เอเอฟพี – อิสราเอล จอร์แดน และปาเลสไตน์ได้ลงนามข้อตกลงแบ่งปันน้ำใช้ร่วมกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ธนาคารโลก กรุงวอชิงตันวานนี้ (9 ธ.ค.) โดยการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยปกป้องทรัพยากรน้ำในภูมิภาค ที่มีความต้องการใช้น้ำในปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ แห่งนี้
โครงการนี้ตั้งเป้าที่จะสร้างโรงผลิตน้ำจืดแห่งใหม่ขึ้นมาในเมืองอะกาบา ของจอร์แดน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดของข้อตกลงแลกเปลี่ยนแบ่งปันน้ำ ระหว่างทั้งสามประเทศฉบับนี้
“การทำข้อตกลงนี้ทำให้เราพอมีความหวังมากขึ้นในการรับมือกับอุปสรรคที่จะผ่านเข้ามาในอนาคต” ซิลวาน ชาโลม รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและทรัพยากรน้ำของอิสราเอลกล่าวในพิธีลงนาม
“เราแสดงให้เห็นว่ายังสามารถทำงานร่วมกันได้ แม้ว่าจะมีปัญหาทางการเมืองกันก็ตาม” ชัดดัด อัตตีลี รัฐมนตรีกระทรวงชลประทานปาเลสไตน์กล่าว
ภายหลังที่เจรจาร่วมกันมานานถึง 11 ปี ในที่สุดทั้งสามชาติก็บรรลุข้อตกลงร่วมกัน ในเวลาที่สหรัฐฯ กำลังผลักดันความพยายามอีกครั้ง ให้อิสราเอลและปาเลสไตน์ทำสนธิสัญญาสันติภาพร่วมกัน
ตามข้อตกลงนี้ ซึ่งมีการร่วมลงนาม ที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารโลก ในกรุงวอชิงตัน จอร์แดนจะจัดหาน้ำจืดปริมาตร 50 ล้านลิตร ให้แก่เมืองตากอากาศเอลัต ที่อยู่ติดกับทะเลแดง ในเขตอิสราเอล
ขณะที่รัฐยิวจะต้องจัดหาน้ำจากทะเลกาลิลี ในปริมาณเดียวกัน ให้กับทางเหนือของจอร์แดน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน
นอกจากนี้ อิสราเอลจะเพิ่มปริมาณการขายน้ำต่อปีให้กับทางการปาเลสไตน์ขึ้นอีกราว 20 ถึง 30 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่ขาย 52 ล้านลูกบาศก์เมตรในแต่ละปี
สำหรับ ธนาคารโลกแถลงว่า โครงการนี้ “มีการจำกัดระดับปริมาณ และออกแบบมาเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ จัดหาน้ำให้กับภูมิภาคที่ขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง และเปิดโอกาสให้มีการทดสอบผลที่ได้จากการนำน้ำในทะเลแดง และทะเลเดดซีมาผสมกัน โดยที่มีการติดตามตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์”
ชาโลม แถลงว่า จะมีการเปิดประมูลให้นานาชาติเข้ามาก่อสร้างโรงผลิตน้ำจืดในเมืองอะกาบา และวางท่อลำเลียงน้ำสายแรกในสี่สายของโครงการนี้
อย่างไรก็ตาม องค์กรสิ่งแวดล้อมทีมีชื่อว่า “มิตรของโลกตะวันออกกลาง” (FoEME) ท้วงติงว่า ตามแผนการอย่างคร่าวๆ โครงการนี้จะประสบกับปัญหาร้ายแรงหลายประการ เป็นต้นว่า การรับมือกับน้ำเค็มจากโรงผลิตน้ำจืด โดยที่โครงการนี้วางแผนที่จะทดลองนำน้ำเค็มกับน้ำจืดในทะเลเดดซีมาผสมกัน
กิดอน บรอมเบิร์ก ผู้อำนวยการขององค์กรนี้ ซึ่งเป็นชาวอิสราเอล ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จากการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า การนำน้ำเค็มจากทะเลแดงมาใส่ในทะเลเดดซีจะ “ส่งผลกระทบซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย” ต่อระบบนิเวศอันเปราะบางของทะเลเดดซี
“นอกจากนี้ จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำจืดที่อะกาบาเพิ่มสูงขึ้นอีก 30 เปอร์เซ็นต์ และองค์กรรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมก็จะพากันออกมาประท้วง” เขาชี้