xs
xsm
sm
md
lg

‘IMF-ขุนคลังอังกฤษ’ ปราม ‘ตลาดเกิดใหม่’ เร่งแก้ปัญหาภายในแทนมัวชี้นิ้วโทษ ‘เฟด’ ลด QE

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
เอเจนซีส์ - นายใหญ่ไอเอ็มเอฟประสานเสียงขุนคลังเมืองอังกฤษ เรียกร้องในวันพฤหัสบดี (20 ก.พ.) ให้ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ จัดการปัญหาภายในของตนเอง แทนที่จะมัวโจมตีอเมริกาซึ่งกำลังเดินหน้านโยบายลดมาตรการคิวอี ในระหว่างการประชุมกลุ่ม จี20 สุดสัปดาห์นี้ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง รายงานการประชุมเอฟโอเอ็มซีประจำเดือนมกราคมที่เพิ่งเผยแพร่ออกมา บ่งชี้ให้เห็นว่าเฟดยังคงมีความมุ่งมั่นในการลดปริมาณการผ่อนคลายทางการเงินของตนอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังมีการตั้งข้อสังเกต ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ควร “ใส่ใจ” กับผลกระทบจากการยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ที่เกิดกับประเทศกำลังพัฒนารายสำคัญๆ ทว่า จอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังอังกฤษ นั้นเรียกร้องพวกตลาดเกิดใหม่ตรงๆ เลย ให้ระงับ “การชี้นิ้วและการเบี่ยงเบนความสนใจ” ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก (จี20) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นที่เมืองซิดนีย์, ออสเตรเลีย สุดสัปดาห์นี้ (22 และ 23 ก.พ.)

ช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่รายสำคัญๆ เป็นต้นว่า อาร์เจนตินา อินเดีย รัสเซีย แอฟริกาใต้ และตุรกี ประสบปัญหาค่าเงินของพวกตนรูดหนัก อันเป็นผลจากการที่เฟดกำลังทยอยลดมาตรการคิวอี และทำให้เงินทุนซึ่งเคยไหลออกมาที่พวกประเทศกำลังพัฒนา พากันไหลกลับออกไปอย่างรวดเร็ว

ลาการ์ด ชี้ถึงปรากฏการณ์นี้ว่า แค่เพียงเฟดส่งสัญญาณว่า จะผ่อนคลายคิวอีเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วโดยที่ตอนนั้นยังไม่ทันทำจริงๆ ด้วยซ้ำ ก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังตลาดทั่วโลก และไอเอ็มเอฟได้ขอให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ โดยเฉพาะเฟด ไตร่ตรองสิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ เมื่อเฟดดำเนินการผ่อนคลายคิวอีจริงๆ

ต่อจากนั้ เริ่มตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เฟดก็ได้ประกาศลดขนาดปริมาณคิวอีมาแล้ว 2 ครั้ง จากที่เคยตั้งเป้ารับซื้อพันธบัตรเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ เวลานี้ก็อยู่ที่ 65,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากนั้น เมื่อดูจากรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ครั้งหลังสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการนำมาเปิดเผยเมื่อวันพุธ (19) ก็พบว่า สมาชิกบอร์ดหลายคนทีเดียว เห็นพ้องในการดำเนินการลดการซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่องต่อไปเดือนละ 10,000 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ลาการ์ด กล่าวเตือนพวกตลาดเกิดใหม่ด้วยว่า พวกเขาเองก็จำเป็นต้องพิจารณานโยบายการคลังการเงินของตัวเองด้วย รวมถึงดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือความผันผวนที่อาจเกิดจากการผ่อนคลายคิวอีของเฟด

การแสดงความคิดเห็นของผู้นำไอเอ็มเอฟเช่นนี้ ได้รับการขานรับจากขุนคลังเมืองอังกฤษที่วิจารณ์ว่า การกล่าวโทษนโยบายการเงินของตะวันตกว่า ทำให้ค่าเงินของตลาดเกิดใหม่ดิ่งรูด แต่ในอีกด้านหนึ่งยอดขาดดุลต่างๆ ของตลาดเกิดใหม่เหล่านี้เองก็ยังคงพุ่งสูงขึ้นนั้น เป็นเรื่องไม่ถูกต้องและไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด

ออสบอร์นแจงว่า เนื่องจากสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา คือความเปราะบางอ่อนแอในเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่เหล่านั้น ซึ่งมักเกิดจากปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานาน และทำให้ตลาดเกิดใหม่บางแห่งได้รับผลกระทบหนักกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น ทุกประเทศจึงควรเร่งจัดการปัญหาภายในของตนเอง

ออสบอร์นที่กล่าวเรื่องนี้ขณะแถลงต่อผู้นำธุรกิจในฮ่องกงเมื่อวันพฤหัสบดี (20) ก่อนเดินทางต่อไปยังซิดนีย์ในวันรุ่งขึ้น ยังสนับสนุนวาระการประชุมที่จัดทำโดยออสเตรเลีย เจ้าภาพจี20 วาระปัจจุบัน โดยยกย่องว่า เป็นวาระการปฏิรูปที่ครอบคลุมและทะเยอทะยาน ในการจัดการกับนโยบายการคลัง กฎระเบียบทางการเงิน และอุปสรรคเชิงโครงสร้าง

ไอเอ็มเอฟก็แสดงเห็นด้วยกับวาระการประชุมของออสเตรเลียเช่นเดียวกัน กระนั้น ลาการ์ดสำทับว่า พวกธนาคารกลางของกลุ่ม จี20 ควรส่งสัญญาณถึงเจตนารมณ์ในการทำให้เศรษฐกิจโลกสามารถพึ่งพาอาศัยกัน เนื่องจากการร่วมมือกันอย่างเพียงพอจะทำให้แบงก์ชาติของประเทศต่างๆ รับรู้ผลลัพธ์จากการดำเนินการของตนที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น