เอเอฟพี - รัฐบาลโคลอมเบียและผู้แทนกลุ่มกบฏฟาร์กบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินทำกิน ซึ่งถือเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญที่อาจนำไปสู่การปิดฉากความขัดแย้งที่มีมานานเกือบ 50 ปี
ข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ชนบท รวมถึงจัดสรรที่ดินทำกินแก่คนยากจน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้กองกำลังปฏิวัติโคลอมเบีย หรือกบฏฟาร์ก (FARC) ก่อตั้งขบวนการต่อสู้ตามแบบคอมมิวนิสต์ และเริ่มก่อความไม่สงบขึ้นในปี 1964
อุมแบร์โต เด ลา กัลเล หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาของรัฐบาลโคลอมเบียย้ำว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับก็ต่อเมื่อการเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพลุล่วงทั้งฉบับ ซึ่งเขาเชื่อว่าจะเป็น “การเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นการเกิดใหม่ของชนบทโคลอมเบีย”
รัฐบาลโบโกตาสัญญาว่าจะดำเนินการสร้างระบบสาธารณูปโภคและบริการต่างๆ ในพื้นที่ชนบท เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านสังคมและเศรษฐกิจในโคลอมเบีย
“สิ่งที่เราตกลงกันในครั้งนี้ คือ รัฐบาลจะเริ่มปฏิรูปชนบทและชุมชนเกษตรกรรมของโคลอมเบียครั้งใหญ่ โดยยึดหลักความเท่าเทียมและประชาธิปไตย” แถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลโคลอมเบียและกบฎฟาร์กระบุ หลังจากทั้ง 2 ฝ่ายได้เปิดเวทีเจรจาเป็นครั้งที่ 9 ที่กรุงฮาวานาของคิวบา ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ผู้แทนกบฏฟาร์กย้ำว่า สาระสำคัญบางประการในข้อตกลงปฏิรูปที่ดินทำกิน “จำเป็นต้องนำกลับมาพูดคุยอีกครั้ง ก่อนจะมีลงนามสนธิสัญญาสันติภาพ” และชี้ว่า “ประชาชนยังสามารถกระทำการหรือระดมมวลชน เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองได้”
ทั้งนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยว่ารัฐบาลโคลอมเบียจะหยิบยื่นที่ดินให้แก่ฝ่ายกบฎมากน้อยเท่าใด โดย เด ลา กัลเล กล่าวแต่เพียงว่าจะเป็นการชดเชยและตัดสินให้กรรมสิทธิ์ที่ดิน “แก่คนยากจนในชนบท โดยเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจะไม่เสียทรัพย์สินของตน”
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงความชื่นชมต่อข้อตกลงดังกล่าว โดยโฆษกประจำตัวเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คีมูน ชี้ว่า “เป็นความสำเร็จและพัฒนาการก้าวสำคัญ”
การต่อสู้ของกบฏฟาร์กซึ่งถือเป็นเหตุความไม่สงบที่ยืดเยื้อที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา เป็นเหตุให้ชาวโคลอมเบียกว่า 100,000 คนถูกสังหารและอีกหลายล้านคนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ และทุกวันนี้ก็ยังเกิดเหตุรุนแรงอยู่ประปราย แม้ผู้แทนรัฐบาลและกบฏจะมีการเจรจากันอย่างต่อเนื่องก็ตาม