xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกเผยสัปดาห์เดียว ธุรกิจ “ตระกูลชินวัตร” สูญ 6.5 หมื่นล้าน หลังเจอคว่ำบาตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วอลล์สตรีท เจอนัลด์ - หนังสือพิมพ์ธุรกิจดังระดับโลกตีข่าว เหล่าบริษัทในไทยที่ตกเป็นเป้าหมายคว่ำบาตรของกลุ่มผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฐานมีความเกี่ยวข้องกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและครอบครัว ได้สูญเสียมูลค่าทางการตลาดไปแล้วกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 65,000 ล้านบาท) ภายในเวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว

วอลล์สตรีท เจอนัลด์ รายงานว่าเสียงเรียกร้องคว่ำบาตรธุรกิจตระกูลชินวัตรของแกนนำผู้ชุมนุม เพื่อเพิ่มแรงกดดันแก่รัฐบาล ฉุดให้หุ้นของหลายบริษัทที่เกี่ยวข้องดำดิ่ง ไม่เว้นแม้กระทั่งเอไอเอส ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของไทย แม้ว่าบริษัทแห่งนี้ยืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตรมาตั้งแต่ปี 2006

หนังสือพิมพ์การเงินทรงอิทธิพลของสหรัฐฯ รายงานต่อไปว่า หุ้นของเอสซี แอสเซท บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ครั้งหนึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยนั่งเก้าอี้ประธาน และเวลานี้ตระกูลชินวัตรยังถือครองหุ้นใหญ่อยู่ ได้ร่วงลงมากกว่าร้อยละ 9 ในตลาดหลักทรัพย์ของไทย นับตั้งแต่การรณรงค์คว่ำบาตรเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันพุธที่แล้ว (19)

ส่วนเอ็ม-ลิงค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น บริษัทนำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวคนรองของทักษิณ และภรรยานายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วงสั้นๆ ในปี 2008 ก็ร่วงลงเกือบร้อยละ 11 ภายในเวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว

วอลล์สตรีท เจอนัลด์ อ้างความเห็นของนายอิฐพงศ์ แสงทับทิม หัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ ระบุว่า “แรงเทขายมาจากนัลงทุนรายย่อยท้องถิ่น ด้วยความรู้สึกที่ว่าผู้ประท้วงอาจส่งผลกระทบบางอย่างต่อผลประกอบการในอนาคต” พร้อมบอกว่าผู้ประท้วงหลายรายเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตาม วอลล์สตรีท เจอนัลด์ รายงานว่า ไม่เพียงแค่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเท่านั้น แต่อีกฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมืองก็งัดมาตรการคว่ำบาตรสินค้าออกมาต่อสู้เช่นกัน โดยประชาชนทางภาคเหนือ พื้นที่ชนบทที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพี่ชาย นายทักษิณ ก็เริ่มคว่ำบาตรเบียร์สิงห์ หลังทายาทของบุญรอดบริวเวอรี่ ขึ้นเวทีชุมนุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล แต่ทางบริษัทยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว

สื่อมวลชนดังรายงานต่อว่า หนึ่งในบริษัทของไทยที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ได้แก่ เอไอเอส ซึ่งก่อตั้งโดยทักษิณ และต่อมาถูกขายให้แก่เทมาเส็ก โฮลดิ้ง กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ก่อนที่เขาจะถูกรัฐประหารโค่นอำนาจในปี 2006 และเวลานี้พำนักอยู่ในดูไบ หลบหนีโทษจำคุกในฐานความผิดคอร์รัปชัน โดยนับตั้งแต่มาตรการคว่ำบาตรเริ่มต้นขึ้น หุ้นของเอไอเอสร่วงลงไปแล้วร้อยละ 5.5

รายงานของวอลล์สตรีท เจอนัลด์ ระบุว่า ทางทรู คอร์ป และโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) อาศัยโอกาสนี้ยื่นข้อเสนอลดราคาแก่ผู้ใช้ที่คิดย้ายค่าย ขณะที่ผู้ควบคุมกฎระเบียบด้านโทรคมนาคมของไทยเผยว่ามีผู้บริโภคหลายพันรายแล้วที่ย้ายหนีเอไอเอส ในนั้นรวมถึง 2,000 รายในวันจันทร์ (24) เพียงแค่วันเดียวหรือเกือบ 3 เท่าของอัตราปกติ

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้อ้างคำสัมภาษณ์ของผู้บริโภครายหนึ่งบอกว่าที่เปลี่ยนตัดสินใจเปลี่ยนการใช้บริการของเอไอเอสไปที่อื่น แม้เป็นลูกค้ามานานเกือบ 10 ปี ก็เพราะอยากแสดงจุดยืนต่อต้านทักษิณ “ผมคิดว่ามันยุติธรรมแล้ว ที่เราจะไม่สนับสนุนธุรกิจของเขา”

วอลล์สตรีท เจอนัลด์ รายงานปิดท้ายว่า เหล่าบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับทักษิณ เคยตกเป็นเป้าหมายโจมตีมาก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งที่เขาขายหุ้นในชินคอร์ป บริษัทแม่ของเอไอเอสแก่เทมาเส็ก ในปี 2009 จำนวน 76,000 ล้านบาท โดยในปีที่ ทักษิณ ถูกโค่นอำนาจ หุ้นของชินคอร์ปร่วงลงถึงร้อยละ 38 และเอไอเอส ดิ่งลงร้อยละ 28 แต่ปัจจุบันหุ้นทั้งสองตัวก็กู้คืนมูลค่าที่สุญเสียไปได้หมดแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น