั่นหรง จากมหาวิทยาลัยเหรินหมิน กล่าวว่าแทนที่จะเพิ่มมาตรการแข็งกร้าว รัฐบาลควรทบทวนมาตรการเดิมที่ใช้และผ่อนปรนมากกว่า เช่น การพยายามกลืนกลาย ทำลายอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของพวกเขา ซึ่งควรจะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งเดียวที่หลากหลาย เป็นความแตกต่างที่ไม่ควรแปลกแยกกัน

"ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลจีนเลือกที่จะกดดันอัตลักษณ์ชนกลุ่มน้อย แต่การทำอย่างนั้นกลับไม่ช่วยให้เกิดผลดีอะไร ความรุนแรงล่าสุดนี่ยิ่งจะทำให้รู้ว่ายิ่งแรงมาเท่าไหร่ ความรุนแรงนั้นจะยิ่งย้อนคืนกลับเท่าทวี" ศาสตราจารย์จิ้น คั่นหรง กล่าว
ศพชายหนุ่มคนหนึ่งที่ถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรมหลังจากที่กลุ่มคนร้ายไล่แทงคนที่สถานี  รถไฟในคุนหมิงเมื่อวันที่ 1มี.ค.2557 (ภาพ รอยเตอร์ส)
ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยหญิงคนหนึ่ง (ภาพ เอเจนซี)
กำลังโหลดความคิดเห็น