เอเอฟพี - สถานีโทรทัศน์แห่งชาติญี่ปุ่น (เอ็นเอชเค) ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงอีกครั้ง เมื่อผู้บริหารอาวุโสคนหนึ่งออกมากล่าวว่า เหตุการณ์ “สังหารหมู่นานกิง” ในทศวรรษ 1930 เป็นเพียง “โฆษณาชวนเชื่อ” ของฝ่ายจีน ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่าการแสดงความคิดเห็นของผู้บริหารรายนี้ไม่ขัดต่อกฎหมาย
นาโอกิ ฮยากุตะ ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการจัดการนโยบายและแผนงบประมาณของสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค ชี้ว่า ข้อกล่าวหาที่ว่ากองทัพญี่ปุ่นทั้งข่มขืนและสังหารพลเมืองชาวจีนไปหลายแสนคนในเวลา 6 สัปดาห์ที่ญี่ปุ่นยึดนครนานกิงระหว่างปี 1937-38 เป็นเพียง “การโฆษณาชวนเชื่อ” เท่านั้น
คำพูดของ ฮยากุตะ มีขึ้นระหว่างที่เขาไปพูดหาเสียงให้กับผู้สมัครฝ่ายขวาคนหนึ่งที่จะลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าการกรุงโตเกียวในวันอาทิตย์นี้ (9) โดยเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า ประธานสถานีโทรทัศน์ เอ็นเอชเค คนใหม่ก็เพิ่งจะถูกวิจารณ์คล้ายๆ กัน หลังจากที่พูดแก้ต่างแทนญี่ปุ่นในเรื่อง “สตรีเพื่อการผ่อนคลาย” ซึ่งหมายถึงการเกณฑ์หญิงสาวท้องถิ่นมาบำเรอกามแก่ทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
การแสดงออกของผู้บริหารระดับสูงของเอ็นเอชเค ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าสถานีโทรทัศน์อันดับต้นๆของโลกแห่งนี้อาจได้รับใบสั่งให้เดินตามนโยบายชาตินิยมสุดโต่งของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ
หนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุน อ้างคำพูดของ ฮยากุตะ เมื่อวันอาทิตย์ (2) ว่า “หลายประเทศทั่วโลกก็ไม่ใส่ใจคำโฆษณาชวนเชื่อ (ของอดีตประธานาธิบดี เจียงไคเช็ก ของจีน) ที่ว่า ทหารญี่ปุ่นได้ก่อการสังหารหมู่ที่นครนานกิง เพราะเหตุใดน่ะหรือ? ก็เพราะไม่เคยมีเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้น”
“ในช่วงสงคราม อาจจะมีทหารบางนายที่แสดงพฤติกรรมโหดร้ายบ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดกับกองทัพญี่ปุ่นเพียงชาติเดียว และไม่จำเป็นที่จะต้องสั่งสอนให้เยาวชนคนรุ่นหลังจดจำสิ่งเหล่านี้”
การสังหารหมู่นานกิงถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนมาจนทุกวันนี้ โดยปักกิ่งอ้างว่าญี่ปุ่นไม่เคยสำนึกผิดหรือไถ่โทษต่ออาชญากรรมอันเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในช่วงที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ายึดครองเอเชียตะวันออก
ทางการจีนระบุว่า มีพลเรือนและทหารราว 300,000 คนถูกกองทัพญี่ปุ่นสังหารและข่มขืนในช่วง 6 สัปดาห์หลังจากที่ญี่ปุ่นบุกยึดนครนานกิงได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ปี 1937
อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์ชาวต่างชาติบางคนประเมินยอดผู้เสียชีวิตเอาไว้ต่ำกว่านั้น หนึ่งในนั้นคือ โจนาธาน สเปนซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีน ซึ่งชี้ว่าน่าจะมีทหารและพลเรือนชาวจีนถูกสังหารไปเพียง 42,000 คน และมีสตรีประมาณ 20,000 คน ที่ถูกข่มขืน ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตลงหลังจากนั้น
ทั้งนี้ ไม่มีนักประวัติศาสตร์กระแสหลักคนใดปฏิเสธการเกิดขึ้นจริงของเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิง
โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์วันนี้ (4) ว่า ฮยากุตะ ซึ่งเป็นนักเขียนนวนิยายแนวขวาจัด มีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นของเขา
“ผมได้ทราบรายงานแล้ว แต่ผมคิดว่า (การแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล) ไม่ได้ละเมิดกฎหมายควบคุมการกระจายเสียงและโทรทัศน์ รัฐบาลจึงไม่ขอแสดงความเห็นในเรื่องนี้”