xs
xsm
sm
md
lg

‘ญี่ปุ่น’จับมือ ‘สหรัฐฯ’บีบคั้น ‘จีน’ เรื่องเขตป้องกันภัยทางอากาศ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Japan, US squeeze China's ADIZ
By Richard Javad Heydarian
18/12/2013

จีนเดินหมากที่กลายเป็นการเสนอโอกาสงามๆ ให้ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ สามารถยกระดับฐานะทางยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของพวกเขาโดยแท้ ในเมื่อชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้กำลังคัดค้านต่อต้านภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางทะเลและเสรีภาพในการเดินเรือทะเล ซึ่งพวกเขามองว่าบังเกิดขึ้นจากการที่ปักกิ่งประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งวอชิงตันและโตเกียวต่างไม่ยอมเสียเวลาเลย ในการฉวยคว้าช่องทางที่จะเพิ่มพูนสายสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีอยู่กับฟิลิปปินส์และเวียดนาม สองประเทศอาเซียนซึ่งแสดงท่าทีหวั่นเกรงมากที่สุด ต่อสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการยั่วยุอย่างแข็งกร้าวของปักกิ่ง

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

มะนิลา – ในตอนสรุปการประชุมระดับสุดยอดกับญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เหล่ารัฐสมาชิก 10 ชาติของสมาคมอาเซียน ได้ร่วมกับเจ้าภาพของพวกเขา ในการประกาศคำแถลงร่วมซึ่งมีถ้อยคำที่แสดงนัยอย่างไม่ต้องตีความกันมาก ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่จีนเพิ่งประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone ใช้อักษรย่อว่า ADIZ) เหนืออาณาบริเวณทะเลจีนตะวันออก

เขต ADIZ ดังกล่าว ซึ่งปักกิ่งประกาศออกมาตอนปลายเดือนพฤศจิกายน ครอบคลุมรวมถึงพื้นที่ที่จีนกำลังพิพาทอยู่กับญี่ปุ่น และก็ได้รับการประณามตำหนิอย่างแรงทั้งจากเกาหลีใต้, ไต้หวัน, และสหรัฐฯ ปักกิ่งออกมาแก้ต่างโดยยืนยันว่า เขต ADIZ ของตนนี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และหลายๆ ชาติไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, หรือเกาหลีใต้ ต่างก็ได้ประกาศเขตเช่นนี้กันมาเป็นสิบๆ ปีแล้วทั้งนั้น

ในคำแถลงร่วมของสมาคมอาเซียนกับญี่ปุ่น ซึ่งออกมาจากการประชุมระดับผู้นำเนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีของการที่ทั้งสองฝ่ายมีสายสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันนั้น มีข้อความระบุว่า พวกเขาเห็นพ้องต้องกันที่จะ “ร่วมมือประสานงานกัน เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องเสรีภาพทางด้านการบิน และในเรื่องความปลอดภัยของการบินพลเรือน โดยสอดคล้องกับหลักการต่างๆ อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ”

คำแถลงฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลเบื้องลึกลงไปของชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ว่าจีนคงมีเจตนารมณ์ที่จะประกาศเขต ADIZ เหนืออาณาบริเวณของทะเลจีนใต้ด้วย โดยที่จะครอบคลุมถึงดินแดนต่างๆ ซึ่งแดนมังกรกำลังพิพาทช่วงชิงอยู่กับหลายๆ ชาติอาเซียน ขณะที่คำแถลงร่วมของผู้นำญี่ปุ่นและอาเซียนนี้ ไม่ได้มีข้อผูกมัดรูปธรรมใดๆ ต่อผู้ร่วมลงนาม แต่นักวิเคราะห์บางคนก็ให้ความเห็นว่า มันมีศักยภาพที่จะกลายเป็นหลักหมายหนึ่ง บนเส้นทางแห่งการเกาะกลุ่มรวมตัวเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาคแถบนี้ เพื่อรับมือกับจีน ในอนาคตต่อไปข้างหน้า

