xs
xsm
sm
md
lg

‘ญี่ปุ่น’จับมือ ‘สหรัฐฯ’บีบคั้น ‘จีน’ เรื่องเขตป้องกันภัยทางอากาศ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Japan, US squeeze China's ADIZ
By Richard Javad Heydarian
18/12/2013

จีนเดินหมากที่กลายเป็นการเสนอโอกาสงามๆ ให้ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ สามารถยกระดับฐานะทางยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของพวกเขาโดยแท้ ในเมื่อชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้กำลังคัดค้านต่อต้านภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางทะเลและเสรีภาพในการเดินเรือทะเล ซึ่งพวกเขามองว่าบังเกิดขึ้นจากการที่ปักกิ่งประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งวอชิงตันและโตเกียวต่างไม่ยอมเสียเวลาเลย ในการฉวยคว้าช่องทางที่จะเพิ่มพูนสายสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีอยู่กับฟิลิปปินส์และเวียดนาม สองประเทศอาเซียนซึ่งแสดงท่าทีหวั่นเกรงมากที่สุด ต่อสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการยั่วยุอย่างแข็งกร้าวของปักกิ่ง

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**ประสานงานกัน “ปักหมุด”**

การที่สมาคมอาเซียนโดยองค์รวมปฏิเสธอย่างสุภาพต่อข้อเสนอที่จะจัดการประชุมหารือที่เน้นหนักเรื่องการทหารอย่างชัดเจน ไม่ได้มีผลบั่นทอนความสนใจของชาติสมาชิกบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิลิปปินส์และเวียดนาม ในการมองหาทางสร้างสายสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่หนักแน่นมั่นคงมากขึ้น เพื่อเพิ่มพูนสมรรถนะทางด้านป้องปรามของพวกเขาเองในการต่อต้านจีน จุดยืนอันแข็งกร้าวแบบเหยี่ยวของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น อันที่จริงแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจับกลุ่มเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคกันใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์หวนกลับคืนมา “ปักหมุดในเอเชีย” (pivot to Asia) ของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการจับตามองอย่างกว้างขวาง ว่าคือความพยายามที่จะขีดวงจำกัดเขตอิทธิพลที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นของจีน ตลอดจนขีดวงจำกัดความแข็งกร้าวในการเรียกร้องดินแดนของปักกิ่ง

วอชิงตันนั้นให้ความสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อความพยายามของญี่ปุ่นที่จะกลายเป็นมหาอำนาจที่มีอิสระมากยิ่งขึ้นในเอเชีย โดยที่วาดหวังว่าญี่ปุ่นจะเป็นมหาอำนาจภูมิภาคซึ่งสามารถถ่วงดุลคานอำนาจกับจีน และก็คอยช่วยเหลือพันธมิตรทางยุทธศาสตร์รายอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้นว่าฟิลิปปินส์กับเวียดนาม ในการรับมือกับสภาพแวดล้อมของภูมิภาคซึ่งกำลังไม่ปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐฯนั้นก็ได้ปฏิเสธอย่างสุดๆ ต่อการประกาศเขต ADIZ ของจีน โดยระบุว่ามันเป็นการท้าทายยั่วยุสั่นคลอนดุลแห่งอำนาจที่มีอยู่ในปัจจุบันของภูมิภาคแถบนี้

“การประกาศ (เขต ADIZ) ของจีน จะไม่มีผลกระทบกระเทือนอะไรต่อการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้” รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี (John Kerry) ของสหรัฐฯ แถลงในช่วงกลางเดือนธันวาคม ไม่นานนักหลังจากเกิดเหตุการณ์เรือรบของสหรัฐฯกับเรือรบของจีน เฉียด ๆจะชนกันในน่านน้ำของภูมิภาคเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา “(จีน)ไม่ควรที่จะบังคับใช้ (เขต ADIZ) และจีนควรหลีกเลี่ยงอย่าได้ลงมือปฏิบัติการแต่ฝ่ายเดียวทำนองเดียวกันนี้ในที่อื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้” เคร์รีบอก

ปักกิ่งยังไม่ได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างเปิดเผยต่อเหตุการณ์เรือรบเฉียดจะชนกันนี้ แต่หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ (Global Times) ที่เป็นของทางการจีน ได้รายงานข่าวเรื่องนี้ซึ่งสำนักข่าวเอพีได้นำมาอ้างอิงอีกต่อหนึ่ง ข่าวของสื่อแดนมังกรรายนี้อ้างว่า เรือรบของสหรัฐฯได้ก่อกวนเรือบรรทุกเครื่องบิน “เหลียวหนิง” ของจีน ด้วยการลอยลำเข้าไปจนใกล้เกินไป ในขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินของแดนมังกรลำนี้ กำลังอยู่ระหว่างการฝึกซ้อมกับพวกเรือสนับสนุนในหมู่เรือเดียวกัน รายงานข่าวนี้ระบุว่า เรือรบของสหรัฐฯได้เคลื่อนเข้าไปจนถึง “แนวป้องกันชั้นใน” ของหมู่เรือรบจีน ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมเลย

