เอเอฟพี – กลุ่มควันหนาทึบลอยฟุ้งไปทั่วเทศกาลซิการ์ประจำปีทีกรุงฮาวานา สถานที่ซึ่งบรรดาสิงห์อมควันราว 200 คนตบเท้าเข้าร่วมการแข่งขันรูปแบบใหม่ คือการทำขี้ซิการ์ให้ยาวที่สุด โดยห้ามขาดออกจากกัน
ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจำนวนมากซึ่งมีทั้งชาวต่างชาติและชาวคิวบา พากันเดินลงมาจากเวทีด้วยอาการปวดหัวตุบๆ ทว่ามีสีหน้าเบิกบาน หัวเราะร่า และพากันปรบไม้ปรบมือ ขณะที่ซิการ์ที่เขาสูบหมดแล้วกลายสภาพเป็นขี้ซิการ์อันโตเท่าเสาบ้าน
สิงอมควันแต่ละคนจะได้สูบซิการ์ตรา เอช. อัปแมนน์ ความยาว 7 นิ้ว ซึ่งมีชื่อเสียงของคิวบา
สิ่งที่ยากในการแข่งขันนี้คือการทำขี้ซิการ์ให้ยาวใกล้เคียงกับความยาวของตัวซิการ์ในตอนเริ่มการแข่งขันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เหล่าผู้ลงแข่งขันต่างนั่งแหงนหน้าคอตั้งบ่าหน้าสูบซิการ์เพื่อไม่ให้ขี้ซิการ์หักลงมากองกับโต๊ะ หรือหล่นใส่ใบหน้าของพวกเขาเอง
ในระหว่างที่กำลังอัดควันกันอยู่นั้น พวกเขาพยายามประคองให้ซิการ์อยู่ในแนวตั้ง ซึ่งบางครั้งความพยายามไม่ให้ขี้ซิการ์ขาดก็ต้องล้มเหลว
“เหนื่อยมากจริงๆ” เอพริล อังเกโลนี ผู้เข้าแข่งขันจากสหรัฐฯ กล่าว ทั้งนี้เขาคือผู้ที่สามารถทำขี้บุหรี่ได้ยาวถึง 13.9 เซนติเมตร แต่ก็ยังสั้นกว่าผู้ชนะไปราว 3 เซนติเมตร
ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลในการแข่งขันเมื่อวันศุกร์ (28 ก.พ.) คือ โอลิเวีย เทอร์รี ผู้สื่อข่าวชาวคิวบาที่สามารถทำขี้ซิการ์ได้ยาวถึง 16.9 เซนติเมตรก่อนที่มันจะหักลงมา
“ฉันไม่ได้หวังว่าจะชนะเลย” เทอร์รีกล่าว พร้อมทั้งเสริมว่า เธอเพียงแค่มาร่วมงานแบบสนุกๆ เท่านั้น
“มันยากกว่าที่เห็นมาก” ทามารา เตย์โซ ผู้เข้าแข่งขันชาวสเปนที่มีอาชีพขายซิการ์คิวบาในรัสเซียเผย
เซบัสเตียน ปาร์โด พนักงานบริการเหล้าองุ่นชาวชิลีเผยว่า เขาสามารถไขความลับของวิธีการทำไม่ให้ขี้ซิการ์ร่วงลงมากับพื้นได้
“คุณต้องจับจังหวะให้ดี และค่อยๆ สูบช้าๆ” เขากล่าว พร้อมเสริมว่า สิ่งที่ทำให้ยากก็คือต้องระวังไม่ให้สำลักควันซิการ์ที่ลอยคลุ้งทั่วห้อง
การแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ในช่วงระหว่างการประชุมประจำปีครั้งที่ 16 ที่บรรดาคนรักซิการ์และพ่อค้าแม่ขายซิการ์ทั่วโลกจะมารวมตัวกัน
การแข่งขันจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี (27) ที่ศูนย์ประชุมในกรุงฮาวานา ซึ่งโดยปกติแล้วจะสงวนไว้เป็นสถานที่เจรจาหารือในประเด็นสำคัญๆ ระหว่างพวกรัฐบุรุษต่างชาติหรือนักการเมือง
ผู้ลงแข่งขันบางคนจำเป็นต้องยอมแพ้กลางคันเพราะมึนหัว และคลื่นไส้
ทั้งนี้ ยาสูบถือเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของคิวบา รองลงมาจากนิกเกิล และผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการเทคโนโลยีชีวภาพ
เมื่อปีที่แล้ว ยอดขายซิการ์ของคิวบาเพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ ไปแตะที่ 447 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