เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-การสู้รบในซูดานใต้ส่งผลให้การผลิตน้ำมันของประเทศลดปริมาณลงกว่า 29 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยของโฆษกของประธานาธิบดีซัลวา คิอีร์ ในวันอาทิตย์ (2)
รายงานข่าวซึ่งอ้างคำแถลงของ อเทนี เวค อเทนี โฆษกรัฐบาลซูดานใต้ระบุว่า ขณะนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันของประเทศได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับมากกว่า 175,000 บาร์เรลต่อวัน จากที่ซูดานใต้เคยผลิตน้ำมันได้ถึงวันละ 245,000 บาร์เรล
โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากการสู้รบภายในประเทศที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ระหว่างกองกำลังที่สนับสนุนประธานาธิบดีซัลวา คิอีร์ กับกลุ่มติดอาวุธและบรรดาทหารแปรพักตร์ที่สนับสนุนอดีตรองประธานาธิบดี รีค มาชาร์
อย่างไรก็ดี อเทนีไม่เปิดเผยตัวเลขรายได้ที่สูญเสียไปของรัฐบาลซูดานใต้ โดยระบุเพียงว่า ตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจที่แท้จริง จะมีการเปิดเผยได้ ก็ต่อเมื่อวิกฤตความขัดแย้งภายในประเทศยุติลงโดยสมบูรณ์เสียก่อน
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กองกำลังฝ่ายกบฏที่ภักดีต่ออดีตรองประธานาธิบดีมาชาร์ ได้บุกเข้ายึดเมืองมาลากัล เมืองเอกของรัฐไนล์ตอนบนที่เป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันของซูดานใต้ โดยการบุกยึดเมืองดังกล่าวของฝ่ายกบฏมีขึ้นแม้จะมีการบังคับใช้ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏ ขณะที่ทหารฝ่ายรัฐบาลเองก็ได้บุกเข้ายึดเมืองเบนทิว เมืองเอกของรัฐยูนิตี้ ที่เป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
ทั้งนี้ ซูดานใต้กลายเป็นประเทศเอกราชหลังแยกตัวจากซูดานเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2011 หลังมีการทำข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติสงครามกลางเมืองซูดานที่ดำเนินมานานกว่า 22 ปี
โดยการแยกตัวเป็นอิสระครั้งนี้ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันราว 3 ใน 4 ตกอยู่ในความควบคุมของซูดานใต้ แม้เครือข่ายท่อส่งน้ำมัน และช่องทางการส่งออกผ่านทะเลแดงจะยังคงอยู่ในฝั่งซูดานเหนือซึ่งรัฐบาลซูดานใต้ต้องยอมจ่ายเงินอย่างน้อย 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปีเพื่อแลกเปลี่ยนกับการใช้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่อยู่ในฝั่งเหนือ รวมถึง ต้องยอมจ่ายเงินชดเชยรายได้จากแหล่งน้ำมันที่ขาดหายไปให้กับซูดาน
ทั้งนี้ รายได้จากการส่งออกน้ำมันมีสัดส่วนคิดเป็นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีซูดานใต้เมื่อปี 2012 แต่ถึงกระนั้นข้อมูลของธนาคารโลกยังคงระบุว่า ซูดานใต้ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดและพัฒนาน้อยที่สุดของโลก