xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: เกมพลิก! รัฐสภายูเครนลงมติโค่น “วิกเตอร์ ยานูโควิช” ตั้ง ปธน.รักษาการปูทางซบ EU

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีตประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช แห่งยูเครน
สถานการณ์การเมืองในยูเครนตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดการพลิกผันครั้งใหญ่ เมื่อรัฐสภามีมติถอดถอนประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช ผู้มีจุดยืนเอียงข้างรัสเซียออกจากตำแหน่ง พร้อมแต่งตั้งประธานาธิบดีรักษาการที่มีนโยบายหันหาสหภาพยุโรป (อียู) ก่อนที่ยูเครนจะมีการเลือกตั้งผู้นำสูงสุดคนใหม่ในเดือนพฤษภาคม และแม้ว่าแนวโน้มที่เกิดขึ้นจะเป็นสัญญาณชัยชนะสำหรับผู้ประท้วงที่ต้องการเห็นประเทศผูกพันใกล้ชิดกับอียู แต่ทว่าการเมืองที่พลิกขั้วไปอย่างไม่คาดฝันก็ทำให้โอกาสที่ยูเครนจะได้รับวงเงินกู้ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากรัสเซียมาช่วยพยุงเศรษฐกิจที่ง่อนแง่นกลับริบหรี่ลงไปด้วยเช่นกัน

เหตุประท้วงในยูเครนมีต้นตอจากการที่ ยานูโควิช พับแผนเจรจาความร่วมมือการค้าและการเมืองกับสหภาพยุโรป เมื่อเดือนพฤศจิกายน และถือเป็นวิกฤตการเมืองครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ยูเครนประกาศเอกราชในปี 1991 โดยเฉพาะเหตุนองเลือดในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน จนบีบให้ ยานูโควิช ต้องเซ็นข้อตกลงสันติภาพแบบประนีประนอมกับฝ่ายค้านที่ในวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์

แต่แล้วก็มีรายงานว่า ยานูโควิช พร้อมกับคนสนิทได้หลบหนีออกไปจากกรุงเคียฟ ขณะที่รัฐสภายูเครนก็ฉวยโอกาสนี้ลงมติปลดประธานาธิบดีในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พร้อมทั้งแต่งตั้ง โอเล็กซานดร์ ตูร์ชินอฟ ซึ่งเป็นพันธมิตรของอดีตนายกฯหญิง ยูลิยา ทีโมเชนโค ขึ้นเป็นประธานาธิบดีรักษาการ ส่วน ทีโมเชนโค ซึ่งถูกจำคุกฐานใช้อำนาจโดยมิชอบหลัง ยานูโควิชก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2010 ก็ได้รับการปล่อยตัวด้วย

รายงานระบุว่า ยานูโควิช เดินทางหลบหนีจากกรุงเคียฟไปยังภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นฐานทางการเมืองของตน พร้อมประกาศกร้าวไม่ยอมลาออก และจะไม่หนีออกนอกประเทศ

กองกำลังความมั่นคงยูเครนได้ถอนตัวออกจากอาคารของรัฐบาลและทำเนียบประธานาธิบดีและปล่อยให้ประชาชนเข้าไปเยี่ยมชมภายในได้อย่างเสรี เช่นเดียวกับคฤหาสน์ของ ยานูโควิช ที่นอกกรุงเคียฟ ซึ่งหรูหราอลังการเสียจนประชาชนตาดำๆ ที่ได้ไปเห็นต่างตกตะลึง

ตูร์ชินอฟ วัย 49 ปี ซึ่งควบทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการ, นายกรัฐมนตรี และประธานรัฐสภายูเครน ได้กล่าวสุนทรพจน์ยืนยันกับชาวยูเครน 44 ล้านคนทั่วประเทศว่า รัฐบาลของเขาจะนำพาประเทศกลับสู่จุดยืนที่ถูกต้องและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่นั่นคือการหวนคืนสู่ “ยุโรป” และยูเครนยังพร้อมพูดคุยเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์กับรัสเซีย แต่การเจรจาใดๆ นั้นจะต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า ยูเครนและรัสเซียต้องให้ความเคารพซึ่งกันและกันในฐานะเพื่อนบ้านที่มี “ความเท่าเทียม” และรัสเซียจะต้องยอมรับในจุดยืนของยูเครนที่เลือกเดินหน้าสู่ยุโรป มิใช่มอสโก