ขณะที่พวกชาติสมาชิกอาเซียนรู้สึกวิตกกังวลเป็นพิเศษ ในเรื่องที่ว่า เขต ADIZ ซึ่งเวลานี้จีนประกาศใช้เฉพาะในทะเลจีนตะวันออกนั้น จะมีผลกระทบต่อไปอย่างไรต่ออาณาบริเวณทะเลจีนใต้ เพราะถ้าหากปักกิ่งเคลื่อนไหวในทำนองเดียวกันนี้อีก ข้อพิพาททางดินแดนในทะเลจีนใต้ระหว่างแดนมังกรกับหลายๆ ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้นว่า ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ก็จะต้องยิ่งเขม็งเกลียวมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่ในส่วนของญี่ปุ่นนั้น ความสนใจเบื้องต้นที่สุด กลับอยู่ที่การใช้ความพยายามเพื่อให้เกิดการจับมือเป็นกลุ่มพันธมิตรระดับภูมิภาคกลุ่มใหม่ขึ้นมา โดยที่จุดมุ่งหมายหลักของกลุ่มพันธมิตรดังกล่าวนี้ก็คือการหาทางจำกัดขีดวงอำนาจอิทธิพลของจีน

ภายหลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนมีการเติบใหญ่อย่างเข้มแข็งมาเป็นเวลาหลายสิบปี บัดนี้โตเกียวก็กำลังแสดงท่าทีมุ่งมั่นที่จะเรียกคืนอิทธิพลซึ่งเคยมีอยู่ในอดีต ตลอดจนต้องการแสดงบทบาททางการพาณิชย์อันแข็งแกร่งของตนในภูมิภาคแถบนี้ให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าแดนอาทิตย์อุทัยยังคงมีรากฐานอันมั่นคงอยู่ไม่ใช้น้อยๆ นอกเหนือจากการมีฐานะครอบงำเหนือธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB) หน่วยงานให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อการพัฒนาระดับนานาชาติแห่งสำคัญที่สุดของภูมิภาคแถบนี้แล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่มาก ตลอดจนเป็นผู้ลงทุน และเป็นแหล่งให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนารายหลักรายหนึ่ง ของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหลาย

ไม่เพียงเท่านั้น ญี่ปุ่นยังเป็นชาติระดับแถวหน้าในการปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม ในเวลาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบภัยพิบัติร้ายแรงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤตพายุไต้ฝุ่น “ไห่เยี่ยน” ซึ่งพัดถล่มสร้างความเสียหายอย่างย่อยยับให้แก่พื้นที่ตอนกลางของฟิลิปปินส์เมื่อไม่นานมานี้ โตเกียวได้จัดส่งทั้งความช่วยเหลือทางการเงินเป็นมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, เรือรบ 3 ลำจากกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล (กองทัพเรือญี่ปุ่น), และสมาชิกกองกำลังป้องกันตนเอง (ทหารในกองทัพญี่ปุ่น) จำนวนราว 1,200 คน ไปยังแดนตากาล็อกเพื่อช่วยเหลือปฏิบัติงานบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูบูรณะต่างๆ ความพยายามต่างๆ เหล่านี้รวมกันแล้วก็กลายเป็นการปฏิบัติการเฉพาะกิจด้านมนุษยธรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่กองทัพญี่ปุ่นเคยจัดตั้งขึ้นมาในช่วงเวลาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทีเดียว

ตั้งแต่ที่ชนะการเลือกตั้งและกลับขึ้นมาครองอำนาจได้อีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 ในช่วงปลายปี 2012 คณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ก็แสดงความมุ่งมั่นที่จะสถาปนาญี่ปุ่นให้กลับขึ้นเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาค รวมทั้งยังมีความเคลื่อนไหวที่จะค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งมุ่งเน้นหนักความเป็นสันตินิยมอย่างมาก จนดูจะไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์โลกในปัจจุบัน รัฐบาลอาเบะยังเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยอาศัยนโยบายและมาตรการทั้งทางการเงินและการคลังซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องการขยายเศรษฐกิจ อาเบะนั้นระบุออกมาอย่างเปิดเผยชัดเจนว่า ส่วนสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งในแผนการของตนก็คือ ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแนวรบหลักแนวรบหนึ่งของแดนอาทิตย์อุทัย ในการต่อสู้ช่วงชิงกับแดนมังกร ทั้งนี้การต่อสู้ดังกล่าวนับวันทวีความดุเดือดเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

สัญญาณประการหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงจุดยืนที่แข็งกร้าวมากขึ้นของแดนอาทิตย์อุทัย ได้แก่การจัดทำยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติออกมาเป็นครั้งแรก โดยที่มีเนื้อครอบคลุมถึงการประเมินความต้องการทางการทหารของตนในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย เอกสารยุทธศาสตร์ดังกล่าวซึ่งนำออกเผยแพร่ในวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา กำหนดแผนดำเนินการสร้างกองทัพระยะเวลา 5 ปี โดยจุดสำคัญที่สุดก็คือการทำให้แดนอาทิตย์อุทัยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ในการดำเนินการควบคุมทั้งทางอากาศและทางทะเล ต่อดินแดนที่เกิดข้อพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนตะวันออก

ในเวลาเดียวกันนั้น ญี่ปุ่นก็ได้ยกระดับความผูกพันของตนที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในการประชุมสุดยอดที่โตเกียวซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อไม่กี่วันก่อน แดนอาทิตย์อุทัยเสนอให้เงินมูลค่า 19,400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะอยู่ในรูปของความช่วยเหลือและเงินกู้เพื่อการพัฒนา แก่เหล่าสมาชิกสมาคมอาเซียน ปรากฏว่าผู้นำของอาเซียนต่างแสดงความยินดีต่อข้อเสนอนี้ และเน้นย้ำว่าพวกเขาเฝ้ารอคอยให้ญี่ปุ่นแสดงบทบาทอันสำคัญมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ด้วย “การสร้างคุณูปการอย่างสร้างสรรค์ให้แก่สันติภาพ, เสถียรภาพ, และการพัฒนาในภูมิภาคนี้”

ความช่วยเหลือเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการแข่งขันท้าทายโดยตรงกับคำมั่นสัญญาทางด้านการค้าและการลงทุนมูลค่าระดับแสนๆ ล้านดอลลาร์ที่จีนให้ไว้ ณ การประชุมสุดยอดของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) และการประชุมสุดยอดของสมาคมอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องกันที่อินโดนีเซียและบรูไนตามลำดับตอนต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในซัมมิตทั้ง 2 คราวนั้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (ซึ่งเข้าร่วมซัมมิตเอเปกที่อินโดนีเซีย) และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง (ผู้เข้าร่วมซัมมิตอาเซียนที่บรูไน) ต่างกลายเป็นดาวดวงเด่นที่สุด ภายหลังการขาดหายไปอย่างน่าผิดหวังของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้ต้องประกาศงดเดินทางเยือนเอเชียไปทั้งทริป เพราะต้องอยู่ในกรุงวอชิงตัน คอยรับมือแก้ไขวิกฤต “ชัตดาวน์” ที่มีการปิดทำการหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯทั้งหลายเป็นการชั่วคราวอยู่หลายสัปดาห์

