เอเอฟพี – แควนตัส สายการบินแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ประกาศแผนลดรายจ่ายลงอีก 2,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย วันนี้(25) ทว่าไม่ยืนยันหรือปฏิเสธข่าวที่ว่าจะมีการลอยแพพนักงานเพิ่มอีก 5,000 ตำแหน่ง
แควนตัส ซึ่งเผชิญแรงกดดันทั้งจากราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และสายการบินคู่แข่งที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ประกาศเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วว่าจะปลดพนักงานราว 1,000 ตำแหน่ง และอาจมีผลประกอบการขาดทุนตลอดครึ่งหลังของปี 2013 สูงถึง 300 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
เมื่อทราบถ้อยแถลงของ แควนตัส ในเดือนธันวาคม สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เอสแอนด์พี ก็ได้ปรับลดเครดิตของ “จิงโจ้บิน” จาก BBB- ซึ่งต่ำที่สุดในระดับน่าลงทุน ลงมาเหลือเพียง BB+ ซึ่งอยู่ในขั้นขยะ และให้อยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง (creditwatch) โดยมีแนวโน้มเป็นลบ
หนังสือพิมพ์ ซิดนีย์เดลีเทเลกราฟ ซึ่งอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิด ระบุว่า ผลประกอบการอย่างไม่เป็นทางการจะถูกประกาศในวันพฤหัสบดีนี้ (27) ซึ่งตัวเลขการปลดพนักงานอาจสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิด เนื่องจาก แควนตัส จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างการเงินเพื่อให้รัฐบาลยอมค้ำประกันหนี้สิน
นอกจากลอยแพพนักงาน 5,000 ตำแหน่งแล้ว แควนตัส อาจต้องยอมขายอาคารผู้โดยสารบางแห่งด้วย
ล่าสุด แควนตัส ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดใดๆ ในเรื่องนี้
“สื่อบางสำนักได้คาดการณ์ว่าเราจะประกาศ หรือไม่ประกาศอะไรบ้างในผลประกอบการครึ่งปีหลัง ซึ่งเวลานี้เรายังไม่สามารถให้ความเห็นได้” ถ้อยแถลงจากสายการบินแห่งชาติแดนจิงโจ้ระบุ
“เราได้เรียนให้ทราบแล้วว่า แควนตัส จำเป็นต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่ยากลำบากเพื่อลดรายจ่ายให้ได้ราวๆ 2,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพตลาดการบินที่บีบคั้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน”
แควนตัส เอ่ยถึงปัญหาท้าทายที่ “หนักหนาสาหัส” พร้อมระบุว่ากำลังโน้มน้าวให้รัฐบาลออสเตรเลียยอมผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการลงทุนจากต่างชาติ หรือไม่ก็เข้ามาแทรกแซงเพื่อลดการขาดทุนของบริษัท
รัฐบาลแคนเบอร์ราประกาศชัดเจนว่าจะไม่นำเงินภาษีของประชาชนมาอุ้มแควนตัส แต่เห็นด้วยกับการผ่อนคลายข้อจำกัดในกฎหมาย Qantas Sale Act ซึ่งกำหนดให้ต่างชาติถือหุ้นในสายการบินแห่งชาติได้ไม่เกิน 49%
อลัน จอยซ์ ประธานบริหารแควนตัส ชี้ว่า กฎหมายดังกล่าวจำกัดการเข้าถึงแหล่งทุน และทำให้แควนตัสยากที่จะสู้กับสายการบินคู่แข่งในประเทศอย่าง เวอร์จินออสเตรเลีย ซึ่งมีสายการบินที่รัฐให้การสนับสนุนอย่างสิงคโปร์แอร์ไลน์ส, แอร์นิวซีแลนด์ และเอติฮัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่