xs
xsm
sm
md
lg

นิวยอร์กไทม์สชี้ “การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย” ลดเหลือแค่ 0.6% จากเหตุวิกฤตม็อบยืดเยื้อ-โตโยต้าเปรยทบทวนแผนลงทุนใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - เบตตินา แวสเซนเนอร์ นักข่าวจากนิวยอร์กไทม์ได้วิเคราะห์เมื่อวานนี้ (17 ก.พ.) ถึงผลกระทบจากวิกฤตการเมืองไทยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ล่าสุดลดเหลือแค่ 0.6% หลังจากที่ไทยครั้งหนึ่งเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในเอเชีย เป็นประเทศที่ต้องผจญกับการรัฐประหาร การประท้วงข้างถนน และภัยพิบัติธรรมชาติ จนได้ฉายาว่า “เทฟลอน ไทยแลนด์” (Teflon Thailand) ในขณะที่มกราคมล่าสุด โตโยต้าส่งสัญญาณทบทวนแผนการลงทุนครั้งใหญ่หากการประท้วงยังดำเนินต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด

แต่นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2013 ที่ผ่านมาที่ไทยต้องตกอยู่ในสภาวะไม่แน่นอนทางการเมืองเนื่องมาจากการประท้วงของกลุ่ม กปปส.ที่ผลจากการประท้วงยาวนานกว่า 3 เดือนเริ่มส่งผลถึงเศรษฐกิจประเทศ ประกอบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคชะลอตัวลงจากสาเหตุการฉุดตัวของการเติบโตเศรษฐกิจของจีนที่ต่ำลง และการลดกระตุ้นอัดฉีดเงินจากเฟดของสหรัฐฯ

ล่าสุดตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการที่รัฐบาลไทยได้ประกาศออกมาในวันจันทร์ (17) ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจลดเหลือแค่ 0.6% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2013 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้านั้น แต่กระนั้นยังถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ต่างได้คาดไว้ ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่เพิ่งประกาศเมื่อวานนี้ (17) นั้นลดต่ำลงอย่างฮวบฮาบจากไตรมาสก่อนหน้านั้นที่ 2.7% และถือเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ต้นปี 2012 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตน้ำท่วมทั่วประเทศที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศเป็นอัมพาตเป็นเวลาหลายสัปดาห์

นอกจากนี้ การเติบโตทั้งปียังลดลงเหลือแค่ 2.9% จาก 6.5% ในปี 2012 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เผย

จากการประท้วงทางการเมืองในกรุงเทพฯที่เริ่มมาจากการแย่งอำนาจทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่อต้านและฝ่ายหนุนทักษิณ ชินวัตร เศรษฐีพันล้านและอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยที่ถูกทำรัฐประหารในปี 2006 ซึ่งผู้ประท้วงกลุ่มกปปส.ได้ปิดถนนเส้นสำคัญๆในเมืองหลวงของไทยเป็นเวลาหลายสัปดาห์ จนทำให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรต้องออกกฎหมาย พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน 60 วันที่มีผลบังคับใช้ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และเมื่อวานนี้ (17) กลุ่มผู้ประท้วงม็อบฝ่ายต้านได้เข้าล้อมทำเนียบรัฐบาลไว้ พร้อมทั้งขู่ที่จะไม่ให้ยิ่งลักษณ์ น้องสาวของทักษิณสามารถกลับเข้ามานั่งทำงานในทำเนียบรัฐบาลได้ และในเช้าวันนี้ (18) ตำรวจปราบจลาจลพร้อมอาวุธภายใต้คำสั่งของยิ่งลักษณ์ได้ตรึงกำลังพร้อมกัน 5 จุด ทำเนียบฯ - มหาดไทย - พลังงาน - สะพานผ่านฟ้าฯ - ศูนย์ราชการฯ เพื่อสลายการชุมนุมกลุ่มผู้ประท้วง โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถยึดพื้นที่คืนจากบริเวณหน้ากระทรวงพลังงานได้สำเร็จ ในขณะที่แกนนำม็อบประกาศยอมถูกจับกุมโดยไม่มีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลเกิดขึ้น

