xs
xsm
sm
md
lg

“เอเปก” ห่วงวิกฤตยุโรปฉุด ศก.โลก แต่ยังฮึ่มใส่กันเรื่องดินแดนในทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรดาผู้นำของ 21 ระบบเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกกลุ่มเอเปก ซึ่งเข้าร่วมการประชุมประจำปีกันที่เมืองวลาดิวอลสต็อก ประเทศรัสเซีย ถ่ายภาพร่วมกันตามธรรมเนียมเมื่อวันอาทิตย์(9)
เอเจนซีส์ - บรรดาผู้นำเอเชีย-แปซิฟิกประกาศในที่ประชุมซัมมิตของกลุ่มเอเปกว่า จะต่อสู้กับลัทธิกีดกันการค้า พร้อมให้คำมั่นออกมาตรการกระตุ้นการเติบโต เพื่อฟื้นเศรษฐกิจโลกที่กำลังเสียหลักจากวิกฤตยูโรโซนและความท้าทายอื่นๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ดี แม้มีความคืบหน้าในการเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้า แต่ประเด็นการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเลในเอเชีย กลับฟ้องถึงความขัดแย้งของเหล่าสมาชิกสำคัญ

21 ระบบเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ซึ่งรวมถึง 3 ชาติเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก ได้แก่ อเมริกา จีน และญี่ปุ่น ได้ปิดฉากการประชุมระดับผู้นำซึ่งจัดขึ้นที่เมืองวลาดิวอสต็อก ทางตะวันออกของรัสเซียเมื่อวันอาทิตย์ (9)

ในคำแถลงร่วม เอเปกประกาศส่งเสริมอุปสงค์ภายในระบบเศรษฐกิจของตนเอง ลดหนี้สาธารณะ และงดเว้นการสร้างอุปสรรคทางการค้าใหม่ๆ

ขณะที่ในการขึ้นเวทีเมื่อวันอาทิตย์ ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาของจีน กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญความกดดันขาลง แต่รับปากว่าปักกิ่งจะผลักดันเศรษฐกิจภายในประเทศและส่งเสริมการเติบโตของโลก พร้อมประกาศโครงการลงทุนมูลค่า 57,000 ล้านดอลลาร์ในภาคเกษตรกรรม พลังงาน ทางรถไฟ และถนนหนทาง

ด้านเจ้าภาพ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ทุ่มเงิน 20,000 ล้านดอลลาร์ปรับปรุงวลาดิวอสต็อก เพื่อโชว์ว่าประเทศของเขามีความกระตือรือร้นที่จะขยายการค้ากับเอเชีย ได้เรียกร้องเมื่อวันเสาร์ (8) ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุม ให้เหล่าผู้นำในเอเปกสามัคคีกันและทำลายอุปสรรคการค้า ห้ามการจำกัดการส่งออกอาหาร เพื่อส่งเสริมพัฒนาการในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกโดยรวม

ในคำแถลงร่วมหลังซัมมิตเอเปกคราวนี้ ที่ประชุมยังได้รับรองมาตรการลดภาษีนำเข้าพวกสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม 54 รายการ ให้เหลือไม่เกิน 5% ภายในปี 2015

คำแถลงร่วมของที่ประชุมคราวนี้สะท้อนให้เห็นความกังวลของเหล่าผู้นำระบบเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกเหล่านี้ ต่อความท้าทายและความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งตลาดการเงินยังคงเปราะบาง หลายประเทศรวมทั้งพวกชาติเศรษฐกิจชั้นนำด้วย ก็มีอัตราส่วนหนี้สาธารณะสูง
เห็นได้อย่างชัดเจนว่า วิกฤตหนี้ยุโรปกำลังส่งผลกระทบต่อการเติบโตในเอเปก ซึ่งรวมกันแล้วเป็นผู้ครอบครองมูลค่าการค้าโลกเกือบครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี ผู้นำเอเปกแสดงความยินดีที่ยุโรปให้สัญญาว่าจะดำเนินมาตรการทั้งหมดที่จำเป็น เพื่อป้องกันการล่มสลายของสหภาพการเงินยุโรป
เช่นเดียวกัน คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่เข้าร่วมประชุมเมื่อวันอาทิตย์ ส่งสัญญาณสนับสนุนธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในการแก้ไขวิกฤตด้วยแผนการเข้าซื้อพันธบัตรสกุลยูโรแบบไม่จำกัดมูลค่า พร้อมแสดงความสนใจให้ไอเอ็มเอฟเข้าไปมีบทบาทในการออกแบบและตรวจสอบแผนการดังกล่าว

