เอเอฟพี - สหรัฐฯ เรียกร้องให้จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สานความร่วมมือฉันเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันพร้อมชี้ว่าการก้าวข้ามความเกลียดชังจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์จะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 3 ฝ่าย
แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออก ได้หารืออย่าง “เปิดใจ” เกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในเอเชียตะวันออก ระหว่างที่ได้ไปเยือนปักกิ่ง, โซล และโตเกียว
“แม้จะมีอยู่หลายแง่มุม แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือ ไม่มีปัญหาหรือความขัดแย้งใดๆ ที่สามารถแก้ไขได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” รัสเซลให้สัมภาษณ์
“ว่ากันตามตรง สหรัฐฯ หวังว่ามิตรและหุ้นส่วนของเราในเอเชีย-แปซิฟิกจะเสริมสร้างความสัมพันธ์และความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันได้”
รัสเซลชี้ว่า ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นพันธมิตรในระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญของอเมริกา ต่างมีค่านิยมที่สอดคล้อง “อันควรจะเป็นรากฐานของความไว้วางใจกันในระยะยาว” ส่วนจีนและญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของเอเชีย “ก็สามารถร่วมมือกันได้” เพื่อผลประโยชน์ของพลเมืองตนเอง
ความขัดแย้งในเอเชียตะวันออกส่อเค้าปะทุหนัก เมื่อรัฐบาลโตเกียวสั่งพิมพ์ตำราเรียนใหม่เพื่อสั่งสอนให้เยาวชนเชื่อว่า หมู่เกาะ “ด็อกโด” ซึ่งเป็นข้อพิพาทกับเกาหลีใต้ และหมู่เกาะ “เตี้ยวอี๋ว์” ซึ่งจีนต้องการกรรมสิทธิ์นั้น แท้จริงเป็นดินแดนของญี่ปุ่นอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งทางเกาหลีใต้ก็ได้ออกมาประท้วงทันที
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมจัด ได้เดินทางไปเยือนศาลวีรชนสงคราม “ยาสุกุนิ” ในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นสถานที่สักการะดวงวิญญาณชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงครามต่างๆ และยังเป็นที่เก็บป้ายวิญญาณอดีตผู้นำระดับสูงของญี่ปุ่น 14 คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรตราหน้าว่าเป็น “อาชญากรสงคราม”
การกระทำของอาเบะ เรียกเสียงประณามอย่างรุนแรงจากเกาหลีใต้และจีน แม้แต่สหรัฐฯซึ่งหนุนหลังญี่ปุ่นก็ยังตำหนิว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าผิดหวัง
ก่อนหน้านั้น จีนได้สร้างความตกตะลึงไปทั่วภูมิภาคโดยการประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone – ADIZ) เหนือทะเลจีนตะวันออก ครอบคลุมเหนือหมู่เกาะพิพาทกับญี่ปุ่น และกำหนดให้เครื่องบินต่างชาติทุกลำที่จะผ่านบริเวณนั้นต้องแจ้งให้ทางการจีนทราบล่วงหน้า
รัสเซล เตือนไม่ให้จีนประกาศเขต ADIZ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นน่านน้ำพิพาทระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์, เวียดนาม และอีกหลายประเทศ
“เราฝากคำเตือนไปยังรัฐบาลจีนอย่างชัดเจนแล้วว่า พวกเขาไม่ควรใช้วิธีประกาศเขต ADIZ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่อนไหว เช่น ทะเลจีนใต้”