อาเบะ ซึ่งกำลังแสดงให้เห็นความมั่นอกมั่นใจอย่างน่าตื่นใจของเขา ในการเกลี้ยกล่อมชักชวนทั่วทั้งภูมิภาคให้ต่อต้านจีน ได้ใช้โอกาสการประชุมสุดยอดญี่ปุ่น-อาเซียนที่โตเกียว มาวิพากษ์วิจารณ์เขต ADIZ ของจีนอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา โดยระบุว่ามันเป็นมาตรการที่จะสร้างความไร้เสถียรภาพ ซึ่ง “ล่วงละเมิดอย่างไม่ชอบธรรมต่อเสรีภาพในการบินเหนือเขตทะเลหลวง” เขายังเสนอแนะที่จะจัดการประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น อย่างไม่เป็นทางการครั้งพิเศษ โดยที่จะเชื้อเชิญบรรดารัฐมนตรีกลาโหมของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ให้มาประชุมหารือกันในประเด็นต่างๆ ทางด้านความมั่นคง รวมทั้งประเด็นการรับมือกับความท้าทายที่บังเกิดขึ้นแบบผิดปกติธรรมดา เป็นต้นว่า การบรรเทาทุกข์ภัยพิบัติ

ปรากฏว่าทางด้าน หง เหล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกมาตอบโต้อย่างรวดเร็ว ด้วยการติเตียนนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอย่างแรงๆ โดยพูดถึงการแสดงความเห็นของอาเบะในคราวนี้ว่า อยู่ในลักษณะ “นินทาว่าร้าย” ขณะเดียวกัน โฆษกผู้นี้ก็กล่าวปกป้องการจัดตั้งเขต ADIZ ของจีนว่าเป็นมาตรการที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยจุดมุ่งหมายในการพิทักษ์คุ้มครองอำนาจอธิปไตยของแดนมังกร โดยที่มิได้มีการล่วงละเมิดวิธีปฏิบัติตลอดจนบรรทัดฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

ในส่วนท่าทีของสมาคมอาเซียนนั้น ยังคงอยู่ในรูปของการวางตัวเป็นกลางตามเช่นที่ได้เคยปฏิบัติมายาวนาน โดยที่ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้ปฏิเสธไม่ตอบสนองคำเชื้อเชิญของฝ่ายโตเกียว ที่จะให้มีการจัดประชุมซึ่งจะหารือกันในประเด็นทางการทหารล้วนๆ อาเซียนดูจะมีความหวั่นเกรงว่าเรื่องนี้อาจทำให้จีนบังเกิดความรู้สึกเป็นปรปักษ์ และกลายเป็นการทำลายความพยายามเป็นระยะเวลานานปีของพวกตน ในการสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างระมัดระวังกับเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ของภูมิภาครายนี้ ในเวลาเดียวกัน บรูไน ซึ่งเป็นประธานของสมาคมอาเซียนวาระปัจจุบัน ก็เสนอแนะให้ญี่ปุ่นมุ่งเน้นหนักที่เรื่องสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และลดระดับการพูดจาในเรื่องความร่วมมือกันทางด้านความมั่นคง

ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน ของอินโดนีเซีย ก็ออกมาแสดงท่าทีปรามๆ ญี่ปุ่น อย่าได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติและความคิดเห็นทางด้านกลาโหมของตนเองอย่างรวดเร็วและมีลักษณะยั่วยุ เขาเรียกร้องให้ญี่ปุ่นค่อยๆ พัฒนานโยบายการต่างประเทศของตนที่มีต่อภูมิภาคแถบนี้ “อย่างช้าๆ และโปร่งใส” เขาบอกด้วยว่า “การที่จีนกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน คือสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่ออนาคตของภูมิภาคของพวกเรา”

ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน เป็นนักวิเคราะห์กิจการต่างประเทศที่มีฐานอยู่ในมะนิลา โดยมีความสนใจเป็นพิเศษเรื่องทะเลจีนใต้และประเด็นปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ เขาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอาเตนีโอ เด มะนิลา (Ateneo De Manila University) และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง How Capitalism Failed the Arab World: The Economic Roots and the Precarious Future of the Middle East Uprisings ซึ่งมีกำหนดออกวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้สามารถติดต่อกับเขาทางอีเมลได้ที่ jrheydarian@gmail.com
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น