xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกตีข่าวคนแห่ถอนเงินแบงก์ออมสินหลังปล่อยกู้จำนำข้าว ชี้ รบ.ลดกดดันได้แค่ชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วอลล์สตรีทเจอร์นัลด์/รอยเตอร์/ASTVผู้จัดการ - สื่อต่างประเทศตีข่าวผู้ถือบัญชีเงินฝากธนาคารออมสินแห่ถอนเงินทะลุ 30,000 ล้านบาท หลังแบงก์แห่งนี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว สัญญาณแรกที่บ่งชี้ว่าทางตันทางการเมืองนานหลายเดือนของไทยกำลังเริ่มส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ พร้อมระบุแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลไทย แค่ลดความกดดันได้ชั่วคราว เหตุเงินที่ได้มาก็ยังไม่พอใช้หนี้ชาวนาทั้งหมด

สำนักข่าววอลล์สตรีทเจอร์นัลด์ระบุว่า นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่ามีลูกค้าแห่ถอนเงินกว่า 30,000 ล้านบาท ในช่วง 3 วัน หลังจากทางธนาคารปล่อยกู้แก่ธนาคารที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว 5,000 ล้านบาท และด้วยสถานการณ์ถอนเงินเลวร้ายลงเรื่อยๆ นายวรวิทย์จึงต้องออกมายืนยันทางธนาคารจะไม่ขยายวงเงินกู้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพิ่มเติม

ส่วนรอยเตอร์ชี้ว่า การปล่อยเงินกู้แก่ธนาคารที่ดำเนินโครงการจับนำข้าว อาจลดแรงกดดันแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากยังต้องการเงินอีกก้อนมหึมาสำหรับนำมาชำระหนี้แก่ชาวนานับล้านคนที่ยังติดค้างอยู่กว่า 130,000 ล้านบาท

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรัฐมนตรีคลังบอกว่า ได้ดำเนินการจ่ายให้ชาวนาแล้วประมาณ 65,000 ล้านบาท ยังค้างชำระ 110,000 ล้านบาท และรัฐบาลจะเริ่มจ่ายเงินที่เหลือผ่าน ธ.ก.ส. “เมื่อพิจารณาจากศักยภาพของ ธ.ก.ส.ในการดำเนินการจ่ายเงินต่อวันแล้วนั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6-8 สัปดาห์” เขากล่าว อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าด้วยจำนวนเงินกู้ที่ได้รับจากธนาคารออมสิน จึงน่าสงสัยว่ามันจะเพียงพอต่อการใช้หนี้เกษตรกรทุกรายได้อย่างไร

โครงการนี้ซึ่งข้าวจากชาวนาเหนือกว่าราคาตลาด 50 เปอร์เซ็นต์ ถูกผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลชี้ว่ามันคือหนึ่งในนโยบายประชานิยมต่างๆ ที่ทางพรรคเพื่อไทยออกแบบมาเพื่อเรียกเสียงสนับสนุนจากคนชนบทแล้วแปรเปลี่ยนเสียงข้างมากในรัฐสภา โดยไม่สนใจว่ามันก่อความเสียหายแก่ประเทศอย่างใหญ่หลวง ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามกู้ยืมเงินจากเหล่าธนาคารพาณิชย์เพื่อมาจ่ายแก่เกษตรกรแต่ถูกปฏิเสธ

วอลล์สตรีทเจอร์นัลด์รายงานต่อว่า รัฐบาลตัดสินใจยุบสภาเมื่อเดือนธันวาคม เพื่อหวังลดความตึงเครียด แต่นั่นก็ทำให้เวลานี้รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ในฐานะรักษาการซึ่งไม่มีอำนาจใดๆในการตัดสินใจใช้จ่ายสำคัญๆ ขณะที่เธอต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบากเพิ่มเติม เนื่องจากศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ไม่ก่อผลลัพธ์ที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ จากการประท้วงและปิดกั้นหน่วยเลือกตั้งของฝ่ายต่อต้าน และคาดหมายว่าการเลือกตั้งรอบใหม่คงไม่เสร็จสิ้นก่อนเดือนเมษายนเป็นแน่

ยิ่งไปกว่านั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันซ้ำอีกชุด หลังหน่วยงานของรัฐบาลแห่งหนึ่งเมื่อวันจันทร์ (17) ได้ประมาณการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจว่าจะชะลอตัวลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า สืบเนื่องจากความไม่สงบทางการเมือง

คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า เหตุประท้วงจะจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ พร้อมหั่นคาดการณ์จีดีพีทั้งปี 57 เหลือโต 3-4% จากเดิมที่คาดโต 4-5% เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ หลังแผนการลงทุนของภาครัฐ-เอกชนล่าช้า และการบริโภคภายในประเทศอ่อนแอตัวต่อเนื่อง

นายราหูล บาโจเรีย นักเศษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบาร์เคลยส์ บอกกับวอลล์สตรีทเจอร์นัลด์ว่า ความไม่สงบทางการเมืองส่งกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภคและกระทบต่อการใช้จ่าย โดยในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา การบริโภคเอกชนหดตัวถึงร้อยละ 4.5 ระดับที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนับตั้งแต่วิกฤตการเงินในปี 1997 “โดยรวมแล้ว เศรษฐกิจภายในประเทศยังคงเป็นประเด็นใหญ่ของความกังวล ณ ตอนนี้เป็นเรื่องยากที่จะพูดว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยจะหายไปเมื่อใด”
กำลังโหลดความคิดเห็น