เอเอฟพี – ปฏิบัติการซ้อมรบประจำปีระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีใต้เปิดฉากขึ้นแล้วในวันนี้ (24) ท่ามกลางเสียงประณามจากเกาหลีเหนือซึ่งชี้ว่าการซ้อมรบเป็นแผน “เตรียมรุกราน” ที่อาจบั่นทอนบรรยากาศอันดีจากงานรวมญาติที่เพิ่งจัดขึ้นได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
ก่อนหน้านี้ เปียงยางเรียกร้องให้เกาหลีใต้เลื่อนการซ้อมรบกับสหรัฐฯออกไปก่อน จนกว่างานรวมญาติจะสิ้นสุดลงในวันอังคารนี้ (25) ทว่าโซลก็ยืนกรานว่า “ทำไม่ได้”
อย่างไรก็ดี งานรวมญาติซึ่งเป็นโอกาสอันน้อยนิดที่ผู้สูงอายุชาวเกาหลีจะได้พบหน้าครอบครัวที่พรากจากกันมานานกว่า 60 ปี ก็ยังจัดขึ้นตามกำหนดเดิม ซึ่งนับเป็นท่าทีประนีประนอมจากฝั่งโสมแดงที่ออกจะน่าแปลกใจ
ปฏิบัติการซ้อมรบภายใต้รหัส “คีย์รีโซล์ฟ” และ “โฟลอีเกิล” จะดำเนินไปจนถึงวันที่ 18 เมษายน โดยมีทหารอเมริกันเข้าร่วมราว 12,700 นาย
“คีย์รีโซล์ฟ” เป็นการใช้คอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์การรบซึ่งจะกินเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ส่วนอีก 8 สัปดาห์ที่เหลือจะเป็นการซ้อมรบจริงทั้งภาคพื้นดิน, อากาศ และทะเล ภายใต้รหัส “โฟลอีเกิล”
เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ยืนยันว่า การซ้อมรบครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันภัยคุกคาม โดยจะจำลองสถานการณ์การรุกรานจากเกาหลีเหนือในรูปแบบต่างๆ
ปฏิบัติการซ้อมรบเมื่อปีที่แล้วทำให้สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดขั้นร้ายแรง โดยเปียงยางถึงกับขู่ว่าจะเปิด “สงครามเทอร์โมนิวเคลียร์” กับสหรัฐฯและเกาหลีใต้ ขณะที่วอชิงตันก็ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ B-52 ขึ้นบินเหนือคาบสมุทรเกาหลี เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้โสมแดงเหิมเกริมไปกว่านั้น
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า การซ้อมรบกับเกาหลีใต้ในปีนี้อาจลดความเข้มข้นลงบ้าง โดยจะไม่มีการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินและเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์มาเข้าร่วม ทว่าล่าสุด คิม มิน-ซ็อก รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ยืนยันวันนี้ (24) ว่า จำนวนทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการซ้อมรบครั้งนี้ยังเป็นไปตามปกติ “ไม่มีความเปลี่ยนแปลง”
หนังสือพิมพ์ โรดองซินมุน ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลเกาหลีเหนือ รายงานวานนี้(23) ว่า การซ้อมรบระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯถือเป็น “ความพยายามอันชั่วร้าย” ที่จะบั่นทอนเจตนารมณ์อันดีจากงานรวมญาติชาวเกาหลี ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ถ้อยคำเช่นนี้เป็นเรื่อง “คาดเดาได้” อยู่แล้ว
“ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเกาหลีเหนือคือการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากงานรวมญาติ” อาห์ ชาน-อิล ผู้อำนวยการสถาบันโลกเพื่อเกาหลีเหนือศึกษา (World Institute for North Korea Studies) ในกรุงโซล ให้สัมภาษณ์
เปียงยางหวังว่าโซลจะยอมอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากฝั่งเกาหลีใต้เดินทางมายังรีสอร์ตที่ภูเขาคุมกัง ซึ่งในอดีตเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดสกุลเงินแข็งเข้าสู่รัฐคอมมิวนิสต์ ทว่าการเดินทางข้ามแดนต้องหยุดชะงักไปหลังเกิดกรณีหน่วยรักษาความปลอดภัยโสมแดงยิงนักท่องเที่ยวหญิงชาวโสมขาวเสียชีวิต เมื่อปี 2008
ประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย แห่งเกาหลีใต้ กล่าวไว้ชัดเจนว่า การจัดงานรวมญาติจะเป็นเพียง “ก้าวแรก” ซึ่งหมายความว่าโซลยังพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้มีกิจกรรมแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างทั้ง 2 ชาติเพิ่มขึ้นในอนาคต
จอห์น เดลูรี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยยอนเซ ชี้ว่า พัค และผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอึน มาถึงจุดที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างเล็งเห็นว่า การรอมชอมน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ
“เมื่อ พัค เริ่มลงมือทำอย่างแน่วแน่ และ คิม ก็พร้อมที่จะรับลูก สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว” เดลูรี เขียนบนเว็บไซต์ 38 North ซึ่งเป็นสื่อที่ติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ของเกาหลีเหนือ