ส่วนในภาคอื่นๆ ของประเทศ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวหลักที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เช่น เกาะสมุย และภูเก็ต ยังไม่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างจากวิกฤตการเมืองในเมืองหลวง เพราะมีสนามบินท้องถิ่นตั้งอยู่

กระนั้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยซึ่งถือเป็น 7% ของเศรษฐกิจประเทศ และเป็นภาพลักษณ์ของไทยในประชาคมโลกนั้นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความไม่สงบทางการเมือง เพราะมีหลายชาติได้เตือนให้พลเมืองของตนหลีกเลี่ยงการเข้ามาท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ

และเป็นผลจากการที่ม็อบ กปปส.ยังคงตั้งเวทีประท้วงลากยาวต่อไป ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจได้ลดลง ห้างร้านในย่านเศรษฐกิจต่างบ่นถึงยอดขายที่ลดต่ำลง การโฆษณาและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ในช่วงซบเซา โดยเฉพาะผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โตโยต้าที่มีฐานการผลิตใหญ่ในไทยได้ส่งสัญญาณเตือนในเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ทางบริษัทอาจจะทบทวนแผนการลงทุนครั้งใหญ่ในไทยหากการประท้วงยังดำเนินต่อไปโดยไม่มีสิ้นสุด

ซึ่งการจัดเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาไม่มีมนต์ขลังพอที่จะผ่าทางตันทางการเมืองได้ จึงหมายความว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา งบประมาณที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เทลงไปเพื่อการจัดเลือกตั้งครั้งล่าสุดไม่ทำให้เกิดผลใดเป็นรูปเป็นร่างมาขึ้น

แต่ยังมีข่าวดีที่ตลาดหลักทรัพย์ของไทยและอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราไม่ได้รับผลกระทบจากการประท้วงในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา และในวันจันทร์ (17) เบนช์มาร์กของ SET อินเด็กซ์ ได้เข้าใกล้ 1.6% ซึ่งถือเป็นการปิดที่สูงสุดนับตั้งแต่วันคริสมาสต์ที่ผ่านมา

กระนั้นดัชนีได้ต่ำลง 7.4% นับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2013 ที่ได้สะท้อนถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว ที่การประท้วงทางการเมืองได้ย่างเข้าเดือนที่ 4 และทางออกในการแก้ปัญหาดูในเวลาอันใกล้มีน้อยเต็มทีทำให้นักวิเคราะหต่างเพิ่มความวิตกว่า ไทยอาจจะเสียโอกาสในการขยายตัวด้านการคมนาคมและการพัฒนาด้านอื่นของประเทศเพื่อดึงดูดความสนใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ

“จากการที่วิกฤตทางการเมืองไทยยังไม่ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เป็นผลให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจเริ่มดูแย่” คริสตัล ตัน นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคจากสถาบันวิจัย แคปปิตอล อีโคโนมิกส์ ในสิงคโปร์ ได้วิเคราะห์ต่อว่า “การใช้จ่ายของรัฐบาลไทยมีจำกัดเนื่องจากเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ จึงทำให้ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โครงการเมกาโปรเจ็กต์ด้านสาธารณูปโภคของภาครัฐต่างๆ ที่ได้ถูกระงับชั่วคราวไม่มีวี่แววว่าจะสามารถเริ่มโครงการได้เร็วๆนี้เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2014”

และตันยังเสริมว่า “เศรษฐกิจของไทยไม่ได้รับผลกระทบอย่างเลวร้ายจากพิษการประท้วงข้างถนนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2013 เหมือนอย่างที่เธอได้เคยคาดการณ์ไว้ แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมทำให้คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเลวร้ายลงกว่านี้มากในอนาคตข้างหน้า”
กำลังโหลดความคิดเห็น