เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีถ้อยแถลงตอบโต้คำกล่าวอ้าง 10 ข้อที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ใช้เป็นเหตุผลยืนยันความชอบธรรมในการแทรกแซงยูเครน
ข้อโต้แย้งทั้ง 10 ประการจากรัฐบาลสหรัฐฯ มีดังนี้
1) ปูติน : ทหารรัสเซียในไครเมียเพียงแต่ปกป้องทรัพย์สินทางทหารของมอสโกเท่านั้น ส่วนพวกที่ยึดสาธารณูปโภคและค่ายทหารของยูเครนในไครเมียนั้นเป็นกองกำลังป้องกันตนเองของ “พลเรือน” ที่นั่น
ความจริง: มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า หน่วยความมั่นคงของรัสเซียมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งกองกำลังต่อต้านยูเครนในไครเมีย แม้ทหารเหล่านี้จะสวมเครื่องแบบที่ปราศจากเครื่องยศ แต่ก็ขับยานพาหนะที่ติดป้ายทะเบียนของกองทัพรัสเซีย และเมื่อถูกกองทัพยูเครนหรือผู้สื่อข่าวต่างชาติเข้าไปสอบถาม พวกเขาก็ประกาศอย่างไม่อ้อมค้อมว่าเป็นทหารจากรัสเซีย ยิ่งไปกว่านั้นทหารพวกนี้ยังมีอาวุธซึ่งพลเรือนทั่วไปไม่สามารถหาได้
2) ปูติน: ปฏิบัติการของรัสเซียยังอยู่ในขอบเขตสนธิสัญญามิตรภาพระหว่างยูเครนและสหพันธรัฐรัสเซียในปี 1997
ความจริง: ข้อตกลงปี 1997 กำหนดให้รัสเซียต้องให้ความเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนยูเครน แต่การกระทำของกองทัพรัสเซียซึ่งเวลานี้มีอำนาจควบคุมเชิงปฏิบัติการในไครเมีย ถือว่าละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของยูเครนอย่างชัดแจ้ง
3) ปูติน: ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงประนีประนอมที่ทำไว้กับประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์
ความจริง: ข้อตกลงในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ กำหนดให้รัฐสภา “ราดา” ของยูเครนต้องออกกฎหมายนำรัฐธรรมนูญปี 2004 กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะช่วยจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีและเพิ่มอำนาจแก่ฝ่ายนิติบัญญัติ ตามข้อตกลงนี้ประธานาธิบดี ยานูโควิช จะต้องลงนามรับรองกฎหมายภายใน 24 ชั่วโมง และทำให้วิกฤตการณ์ต่างๆ จบลงอย่างสันติ แต่ ยานูโควิช กลับเก็บข้าวของหนีออกจากเมืองหลวง และทิ้งหลักฐานการทุจริตคอร์รัปชันมากมายเอาไว้เบื้องหลัง
4) ปูติน: รัฐบาลยูเครนปราศจากความชอบธรรม และ ยานูโควิช ยังเป็นประธานาธิบดีที่ถูกต้องตามกฎหมายของยูเครน
ความจริง: เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ประธานาธิบดี ปูติน ก็ได้พูดเองว่า ยานูโควิช “ไม่มีอนาคตทางการเมือง” อีกต่อไป หลังจากที่เขาหลบหนีออกนอกประเทศ คนในพรรครีเจียนส์ซึ่งรับไม่ได้ก็ตัดสินใจโหวตถอดถอน ยานูโควิช และสนับสนุนรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ผ่านการรับรองด้วยคะแนน 371 เสียง หรือ 82% ของสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลชั่วคราวของยูเครนเป็นรัฐบาลของประชาชนโดยแท้ ซึ่งจะนำพาประเทศไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในวันที่ 25 พฤษภาคม และเป็นการเลือกตั้งที่พลเมืองยูเครนจะมีสิทธิ์กำหนดอนาคตของพวกเขาเอง
5) ปูติน: ยูเครนกำลังเกิดวิกฤตมนุษยธรรม ซึ่งทำให้พลเรือนหลายแสนคนอพยพมายังรัสเซียเพื่อขอลี้ภัย
ความจริง: จนถึงบัดนี้ยังไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ว่าเกิดวิกฤตมนุษยธรรมในยูเครน และไม่มีหลักฐานว่าพลเรือนจำนวนมากลี้ภัยไปรัสเซีย องค์กรระหว่างประเทศได้สอบสวนเรื่องนี้โดยสอบถามจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองยูเครน ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันว่าเรื่องผู้ลี้ภัยไม่เป็นความจริง ขณะที่นักข่าวอิสระซึ่งเดินทางไปสังเกตการณ์บริเวณชายแดนก็ไม่พบว่ามีคลื่นมหาชนหลั่งไหลออกจากยูเครนตามที่รัสเซียอ้าง