รัฐสภายูเครนได้ออกหมายจับอดีตประธานาธิบดี ยานูโควิช และยังลงมติเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) เอาผิดกับเขาฐานสังหารหมู่ผู้ประท้วงด้วย
โอเล็กซานดร์ ตูร์ชินอฟ รักษาการประธานาธิบดียูเครน และอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง ยูลิยา ทีโมเชนโค ผู้มีจุดยืนเอียงข้างยุโรป
สหรัฐฯและชาติตะวันตกต่างแสดงความยินดีอย่างระมัดระวังต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในยูเครน โดย แคทเธอรีน แอชตัน ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู กล่าวว่ายูเครนจำเป็นต้องหาทางออกจากวิกฤตการเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ การตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีตัวแทนจากทุกฝ่าย และการกำหนดเงื่อนไขสำหรับการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย

ด้าน เจค็อบ ลูว์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็ประกาศในที่ประชุมกลุ่ม จี20 ที่นครซิดนีย์ว่า วอชิงตันกำลังหารือกับประเทศอื่นๆ รวมถึงรัสเซียและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อช่วยเหลือยูเครนในการปฏิรูปเพื่อฟื้นเสถียรภาพเศรษฐกิจและกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ จอร์จ ออสบอร์น ก็เตือนให้ยุโรปคำนึงถึงเจตนารมณ์ของชาวยูเครนที่พร้อมเป็นหนึ่งเดียวกับอียู พร้อมแนะให้อียูให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อยูเครนควบคู่ไปกับการปล่อยกู้โดยไอเอ็มเอฟ

แอชตัน ฝากคำเตือนถึงรัสเซียไม่ให้ใช้อิทธิพลแทรกแซงการเมืองในยูเครน ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ของรัสเซีย ก็ออกมาปัดความกังวลของฝ่ายตะวันตก โดยระบุเมื่อวันอังคาร (25) ว่า รัสเซียจะไม่แทรกแซงกิจการภายในยูเครน และไม่เห็นด้วยกับการบีบคั้นให้รัฐบาลยูเครนต้องเลือกอยู่ข้างยุโรป หรือไม่ก็รัสเซีย
ชาวยูเครนชูป้ายเรียกร้องให้สหรัฐฯ มอบความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจต่อยูเครน
แอชตัน ได้เดินทางไปยังกรุงเคียฟเพื่อหารือกับประธานาธิบดี ตูร์ชินอฟ ในขณะที่เหล่าผู้แทนจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและรัสเซีย ก็เจรจาหารือกันอย่างลับๆ เกี่ยวกับกรณีที่ยูเครนร้องขอเงินช่วยเหลือ 25,000 ล้านยูโร เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะล้มละลาย ตลอดจนรับมือคำขู่แบ่งแยกดินแดนจากประชาชนแถบแหลมไครเมียที่ผูกพันกับรัสเซีย และไม่พอใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ล่าสุดฝูงชนในแหลมไครเมียได้รวมตัวขับไล่นายกเทศมนตรีเมืองเซวาสโตโปล และแต่งตั้งพลเมืองรัสเซียขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียก็ได้สั่งให้ทำการตรวจความพร้อมรบของกองทัพรัสเซียที่ประจำอยู่ทางภาคตะวันตกและภาคกลางของประเทศ รวมทั้งพื้นที่ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับยูเครนในทันที

หายนะทางเศรษฐกิจ?

