xs
xsm
sm
md
lg

‘ออสเตรเลีย’เสียมากกว่าได้ ถ้าจับมือ ‘สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น’ ต้าน ‘จีน’ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เบรนดัน โอไรลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Canberra risks more by crossing China
By Brendan O'Reilly
16/12/2013

ออสเตรเลียว่องไวมากในการออกมาวิพากษ์โจมตี การที่จีนประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศในทะเลจีนตะวันออก สมกับที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “นายอำเภอ” ของอเมริกาในภูมิภาคแถบนี้ทีเดียว แต่ถ้าหากแดนจิงโจ้ต้องการที่จะอยู่ในฐานะเช่นนั้นต่อไป ตลอดจนพออกพอใจกับการเป็น “เพื่อนมิตรที่ดีที่สุด” ของญี่ปุ่นแล้ว ก็คงจะต้องพบว่าตนเองมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดเขม็งเกลียวกับจีน ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมีความมุ่งมาดปรารถนาในทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างสูง แคนเบอร์รากับปักกิ่งคงจะต้องมีบาดเจ็บเสียหาย เมื่อเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้นมา ทว่า ความเป็นจริงย่อมมีอยู่ว่า ออสเตรเลียนั่นแหละจะเป็นฝ่ายสูญเสียมากกว่า

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับชาติคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของตนเวลานี้ อยู่ในสภาพที่ไม่ดีเอาเสียเลย พวกประเทศพันธมิตรทางการเมืองที่คบค้ากันมายาวนานของแดนจิงโจ้ กำลังเริ่มต้นขัดแย้งกลายเป็นคนละขั้วกันกับแดนมังกร ที่เป็นชาติซึ่งเอื้ออำนวยผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้แก่แคนเบอร์ราได้มากที่สุด ในท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มทวีขึ้นในทะเลจีนตะวันออก และเศรษฐกิจของจีนก็ยังคงสามารถขยับขยายต่อไปได้อย่างแข็งแกร่ง ถึงแม้อาจจะอยู่ในอัตราเติบโตต่ำที่สุดของพวกเขาในรอบระยะเวลา 23 ปีก็ตามที

ปักกิ่งในอดีตที่ผ่านมาไม่มากนัก ได้เคยถูกกล่าวหาโจมตีว่า พยายามอาศัยความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมาผลักดันหนุนส่งเป้าหมายทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของตนเอง [1] และพวกผู้นำจีนก็อาจหวนกลับมาใช้ยุทธศาสตร์เช่นนั้นอีกครั้งหนึ่ง ถ้าหากพวกเขาเกิดความรู้สึกรำคาญโกรธเกรี้ยวมากเพียงพอ เนื่องจากมีความเข้าใจมีความรับรู้ไปว่า ออสเตรเลียเข้ามาสอดแทรกจุ้นจ้านในกรณีพิพาททางดินแดนที่จีนมีอยู่กับประเทศอื่นๆ

มีเพียงออสเตรเลียกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ซึ่งเป็นพวกประเทศที่มิได้มีเขตแดนประชิดติดต่อกับจีน แต่ได้ออกมาประณามปักกิ่งอย่างเปิดเผย จากการที่แดนมังกรประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone ใช้อักษรย่อว่า ADIZ) ในทะเลจีนตะวันออกเมื่อเร็วๆ นี้ เขต ADIZ ดังกล่าวของจีนครอบคลุมไปถึงน่านฟ้าเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ ซึ่งจีนก็อ้างกรรมสิทธิ์ด้วย ทว่าญี่ปุ่นเป็นผู้ปกครองบริหารอยู่

หลังจากที่ปักกิ่งประกาศเขต ADIZ แล้ว แคนเบอร์ราก็ได้เรียกเอกอัครราชทูตจีนประจำออสเตรเลียไปพบเพื่อยื่นหนังสือประท้วง รัฐมนตรีต่างประเทศ จูลี บิช็อป (Julie Bishop) ของแดนจิงโจ้ ยังได้ออกมาตำหนิติเตียนความเคลื่อนไหวของฝ่ายจีน โดยกล่าวว่า “ช่วงจังหวะเวลาในการประกาศ ตลอดจนมารยาทวิธีการในการประกาศเรื่องนี้ของจีน ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย เมื่อพิจารณาจากความตึงเครียดระดับภูมิภาคที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งจะไม่มีส่วนร่วมในการสร้างเสถียรภาพระดับภูมิภาคขึ้นมา ... ออสเตรเลียนั้นแสดงออกซึ่งท่าทีอันสามารถเห็นอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า ตนเองคัดค้านการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมในเอเชียตะวันออก ด้วยวิธีการใช้กำลังบังคับ หรือด้วยการปฏิบัติการตามอำเภอใจฝ่ายเดียว [2]