6) ปูติน: พลเมืองยูเครนเชื้อสายรัสเซียกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง
ความจริง: นอกจากหนังสือพิมพ์และสถานีโทรทัศน์ของรัสเซียแล้ว ไม่มีสื่อสำนักไหนเผยแพร่รายงานที่เชื่อถือได้ว่าชาวรัสเซียในยูเครนกำลังตกอยู่ในอันตราย รัฐบาลชั่วคราวในกรุงเคียฟให้ความสำคัญกับกระบวนการสันติภาพและการปรองดอง อีกทั้งประธานาธิบดี โอเล็กซานดร์ ตูร์ชินอฟ ก็ปฏิเสธที่จะลงนามรับรองกฎหมายจำกัดการใช้ภาษารัสเซียในระดับภูมิภาค ทั้งชาวรัสเซียและพลเมืองยูเครนที่พูดภาษารัสเซียต่างส่งหนังสือแจ้งมาว่า ชุมชนของพวกเขาไม่เคยถูกข่มขู่ และตั้งแต่มีรัฐบาลชั่วคราวเข้ามาบริหารประเทศ สถานการณ์ในกรุงเคียฟก็กลับสู่ความสงบเรียบร้อย ไม่มีการก่ออาชญากรรมหรือการปล้นชิงอย่างแพร่หลาย และไม่มีการแก้แค้นฝ่ายตรงข้าม
7) ปูติน: ฐานทัพของรัสเซียตกอยู่ในความเสี่ยง
ความจริง: ฐานทัพรัสเซียทุกแห่งยังคงปลอดภัย และรัฐบาลยูเครนก็ให้สัญญาว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลงที่ยูเครนเคยทำไว้กับประเทศต่างๆ รวมถึงการอนุญาตให้รัสเซียตั้งฐานทัพในไครเมียด้วย ในความเป็นจริงค่ายทหารของยูเครนในไครเมียต่างหากที่กำลังถูกคุกคามจากปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย
8) ปูติน: มีการโจมตีโบสถ์คริสต์และโบสถ์ยิวในภาคใต้และภาคตะวันออกของยูเครน
ความจริง: ผู้นำศาสนา ตลอดจนนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาในยูเครน ยืนยันเป็นเสียงเดียวว่าไม่มีการบุกทำลายศาสนสถานเกิดขึ้น ผู้นำโบสถ์ทุกแห่งในยูเครน รวมถึงผู้แทนจากเขตอัครบิดรคริสตจักรออโธดอกซ์มอสโกในยูเครน ต่างให้การสนับสนุนรัฐบาลชุดใหม่ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายสมัครสมานสามัคคีกันในช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟู ส่วนชาวยิวในภาคใต้และภาคตะวันออกของยูเครนก็ยืนยันว่าไม่มีกระแสต่อต้านชาวเซมิติกเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
9) ปูติน: กรุงเคียฟพยายามทำลายเสถียรภาพในไครเมีย
ความจริง: รัฐบาลชั่วคราวยูเครนใช้ความอดทนอดกลั้นและพร้อมเจรจากับทุกฝ่าย ในขณะที่กองกำลังรัสเซียได้เคลื่อนพลออกจากฐานทัพบุกยึดสถานที่ราชการและสาธารณูปโภคในไครเมีย รัฐบาลเคียฟได้ส่งอดีตผู้บัญชาการกองทัพเข้าไปคลี่คลายสถานการณ์ และล่าสุด เปโตร โปโรเชนโค ซึ่งเป็นผู้แทนที่รัฐบาลกลางส่งไปเจรจาก็ถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปในอาคารรัฐสภาไครเมีย
10 ปูติน: รัฐสภายูเครนตกอยู่ใต้อิทธิพลของพวกหัวรุนแรงและก่อการร้าย
ความจริง: รัฐสภา “ราดา” เป็นสถาบันผู้แทนสูงสุดของยูเครน กฎหมายที่ประกาศใช้เมื่อเร็วๆนี้ล้วนผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกสภาส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงผู้แทนจากภาคตะวันออกของยูเครนด้วย กลุ่มชาตินิยมขวาจัดซึ่งเคยปะทะกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงระหว่างการชุมนุมประท้วงที่จตุรัสไมดันในกรุงเคียฟไม่ได้มีผู้แทนอยู่ในรัฐสภา และไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ว่ารัฐบาลยูเครนจะใช้นโยบายแบ่งแยก
ถ้อยแถลงที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตอบโต้ผู้นำรัสเซียสามารถอ่านได้ที่ (http://www.state.gov/r/pa/prs/ps/2014/03/222988.htm)