เอเอฟพี – นายกรัฐมนตรีโทนี แอ็บบอตต์ ของออสเตรเลียตกเป็นข่าวฉาววันนี้ (8 ต.ค.) กรณีใช้สิทธิการเป็นส.ส.เพื่อเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ไม่เหมาะสมหลายรายการ ขณะที่เขายังคงออกมาแก้ตัวเรื่องที่ตนใช้เงินภาษีราษฎรเพื่อเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันคนเหล็ก (ไตรกีฬา) ตลอดจนงานประเภทอื่นๆ
ประเด็นฉาวนี้กำลังลุกลามอย่างรวดเร็วทีเดียวสำหรับแอ็บบอตต์ ผู้เพิ่งชนะเลือกตั้งและได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง อีกทั้งเคยให้คำมั่นว่า จะเป็นผู้นำของรัฐบาลที่ “อยู่อย่างพอเพียง” ขณะเข้าร่วมการประชุมซัมมิตเอเปกที่ประเทศอินโดนีเซีย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาสมัครใจชดใช้ค่าเดินทางราว 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 50,526 บาท) ที่เขาเบิกมาเพื่อไปร่วมพิธีแต่งงานของอดีตเพื่อนร่วมงาน 2 คนในปี 2006
เขาทำเช่นนี้ หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์สมาชิกอาวุโสของพรรคร่วมรัฐบาล 2 คน ที่ถูกเปิดโปงว่าใช้เงินภาษีของประชาชนหลายพันดอลลาร์เพื่อไปร่วมงานแต่งของผู้จัดรายการของสถานีวิทยุคนหนึ่ง
ทั้งนี้มีการเปิดโปงว่า หนึ่งในงานแต่งที่แอ็บบอตต์ได้อ้างสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางนั้นเกี่ยวข้องกับ ปีเตอร์ สลิปเปอร์ อดีตประธานรัฐสภา ผู้ซึ่งเมื่อปีที่แล้วถูกสอบสวนอย่างเข้มข้น ในข้อหาเบิกค่าโดยสารรถแท็กซี่เพื่อไปเยี่ยมชมโรงทำไวน์ในกรุงแคนเบอร์ราโดยไม่ชอบ เหตุการณ์นี้ได้จุดชนวนให้มีการกล่าวหานายกฯ แอ็บบอตต์ ว่าเป็นพวกมือถือสากปากถือศีล
ในวันนี้ (8) สื่อมวลชนของออสเตรเลียยังได้เปิดเผยอีกด้วยว่า แอ็บบอตต์ ผู้เลื่องชื่อในเรื่องการแสดงตัวเป็นชายชาตรีได้ใช้เงินภาษีเกือบ 1,232 ดอลลาร์ (ราว 38,625 บาท) สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าที่พักขณะไปเข้าร่วมแข่งขันคนเหล็กเมื่อปี 2011 ซึ่งผู้เข้าแข่งขันต้องเข้าร่วมทั้งการแข่งวิ่ง ขี่จักรยาน และว่ายน้ำ
นอกจากนี้ รายงานระบุว่าเขายังได้เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเพื่อใช้จ่ายในการเดินทางและเป็นค่าตั๋วเครื่องบินเพื่อเข้าร่วมใน “พอลลีเพดัล” อยู่เป็นประจำ ทั้งนี้พอลลีเพดัลเป็นทริปขี่จักรยานการกุศลไปในภูมิภาคต่างๆ ของออสเตรเลียที่กินเวลานานหลายวัน
ในวันนี้ (8) แอ็บบอตต์ได้ออกมาเน้นย้ำว่า การที่ประชาชนออกค่าเดินทางให้เขาไปร่วมงานการกุศล และการแข่งขันกีฬาระดับชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่ “ชอบธรรมโดยสมบูรณ์”
“ผมเชื่อว่าการใช้สิทธิทั้งหมดของผมอยู่ในขอบเขตของอำนาจหน้าที่” เขากล่าวกับนักข่าวขณะเข้าร่วมการประชุมซัมมิตเอเปก โดยเสริมว่า “สิ่งที่ยอดเยี่ยมมากของพอลลีเพดัลก็คือ มันทำให้ผมได้ไปในเมืองและ ชุมชนต่างๆ ซึ่งบางครั้งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้พบนักการเมืองมาก่อน”
แต่ด้วยกระแสอื้อฉาวที่บานปลายออกไป เขายอมรับว่า “คนเราควรระมัดระวัง และมีความรอบคอบ เมื่อพวกเขาอ้างตำแหน่งหน้าที่ หากมีข้อสงสัยอะไรก็ตามเกิดขึ้นพวกเขาควรไขข้อข้องใจเพื่อความสบายใจของผู้เสียภาษี”
ทางด้านหนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการที่ระบุว่า รัฐบาลของแอ็บบอตต์ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งด้วยการให้สัญญาว่าจะไม่กล่าวแก้ตัว “แต่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ พวกเขากลับต้องออกมาแก้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ”
“เมื่อเกิดมีข้อสงสัยขึ้นมา แน่นอนว่าผลประโยชน์ของผู้เสียภาษีจะต้องมาก่อนผลประโยชน์ส่วนตัว” บทบรรณาธิการเรียกร้อง