xs
xsm
sm
md
lg

ส่อทะเลาะ! อิเหนาจ่อตั้งชื่อ “เรือรบ” เป็นเกียรติแก่นาวิกโยธินที่ “วางระเบิด” สิงคโปร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีตประธานาธิบดี ซูการ์โน แห่งอินโดนีเซีย
เอเอฟพี - รัฐบาลสิงคโปร์แสดงความไม่พอใจ หลังกองทัพเรืออินโดนีเซียประกาศจะนำชื่อของนาวิกโยธินชาวอิเหนา 2 นายที่วางระเบิดย่านธุรกิจใจกลางเกาะสิงห์เมื่อปี 1965 และได้ถูกทางการสิงคโปร์สั่งประหารชีวิต มาตั้งเป็นชื่อเรือรบ

กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์แถลงเมื่อค่ำวานนี้ (5 ก.พ.) ว่า เค. ชานมูกัม รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ ได้พูดคุยกับ มาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย เกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของแผนตั้งชื่อเรือรบแล้ว

ชานมูกัม ซึ่งไปเยือนกรุงจาการ์ตาในสัปดาห์นี้ แจ้งให้รัฐบาลอิเหนา “ทราบถึงความกังวลของสิงคโปร์เกี่ยวกับแผนตั้งชื่อเรือรบของกองทัพเรืออินโดนีเซีย พร้อมเตือนว่าอาจกระทบต่อความรู้สึกของชาวสิงคโปร์ โดยเฉพาะครอบครัวของเหยื่อระเบิด”

“นาวิกโยธินชาวอินโดนีเซียทั้ง 2 นายมีความผิดฐานวางระเบิด ซึ่งคร่าชีวิตพลเมืองสิงคโปร์ไป 3 ราย และทำให้มีผู้บาดเจ็บ 33 คน” กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ระบุ

หนังสือพิมพ์กอมปาสของอินโดนีเซียรายงานเมื่อวันอังคาร (4) ว่า กองทัพเรือมีแผนจะขนานนามเรือฟริเกตที่เพิ่งยกเครื่องใหม่ว่า “เคอาร์ไอ อุสมาน ฮารูน” เพื่อเป็นเกียรติแก่ อุสมาน ฮัจญี โมฮาเหม็ด อาลี และ ฮารูน ซาอิด สองนาวิกโยธินซึ่งถูกประหารชีวิตในสิงคโปร์ฐานลอบวางระเบิดอาคารสำนักงานใจกลางเมือง เมื่อเดือนมีนาคม ปี 1965

เหตุโจมตีครั้งนั้นเกิดจากนโยบายเผชิญหน้าด้วยอาวุธ (Konfrontasi) ที่อดีตประธานาธิบดีซูการ์โน ของอินโดนีเซียใช้ตอบโต้การตั้งสหพันธ์ร่วมในหมู่ดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดย ซูการ์โน นั้นไม่พอใจที่ซาบาห์และซาราวักถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาลายา

นาวิกโยธินทั้ง 2 นายอยู่ในหน่วยปฏิบัติการรบพิเศษของอินโดนีเซีย หรือปัจจุบันก็คือกองกำลังนาวิกโยธิน และถูกสั่งให้แทรกซึมเข้าไปก่อวินาศกรรมในสิงคโปร์

สิงคโปร์ขอแยกตัวจากมาเลเซียเป็นรัฐเอกราชในวันที่ 9 สิงหาคม ปี 1965 ส่วนนโยบายเผชิญหน้าของอินโดนีเซียก็ค่อยๆ เงียบหายไป หลังจากที่ประธานาธิบดี ซูการ์โน พ้นอำนาจ

“รัฐบาลสิงคโปร์ถือว่าช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศย่ำแย่สิ้นสุดลง หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ลี กวน-ยู เดินทางไปโปรยดอกไม้ที่สุสานของนาวิกโยธินทั้งสองในเดือนพฤษภาคม ปี 1973” กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์แถลง

อินโดนีเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของสิงคโปร์ โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 79,400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2012

ความสัมพันธ์สิงคโปร์-จาการ์ตาตกต่ำถึงขีดสุดในยุคของอดีตประธานาธิบดี บี.เจ. ฮาบิบี แห่งอินโดนีเซีย ซึ่งเย้ยหยันสิงคโปร์ว่าเป็นเพียง “จุดแดงเล็กๆ” บนแผนที่โลก

อย่างไรก็ตาม หลายปีมานี้มิตรภาพระหว่าง 2 ประเทศเข้มแข็งขึ้นมาก ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์ และประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน แห่งอินโดนีเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น