ปรากฏว่าพวกเจ้าหน้าที่จีนได้ตอบโต้ด้วยการประณามออสเตรเลีย ที่ “กำลังเลือกเข้าข้าง (ญี่ปุ่น) ” ในกรณีพิพาททางดินแดนระหว่างปักกิ่งกับโตเกียว อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ (Tony Abbott) ของออสเตรเลีย ไม่ได้แสดงอาการสำนึกเสียใจหรือขอโทษขอโพยใดๆ เลย แถมยังพูดยืนยันอย่างตรงไปตรงมาว่า “เราคือพันธมิตรที่เข้มแข็งของสหรัฐฯ เราคือพันธมิตรที่เข้มแข็งของญี่ปุ่น เรามีทัศนะความคิดเห็นอันแรงกล้ายิ่งที่ว่า บรรดาข้อพิพาทระหว่างประเทศนั้นควรที่จะหาทางตกลงกันโดยสันติวิธี และโดยสอดคล้องกับหลักนิติธรรม และถ้าหากเราคิดว่าคุณสมบัติดังกล่าวเหล่านี้มิได้บังเกิดขึ้นในที่ใด หรือไม่ได้กำลังเกิดขึ้นมาอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว เราก็จะพูดแสดงความคิดเห็นของเราออกมา” แอบบ็อตต์ยังพูดปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับความวิตกกังวลที่ว่าท่าทีเช่นนี้ของออสเตรเลียอาจจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แดนจิงโจ้มีอยู่กับแดนมังกร โดยกล่าวว่า “การที่จีนทำการค้าขายกับเรานั้น ก็เพราะมันเป็นผลประโยชน์ของจีนเอง พวกเขาจึงมาค้าขายกับเรา” [3]

**การเดินทางเยือนจีนของ รมว.ต่างประเทศออสซี่**

การที่ออสเตรเลียออกมาประณามการจัดตั้งเขต ADIZ ของจีน กลายเป็นการสร้างเงาทะมึนขึ้นมาบดบังเที่ยวเดินทางไปยังประเทศจีนของรัฐมนตรีต่างประเทศบิช็อป ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนแดนมังกรเที่ยวปฐมฤกษ์ของเธอ ภายหลังเข้ารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียเสียด้วย ทั้งนี้ระหว่างที่เธออยู่ในปักกิ่งนั้น ทางรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน เกี่ยวกับจุดยืนของออสเตรเลียในประเด็นเรื่องเขต ADIZ โดยเขากล่าวว่า “ทั้งคำพูดและการกระทำของออสเตรเลียต่อประเด็นที่จีนสถาปนาเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศในทะเลจีนตะวันออกนั้น ได้สร้างความเสียหายให้แก่ความไว้วางใจในกันและกัน และกระทบกระเทือนพัฒนาการอย่างมีสุขภาพดีของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง” [4]

บิช็อปพยายามลดทอนน้ำหนักของการพิพาทกันคราวนี้ และมุ่งเน้นโฟกัสไปที่เรื่องกิจการทางเศรษฐกิจ โดยเมื่อพูดพาดพิงถึงข้อขัดแย้งเกี่ยวกับเขต ADIZ เธอก็บอกว่า “เราเดินหน้าต่อไปสู่ประเด็นปัญหาร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งบดบังประเด็นระดับภูมิภาคดังกล่าว” [5] สิ่งที่น่าขันก็คือเธอบอกว่าในบรรดา “ประเด็นปัญหาร้ายแรงอื่นๆ ” ที่เธอได้พูดคุยหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีนนั้น ได้แก่เรื่อง อิหร่าน, ซีเรีย, เกาหลีเหนือ และแน่นอนทีเดียว เรื่องความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันด้วย

ออสเตรเลียกับจีนกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากันเพื่อจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) โดยที่ได้เริ่มต้นหารือกันมาตั้งแต่ปี 2005 แล้ว นายกรัฐมนตรีแอบบ็อตต์ ผู้เข้าดำรงตำแหน่งในเดือนกันยายนปีนี้ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะก่อตั้งเขตเอฟทีเอใหม่ๆ กับประเทศต่างๆ ขึ้นมาอีก 3 เขตภายในระยะเวลา 1 ปีนับแต่ที่เขาได้รับเลือกตั้ง และจนกระทั่งถึงขณะนี้ได้ทำสำเร็จไปแล้ว 1 เขต โดยที่แดนจิงโจ้บรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับเกาหลีใต้ไปแล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ในการเดินทางเยือนปักกิ่งเที่ยวนี้ ภายหลังจากเข้าพบหารือกับรองประธานาธิบดี หลี่ หยวนเฉา ของจีนแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศบิช็อปได้แสดงอาการเริงร่าเกี่ยวกับโอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีการลงนามกันในข้อตกลงเอฟทีเอจีน-ออสเตรเลีย โดยเธอกล่าวว่า “มีโอกาสอย่างมากมายที่จะให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของพวกเราได้ขยายตัวอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นและหยั่งรากลึกมากขึ้น ตลอดจนกระจายตัวออกไปมากขึ้นอีก รวมทั้งมีความเป็นไปได้อย่างมากสำหรับข้อตกลงการค้าเสรีที่กำลังหารือกันอยู่ อันที่จริงแล้ว ท่านรองประธานาธิบดีได้ระบุว่า ท่านคิดว่าพวกเรามีโอกาสที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกันได้ในอนาคตอันใกล้เหลือเกินนี้” [6]

**”การค้าออสเตรเลีย-จีน”สำคัญแค่ไหน**

การที่นายกรัฐมนตรีแอบบ็อตต์ มีความเชื่อมั่นยืนกรานว่า จีนทำการค้าขายกับออสเตรเลียก็เนื่องจากมันเป็นผลประโยชน์ของแดนมังกรเองนั้น เป็นความคิดเห็นที่ถูกต้องแบบสุดๆ ปริมาณการค้าระหว่างประเทศทั้งสองได้เพิ่มขึ้นอย่างมโหฬารในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หากใช้ตัวเลขแบบคร่าวๆ ก็พูดได้ว่าขยายตัวขึ้นมา 10 เท่าตัว เนื่องจากเศรษฐกิจที่กำลังเติบใหญ่รุ่งเรืองของจีน มีความต้องการวัตถุดิบต่างๆ เป็นต้นว่า แร่เหล็ก, ถ่านหิน อย่างมหาศาล ทำให้จีนมีฐานะเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ด้วยปริมาณการซื้อสินค้าแดนจิงโจ้ชนิดที่ทิ้งอันดับรองๆ ลงมาไกลโข

อย่างไรก็ตาม การค้าที่จีนทำกับออสเตรเลียมีมูลค่าเท่ากับเพียงราวๆ 1.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน ขณะที่การค้าซึ่งออสเตรเลียทำกับจีนมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 8.4% ของมูลค่าของเศรษฐกิจแดนจิงโจ้ เราจึงสามารถกล่าวได้ว่า จีนนั้นทำการค้าขายกับออสเตรเลียเนื่องจากมองเห็นผลประโยชน์ ทว่าออสเตรเลียทำการค้ากับจีนเนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำ เหมืองถ่านหินและฟาร์มเลี้ยงวัวนั้นมีกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วโลก แต่ในปัจจุบันไม่มีประเทศไหนเลยที่หากนำเอาขนาดของเศรษฐกิจมาบวกกับอัตราการขยายตัวแล้ว จะสามารถเทียบเคียงได้กับจีน

เรื่องการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศก็กำลังขยายตัวไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปเยือนออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 17.3% ทีเดียวในปีที่ผ่านมา นักเดินทางเหล่านี้สร้างรายได้จำนวน 4,500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ให้แก่เศรษฐกิจแดนจิงโจ้ [7]

ตามข้อมูลของรายงานการวิจัยฉบับหนึ่งซึ่งจัดทำโดย แอลเลน คอนซัลติ้ง (Allen Consulting) ปริมาณการค้าที่แดนจิงโจ้ทำกับจีนในแต่ละปี เมื่อกระจายออกตามจำนวนครัวเรือนชาวออสซี่แล้ว จะมีมูลค่ามากกว่า 12,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อครัวเรือน [8] สภาวการณ์เช่นนี้ทำให้เรามองเห็นภาพว่า ถ้าหากสองประเทศนี้เกิด “สงครามการค้า” ใดๆ ขึ้นมาแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างก็จะได้รับบาดเจ็บได้รับความเสียหาย ทว่าออสเตรเลียจะเป็นฝ่ายที่สูญเสียมากกว่าอย่าง ไม่ต้องสงสัย ถ้าหากปักกิ่งต้องการแผ่อิทธิพลบารมีด้วยการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจของตน และเชื่อมโยงการบูรณาการทางเศรษฐกิจใดๆ ก็ตามที เข้ากับจุดยืนทางด้านยุทธศาสตร์ของออสเตรเลียแล้ว แคนเบอร์ราก็คงจะพบว่าตนเองอยู่ในฐานะที่ยากลำบากมาก

เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ oreillyasia@gmail.com.
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น