xs
xsm
sm
md
lg

พบ‘ไข้หวัดนก’สายพันธุ์ใหม่H10N8เบาะแสชี้มีโอกาสแพร่เชื้อ‘คนสู่คน’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้มที่ถ่ายเมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่ในฮ่องกงนำเอาไก่ที่เสียชีวิตแล้วใส่ถุงดำเพื่อไปกำจัด ในวันนั้นฮ่องกงเริ่มการฆ่าไก่ 20,000 ตัวหลังตรวจพบไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ในสัตว์ปีกซึ่งนำเข้าจากจีนแผ่นดินใหญ่  เวลานี้คณะนักวิจัยของจีนก็กำลังวิตกเมื่อพบไวรัสอีกสายพันธุ์หนึ่ง นั่นคือ H10N8
เอเจนซีส์ - คณะนักวิจัยจีนกำลังวิตกกังวล หลังพบไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H10N8 ที่ทำให้หญิงชราผู้หนึ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และพบหญิงอีกคนติดเชื้อเมื่อเดือนที่แล้ว โดยประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือการที่ไวรัสสายพันธุ์นี้กลายพันธุ์จนสามารถแพร่เชื้อในเนื้อเยื่อระดับลึก เช่น ในปอด รวมทั้งความเป็นไปได้ในการแพร่เชื้อจากคนสู่คน

ตามรายงานที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันพุธ (5 ก.พ.) ใน “ลานซิต” วารสารวงการแพทย์ที่ได้รับความเชื่อถือที่สุดของอังกฤษ ระบุว่า ควรต้องติดตามให้ใกล้ชิดไวรัสชนิดนี้ ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์ที่ 5 ที่มีการค้นพบในรอบ 17 ปี เนื่องจากมีการกลายพันธุ์จนอาจสามารถติดเชื้อในเนื้อเยื่อภายในปอด และอาจมีคุณสมบัติที่ถ่ายทอดระหว่างคนกับคนได้

ทีมนักวิจัยที่นำโดยเย่ว์หลง ซู จากศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของจีนในปักกิ่ง เตือนในรายงานว่า ไม่ควรประเมินต่ำเกินไปเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการระบาดของไวรัสชนิดใหม่นี้

คำเตือนนี้มีขึ้นหลังการวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อเยื่อจากหญิงชราวัย 73 ปีที่เสียชีวิตในเมืองหนานชาง มณฑลเจียงซี เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบรุนแรงและระบบหายใจล้มเหลว

ต่อมาในวันที่ 18 ธันวาคม ทางการจีนประกาศว่า หญิงผู้นี้เสียชีวิตจากไวรัสไข้หวัดนก H10N8

ผลการศึกษาที่รายงานไว้ในลานซิต เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อ H10N8 รายที่ 2 ในหนานชาง เช่นกัน เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ทว่า ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ

ผู้ป่วยทั้งสองรายนี้เป็นกรณีการติดเชื้อ H10N8 ในคนครั้งแรกๆ โดยก่อนหน้านี้พบไวรัสสายพันธุ์นี้ 2 ครั้งในจีน ครั้งแรกในตัวอย่างน้ำในทะเลสาบที่มณฑลหูหนานเมื่อปี 2007 ครั้งที่ 2 พบในสัตว์ปีกมีชีวิตในมณฑลกวางตุ้งปี 2012

อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า ไวรัสที่พบครั้งนี้มีความแตกต่างจากไวรัสเมื่อสองครั้งก่อน โดยส่วนสำคัญที่ผิดแผกไปคือการเรียงตำแหน่งทางพันธุกรรมกำลังเกิดการปรับเปลี่ยน สืบเนื่องจากไวรัสสายพันธุ์ H9N2 ซึ่งเป็นไวรัสไข้หวัดนกที่ระบาดในฮ่องกงปี 1999 และเป็นต้นกำเนิดของสายพันธุ์อันตราย H5N1 และ H7N9