หลังจากที่อาเบะได้ออกมาเรียกร้องให้ชาติต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ใช้จุดยืนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รัฐมนตรีเคร์รีของสหรัฐฯก็ได้เดินทางไปเยือนเวียดนามและฟิลิปปินส์ในสัปดาห์นี้ ซึ่งแม้จะเป็นการเดินทางตามกำหนดการ แต่ก็กลายเป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวาง โดยที่เขาแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะล็อบบี้ 2 ชาตินี้ มาจับมือกับสหรัฐฯเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ที่มีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น นอกจากนั้นเขายังเน้นย้ำว่า วอชิงตันมีความมุ่งมั่นที่จะผูกพันทำตามพันธกรณีซึ่งมีอยู่กับบรรดาพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้

เคร์รียังสนับสนุนคำพูดของเขาด้วยเงินช่วยเหลือ โดยสัญญาให้เงิน 32.5 ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นความช่วยเหลือทางด้านการเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเลแก่เวียดนาม ในจำนวนนี้ 18 ล้านดอลลาร์จะใช้ในการจัดหาเรือตรวจการณ์เร็วเพื่อนำมาใช้ในกองกำลังรักษาชายฝั่งจำนวน 5 ลำ เคร์รีกล่าวถึงความช่วยเหลือที่วอชิงตันสัญญาจะให้นี้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนที่สหรัฐฯให้แก่บรรดาพันธมิตรในภูมิภาค โดยที่ความสนับสนุนนี้จะมี “การขยายตัวไปอย่างช้าๆ และรอบคอบ” และจะเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับเกิน 156 ล้านดอลลาร์ภายในช่วง 2 ปีข้างหน้า

“สันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ คือเรื่องที่มีสำคัญลำดับสูงสุดเรื่องหนึ่งสำหรับเราและสำหรับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้” เคร์รีกล่าวย้ำภายหลังการเจรจาหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศ ฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ (Pham Binh Minh) ของเวียดนาม “เรามีความกังวลเป็นอย่างยิ่ง และก็คัดค้านอย่างแรงกล้า ต่อยุทธวิธีแบบใช้กำลังบังคับและก้าวร้าว เพื่อผลักดันข้อเรียกร้องทางด้านดินแดน” เขากล่าว และพูดถึงการประกาศเขต ADIZ ของจีนว่า “ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในเรื่องที่อาจจะมีการคำนวณคาดการณ์อย่างผิดพลาดจนเกิดอันตราย หรือในเรื่องที่อาจจะมีอุบัติเหตุขึ้นมา”

ถัดจากนั้นเมื่อเขาเดินทางต่อไปยังฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นการเยือนแดนตากาล็อกเที่ยวแรกของเขานับตั้งแต่ขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เคร์รีได้พบหารือกับ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ (Albert Del Rosario) รัฐมนตรีต่างประเทศของฟิลิปปินส์ ผู้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันสุดๆ ให้สหรัฐฯแสดงบทบาททางยุทธศาสตร์ในเอเชียอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา นอกจากนั้นเขาได้เข้าเยี่ยมคำนับประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน (Benigno Aquino) ผู้ซึ่งได้ออกมากล่าววิพากษ์วิจารณ์อย่างแรงๆ ต่อการที่จีนประกาศเขต ADIZ

สำหรับเรื่องที่เกิดความชะงักงันในการเจรจาระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ว่าด้วยการที่แดนตากาล็อกจะอนุญาตให้ทหารอเมริกันหมุนเวียนเข้าไปใช้ฐานทัพเรืออ่าวซูบิก (Subic) และฐานทัพอากาศคลาร์ก (Clark) ได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยความติดขัดในเวลานี้อยู่ที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ว่ากองทหารและยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯซึ่งจะตั้งอยู่บนแผ่นดินฟิลิปปินส์จากการนี้ จะมีฐานะเช่นไรและถือเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใด ทั้งนี้เคร์รีแสดงท่าทีเร่งผลักดันให้ทำข้อตกลงกันโดยเร็ว และเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้แก่มะนิลา ระหว่างการเยือนคราวนี้ เคร์รีได้เสนอให้ความช่วยเหลือในด้านเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล และในด้านการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์แก่ฟิลิปปินส์ด้วย

การประกาศเขต ADIZ ของจีน คือการเดินหมากที่กลายเป็นการเสนอโอกาสงามๆ ให้ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ สามารถยกระดับฐานะทางยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของพวกเขาโดยแท้ และก็เป็นการเปิดช่องทางให้มหาอำนาจแปซิฟิก 2 รายนี้ยกระดับสายสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ระดับทวิภาคีที่พวกเขามีอยู่กับฟิลิปปินส์และเวียดนาม ในเวลาเดียวกับที่โน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้อาเซียนต่อต้านจีน ซึ่งทำท่าจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางทะเลและเสรีภาพในการเดินเรือทะเลในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่าแดนมังกรจะตอบโต้อย่างไร ต่อสิ่งที่ปักกิ่งมองเห็นว่า เป็นความพยายามแบบมีการประสานงานคล้องจองกันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อขีดวงจำกัดการก้าวผงาดขึ้นมาและการแผ่อิทธิพลของตน

ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน เป็นนักวิเคราะห์กิจการต่างประเทศที่มีฐานอยู่ในมะนิลา โดยมีความสนใจเป็นพิเศษเรื่องทะเลจีนใต้และประเด็นปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ เขาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอาเตนีโอ เด มะนิลา (Ateneo De Manila University) และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง How Capitalism Failed the Arab World: The Economic Roots and the Precarious Future of the Middle East Uprisings ซึ่งมีกำหนดออกวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้สามารถติดต่อกับเขาทางอีเมลได้ที่ jrheydarian@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น