เอเอฟพี – โซเนีย คานธี ประธานพรรคคองเกรสอินเดีย ปฏิเสธเสียงเรียกร้องของลูกพรรคที่ต้องการให้เสนอชื่อ ราหุล คานธี บุตรชายของเธอ เป็นผู้แทนพรรคชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในศึกเลือกตั้งเดือนพฤษภาคมนี้ โดยอ้างว่าจะเป็นการกระทำที่ “ผิดธรรมเนียม”
เลขาธิการพรรคคองเกรสชี้ว่า โซเนีย ใช้สิทธิ์ “วีโต” มติที่เกือบจะเป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมาธิการพรรคเมื่อวานนี้ (16) ซึ่งต้องการให้ประกาศชื่อ ราหุล เป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ
“โซเนีย อธิบายว่า มันไม่ใช่ธรรมเนียมของพรรคเรา การที่พรรคอื่นประกาศตัวผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคคองเกรสจะต้องทำตาม” จานาร์ดัน ทวิเวที เลขาธิการพรรคคองเกรสซึ่งกุมเสียงขางมากในรัฐสภาอินเดีย ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
นาง คานธี ซึ่งเป็นนักการเมืองหญิงเชื้อสายอิตาลี ยังยืนยันกับลูกพรรคในวันนี้ (17) ว่า เธอจะไม่เปลี่ยนใจอย่างแน่นอน
“เราได้ตัดสินใจเรื่อง ราหุล กันไปแล้วเมื่อวานนี้ และนั่นคือคำตอบสุดท้าย” โซเนีย แถลงต่อที่ประชุมพรรค ท่ามกลางเสียงตะโกนแทรกขึ้นหลายครั้งว่า “เอา ราหุล เป็นนายกรัฐมนตรี!”
ประธานพรรคคองเกรสยังกล่าวเตือนสมาชิกพรรคซึ่งมาร่วมประชุมที่กรุงนิวเดลีวันนี้ (17) ว่า “เรามาเจอกันวันนี้เพื่อส่งสัญญาณว่า พรรคคองเกรสพร้อมแล้วสำหรับศึกเลือกตั้งที่รออยู่ข้างหน้า... มันจะเป็นการต่อสู้ระหว่างค่านิยมที่แตกต่าง มุมมองทางประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้ง และวิสัยทัศน์สำหรับอนาคต... มันจะเป็นการต่อสู้เพื่ออินเดีย”
แม้จะกุมอำนาจการเมืองมานานนับทศวรรษ แต่ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดกลับพบว่า เวลานี้พรรคคองเกรสมีคะแนนนิยมตกต่ำ และตามหลังคู่แข่งอย่างพรรคภารติยะชนะตะ (บีเจพี) อยู่มากพอควร เนื่องจากคนอินเดียรู้สึกเหนื่อยหน่ายที่รัฐบาลไม่สามารถกอบกู้เศรษฐกิจที่ซบเซาและแก้ปัญหาการคอร์รัปชันได้
นายกรัฐมนตรี มานโมฮัน สิงห์ ซึ่งครองเก้าอี้นายกฯอินเดียมาแล้ว 2 สมัย ประกาศจะเกษียณตัวเองหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม และเป็นที่คาดหมายกันว่า พรรคคองเกรสน่าจะประกาศให้นักการเมืองดาวรุ่งอย่าง ราหุล คานธี วัย 43 ปี เป็น “ว่าที่นายกฯ” ในการประชุมพรรควันนี้ (17) ทว่าความหวังดังกล่าวก็ต้องมีอันล่มสลาย เมื่อนาง คานธี ไม่เห็นด้วย
อย่างไรก็ดี ราหุล ยังคงมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคคองเกรส
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การที่พรรคภารติยะชนะตะรีบประกาศให้ นเรนทรา โมดี เป็นผู้ชิงเก้าอี้นายกฯ อาจจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมหลังเลือกตั้ง ซึ่งปัญหาเช่นนี้เองที่นาง คานธี พยายามจะหลีกเลี่ยง
สื่ออินเดียวิเคราะห์ว่า ผลสำรวจความคิดเห็นที่บ่งบอกว่าพรรคคองเกรสอาจจะ “พ่ายเลือกตั้ง” อย่างหมดรูป อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ครอบครัว คานธี ไม่ต้องการนำชื่อเสียงของ ราหุล เข้าไปเสี่ยง