xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชี้ แบงก์ดังทั่วยุโรปอาจเจ๊งเพราะ “หนี้เน่า” หลังทุ่มปล่อยกู้ “ตลาดเกิดใหม่” อย่างบ้าคลั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-ผลวิจัยล่าสุดชี้ สถาบันการเงินทั่วยุโรปอยู่ในภาวะ “เปราะบาง” หลังปล่อยกู้ให้กับประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่อย่างบ้าคลั่ง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนยอดเงินกู้จากยุโรปที่หลั่งไหลเข้าสู่ดินแดนตลาดเกิดใหม่พุ่งสูงมากกว่า 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นักวิเคราะห์ชี้ การเอาตัวเองไปผูกกับตลาดเกิดใหม่อาจนำมาซึ่งหายนะของสถาบันการเงินยุโรป

ผลการวิจัยล่าสุดที่จัดทำโดยทีมนักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ แคปิตอล อินเตอร์เนชันแนลที่มีการเผยแพร่ในวันพุธ (5) ระบุว่า ในเวลานี้ ยอดเงินกู้ที่สถาบันการเงินในยุโรปปล่อยกู้ให้กับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ ได้พุ่งสูงจนทะลุหลัก 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 111 ล้านล้านบาท) ไปแล้ว ส่งผลให้ธนาคารชั้นนำทั่วยุโรปตกอยู่ในความเปราะบางอย่างยิ่งยวด และอาจล้มครืนหากเกิดวิกฤตกับลูกหนี้ในตลาดเกิดใหม่เหล่านี้

ข้อมูลระบุว่า ธนาคารชื่อดังของยุโรป 6 แห่งที่มีความเสี่ยงสูงสุดในการเผชิญวิกฤต หากเศรษฐกิจในกลุ่มเฟื่องฟูใหม่ประสบหายนะ ประกอบไปด้วย ธนาคาร BBVA ของสเปน, Erste Bank ของ 8 ประเทศยุโรปตอนกลาง-ยุโรปตะวันออก ,ธนาคาร HSBC ของอังกฤษ , ธนาคารซานตานเดร์จากสเปน , กลุ่มสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดจากอังกฤษ และ UniCredit แห่งอิตาลี โดยทั้ง 6 ธนาคารมียอดปล่อยกู้ให้กับตลาดเกิดใหม่รวมกันสูงกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของยอดเงินกู้ที่สถาบันการเงินทั่วยุโรป ปล่อยกู้ให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

ด้านแม็ตต์ สปิค นักวิเคราะห์จากดอยต์ช แบงค์ ให้ความเห็นว่า นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา บรรดาสถาบันการเงินในยุโรปต่างเริ่มมองหาฐานลูกค้ารายใหม่ หลังสหรัฐฯและญี่ปุ่นประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นจังหวะเวลาเดียวกับที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ที่นำโดยจีน บราซิล รัสเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้ ตุรกี เม็กซิโก รวมถึงอินโดนีเซีย กำลังต้องการเข้าถึง “แหล่งเงินทุน” สำหรับรองรับการเติบโตของตน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ธนาคารในยุโรป เริ่มหันมา “ปล่อยกู้อย่างบ้าคลั่ง” ให้กับตลาดเกิดใหม่เหล่านี้

รายงานของมอร์แกน สแตนลีย์ แคปิตอล อินเตอร์เนชันแนลที่มีการเผยแพร่ล่าสุดยกตัวอย่าง ธนาคารซานตานเดร์ของสเปนที่มีสัดส่วนการปล่อยกู้สู่ลาตินอเมริกา โดยเฉพาะบราซิล สูงถึง 23 เปอร์เซ็นต์หรือเกือบ 1 ใน 4 ของยอดการปล่อยกู้ทั้งหมดเมื่อนับถึงสิ้นปี 2013 ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับธนาคาร BBVA จากแดนกระทิงดุ ที่ผลกำไรกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของธนาคารมาจากลูกหนี้ในประเทศเม็กซิโกเพียงประเทศเดียว รวมถึงกรณีของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดและเอชเอสบีซีที่ปล่อยกู้อย่างมโหฬารให้กับผู้กู้ยืมในอินเดียและอินโดนีเซีย

“ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เริ่มลดความร้อนแรงลงของตลาดเกิดใหม่ ประกอบกับการตัดสินใจลด-เลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ ถือเป็นสัญญาณเตือนถึงหายนะที่กำลังก่อตัว และหากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่มีอันเป็นไป แน่นอนว่า ผู้ที่ต้องช้ำใจที่สุด คือบรรดาธนาคารชื่อดังทั้งหลายของยุโรป ที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของตลาดเหล่านี้” สปิคกล่าวพร้อมเตือนถึงความเป็นไปได้ที่เงินกู้ยืมจากยุโรปอาจกลายสภาพเป็น “หนี้เน่า” หากเกิดวิกฤตในประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งมีสัดส่วนจีดีพีรวมกันถึง 1 ใน 4 ของจีดีพีโลกต่างประสบภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะรัสเซียที่เศรษฐกิจมีการเติบโตเพียง1.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่จีนก็ต้องประสบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่ต่ำกว่า 8 เปอร์เซ็นต์เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี หลังรัฐบาลปักกิ่งยืนยันว่า เศรษฐกิจของตนขยายตัวได้แค่ 7.5 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา

กำลังโหลดความคิดเห็น