ผู้นำเอเปกยังรับปากที่จะเดินหน้าอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาดให้เร็วขึ้น และยับยั้งการดึงค่าเงินให้อ่อนลงเพื่อประโยชน์ในการแข่งขัน

ทั้งนี้ จีนมักตกเป็นเป้าหมายการกล่าวหาของสหรัฐฯ ว่ามีเจตนาตรึงค่าเงินหยวนให้ต่ำเกินจริงเพื่อทำให้สินค้าออกมีราคาถูกในตลาดโลก ซึ่งปักกิ่งปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาตลอด

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เด่นชัดจากซัมมิตเอเปกปีนี้อีกประการหนึ่งก็คือ ข้อพิพาทด้านดินแดนกำลังบดบังวาระการประชุมทางการค้า นายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะของญี่ปุ่น ได้งดเว้นการหารือตามธรรมเนียมปฏิบัติกับประธานาธิบดีอี มย็อง บั๊ค ของเกาหลีใต้ ถึงแม้ในที่สุดแล้ว โนดะได้พูดจาทวิภาคีแบบไม่มีกำหนดการมาก่อน กับประธานาธิบดีหู ของจีน เป็นเวลา 15 นาที

สื่อมวลชนญี่ปุ่นรายงานว่า โนดะบอกกับหูว่า ญี่ปุ่นหวังที่จะพัฒนาความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นประโยชน์แก่กันและกันกับฝ่ายจีน และเขาวางแผนจะรับมือกับความสัมพันธ์ในปัจจุบันจาก “ทัศนะมุมมองแบบรอบด้านหลากหลายมิติ”

ส่วนสื่อจีนรายงานว่า หูกล่าวกับโนดะตรงๆ ว่า “สถานการณ์อันร้ายแรง” กำลังเกิดขึ้นในหมู่เกาะพิพาท ที่จีนเรียกว่า เตี้ยวอี๋ว์ ส่วนญี่ปุ่นเรียกว่าเซ็งกากุ โดยที่จีนคัดค้านแผนการของรัฐบาลโนดะที่จะซื้อหมู่เกาะนี้จากผู้ครอบครองที่เป็นเอกชนญี่ปุ่น หูบอกว่า “จีนจะปกป้องอธิปไตยของตนอย่างแน่วแน่มั่นคง ญี่ปุ่นต้องตระหนักถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ และไม่ตัดสินใจอย่างผิดๆ”
ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ก็ระอุขึ้นจากกรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน บรูไน และมาเลเซีย ที่ล้วนเป็นสมาชิกเอเปก ต่างอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่ โดยปักกิ่งนั้นไม่พอใจที่วอชิงตันพยายามล็อบบี้ให้มีการตกลงระเบียบปฏิบัติทางทะเลในแบบพหุภาคี

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยด้วยว่า ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เข้าประชุมแทนประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยังได้หารือเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องหมู่เกาะที่ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ช่วงชิงกันอยู่ กับโนดะ และประธานาธิบดี

คลินตันกล่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดเอเปกว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกประเทศจะต้องพยายามลดความขัดแย้งและส่งเสริมวิธีการทางการทูต เนื่องจากเอเชีย-แปซิฟิกเป็นพลังสำคัญของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง เธอยังเรียกร้องให้โซลและโตเกียวลดดีกรีความขัดแย้งเรื่องดินแดนลง

นอกจากนี้ คลินตันยังหารือกับปูติน 15 นาที และพูดคุยกันตลอดงานเลี้ยงอาหารค่ำวันเสาร์ โดยในการประชุมอย่างเป็นทางการ คลินตันและปูตินได้หารือเกี่ยวกับวิกฤตในซีเรีย ซึ่งทั้งคู่มีความเห็นขัดแย้งกันรุนแรงเกี่ยวกับการกดดันประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดที่เป็นพันธมิตรของมอสโก
กำลังโหลดความคิดเห็น