ไวรัสไข้หวัดนกนั้นสามารถถ่ายทอดจากนกที่ติดเชื้อมาสู่คน ด้วยการติดต่อหรือสัมผัสระยะใกล้ แต่โดยปกติแล้วจะไม่ถ่ายทอดระหว่างคนกับคน

แต่ประเด็นที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขกังวลในขณะนี้คือ แนวโน้มที่ H10N8 จะสามารถแพร่เชื้อระหว่างคนกับคนได้

ทั้งนี้ H7N9 ที่ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 159 คนในจีน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 71 ราย

ส่วน H5N1 ที่พบการติดเชื้อในคนครั้งแรกที่ฮ่องกงในปี 1997 นั้น มีผู้ติดเชื้อ 648 คน โดยมีผู้เสียชีวิต 384 คน นับตั้งแต่ปี 2003

สำหรับ H10N8 นั้น แผนที่พันธุกรรมบ่งชี้ว่ามีการกลายพันธุ์ในส่วนที่เรียกกันว่า “โปรตีน PB2” ของมัน ซึ่งงานวิจัยก่อนหน้านี้ค้นพบว่า โปรตีน PB2 นี้บ่งบอกความสามารถในการปรับตัวเพื่อให้สามารถแพร่เชื้อสู่สัตว์ประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม

ไวรัสสายพันธุ์นี้ยังมีการกลายพันธุ์ในโปรตีนฮีแมกกลูตินิน ซึ่งอยู่บนผิวหน้าไวรัสและทำให้ไวรัสสามารถเกาะติดกับเซลล์อื่นๆ บ่งชี้ความสามารถในการติดเชื้อในเนื้อเยื่อระดับลึกอย่างเช่นในปอด แทนที่จะเป็นทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หลอดลม

การทดสอบตัวอย่างในห้องปฏิบัติการพบว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้สามารถรักษาด้วยยาต้านไวรัส “ทามิฟลู”

อย่างไรก็ดี ยังมีคำถามคั่งค้างอีกหลายข้อ เช่น ผู้หญิงที่เสียชีวิตติดเชื้อได้อย่างไร

รายงานระบุว่า หญิงชราผู้นี้ซื้อไก่เป็นจากตลาดสัตว์ปีกหลายวันก่อนที่จะล้มป่วย ทว่า นักวิจัยระบุว่า การติดเชื้ออาจเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เนื่องจากเธอไม่ได้จับไก่เป็นๆ อีกทั้งไม่พบร่องรอยไวรัสสายพันธุ์นี้ในสัตว์ปีกในตลาดดังกล่าวแต่อย่างใด

ผู้หญิงคนนี้ยังอาจเป็นเป้าหมายที่ง่ายดายสำหรับไวรัส เนื่องจากมีสุขภาพอ่อนแอ เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดร้ายแรง

นอกจากนั้น การตรวจผู้ที่ใกล้ชิดกับหญิงชราก็ไม่พบผู้ติดเชื้อแม้แต่คนเดียว

หมิงปิน หลิว ผู้ร่วมจัดทำรายงานจากซีดีซีสาขาหนานชาง เสริมว่า การพบผู้ติดเชื้อ H10N8 รายที่ 2 ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก เนื่องจากบ่งชี้ว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้ยังคงแพร่กระจายและอาจทำให้มีการติดเชื้อในคนเพิ่มขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ดี ดร.ลินดา คลาวินสกิส ผู้บรรยายอาวุโสวิชาภูมิคุ้มกันวิทยาจากคิงส์ คอลเลจในลอนดอน ระบุว่า H10N8 ไม่ใช่ภัยคุกคามเฉพาะหน้าแต่อย่างใด

ขณะที่ดร.จอห์น แมคคอลีย์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโรคไข้หวัดใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (ฮู) กล่าวว่า แนวโน้มการระบาดรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ยังไม่มีความชัดเจน กระนั้น การค้นพบผู้ติดเชื้อถือเป็นสัญญาณเตือนให้ระมัดระวังการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากสัตว์สู่คน เช่น H7N9 ในจีนซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครคิดว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้อันตราย ดังนั้น จึงสมควรมีการติดตามตรวจสอบ H10N8 อย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น