เศรษฐกิจยูเครนในเวลานี้เสมือนยืนอยู่บนปากเหว เพราะเป็นไปได้ว่ารัสเซียซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดจะยกเลิกการปล่อยเงินกู้ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และก่อนหน้านี้มอสโกยังขู่ว่าจะขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติและภาษีนำเข้าหากรัฐบาลเคียฟหันไปร่วมมือกับอียู ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของยูเครนอย่างรุนแรง

กระแสความกังวลดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยูเครนพุ่งสูง และสกุลเงินฮริฟเนียอ่อนค่าลงถึง 1 ใน 10 ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้
คฤหาสน์หรูของอดีตประธานาธิบดี ยานูโควิช ซึ่งเวลานี้ถูกยึดมาเป็นของรัฐ
ยูริ โคโลบอฟ รักษาการรัฐมนตรีคลังยูเครน ยอมรับว่า ประเทศอาจต้องใช้เงินมากถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในสิ้นปี 2015 เพื่อประคองเศรษฐกิจไม่ให้ล้มละลาย พร้อมเรียกร้องให้ชาติตะวันตกพิจารณามอบความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ยูเครนโดยด่วน

ลูโบเมียร์ มิตอฟ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันการคลังนานาชาติ (Institute of International Finance) ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มสถาบันการเงินราว 450 แห่งทั่วโลก เตือนว่า ปัญหาของยูเครน “หนักหนาสาหัส” ไม่น้อย โดยทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศลดลงจาก 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปลายเดือนมกราคม เหลือเพียง 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเวลานี้ ขณะที่รัฐบาลมีหนี้สินที่ต้องจ่ายภายในปีนี้สูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

มิตอฟ ชี้ว่า ยูเครนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมรับเงื่อนไขปฏิรูปการคลังเพื่อแลกกับแพ็กเกจเงินกู้จากไอเอ็มเอฟและอียู ซึ่งอาจหมายรวมถึงการขึ้นราคาก๊าซเป็น 2 เท่า

โธมัส โกมาร์ท หัวหน้าฝ่ายพัฒนายุทธศาสตร์จากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งฝรั่งเศส (IFRI) มองว่า โอกาสที่ยูเครนจะได้รับเงินกู้จากจากอียูและไอเอ็มเอฟในเร็วๆ นี้ยังไกลความจริง เพราะเงื่อนไขปฏิรูปการคลังขนานใหญ่จะส่งผลกระทบด้านสังคมอย่างรุนแรง อีกทั้งสถานการณ์การเมืองในยูเครนเองก็ยังไม่นิ่ง

อีกปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองก็คือ กระแสต่อต้านผู้อพยพจากยุโรปตะวันออกในหมู่พลเมืองอียู ตลอดจนผลพวงจากวิกฤตยูโรโซนที่ยังทำให้หลายๆ ประเทศต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้พลเมืองยุโรปบางประเทศคัดค้านไม่ให้รัฐบาลของตนนำเงินไปอุ้มยูเครน
ยูเครนออกหมายจับ ปธน.“สังหารหมู่” ส่วน “ไครเมีย” ก่อหวอด-หวั่นแยกดินแดน
ยูเครนออกหมายจับ ปธน.“สังหารหมู่” ส่วน “ไครเมีย” ก่อหวอด-หวั่นแยกดินแดน
ยูเครนเมื่อวันจันทร์ (24 ก.พ.) ออกหมายจับ วิกตอร์ ยานูโควิช ผู้ถูกโค่นลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี ในข้อหา “สังหารหมู่ประชาชน” โดยสถานที่ล่าสุดที่มีผู้พบเห็นตัวผู้นำที่ฝักใฝ่มอสโกผู้นี้ คือคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สนับสนุนรัสเซียและมีการชุมนุมต่อต้านการยึดอำนาจในเมืองหลวง อีกทั้งเป็นจุดที่น่าเป็นห่วงว่าจะมีการแบ่งแยกดินแดน นอกจากนั้นผู้นำหมีขาวยังตั้งคำถามว่าคณะผู้นำใหม่ของยูเครนนั้นได้อำนาจมาด้วยความไม่ชอบธรรม อย่างไรก็ตามทางด้านสหภาพยุโรป(อียู) และสหรัฐฯ ให้การหนุนหลังกลุ่มกุมอำนาจใหม่อย่างแข็งขัน โดยสัญญาพิจารณาให้ความช่วยเหลือ แม้ยังไม่ชัดเจนว่าจะถึงระดับ 35,000 ล้านดอลลาร์ตามที่รักษาการรัฐมนตรีคลังของกรุงเคียฟร้องขอหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น