xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลออสเตรเลียเนรเทศหุ้นส่วน “วิกเตอร์ บูท” ไปดำเนินคดีที่สหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ริชาร์ด เอ. ชิชากลี
รอยเตอร์ - หุ้นส่วนชาวอเมริกัน-ซีเรียของพ่อค้าอาวุธสงคราม วิกเตอร์ บูท ถูกรัฐบาลออสเตรเลียส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐฯ เพื่อสู้คดีวางแผนซื้อเครื่องบินโดยฝ่าฝืนคำสั่งคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ อัยการสหรัฐฯเผยวานนี้(24)

ริชาร์ด อัมมาร์ ชิชากลี มีกำหนดขึ้นให้การต่อศาลแขวงรัฐบาลกลางในย่านแมนฮัตตันในวันนี้(25) ตามถ้อยแถลงจาก พรีท บารารา อัยการประจำศาลแขวงใต้แห่งรัฐนิวยอร์ก

ชิชากลี ถูกตั้งข้อหาวางแผนฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ (International Emergency Economic Powers Act -IEEPA), ฟอกเงิน, วางแผนฉ้อโกงผ่านระบบสาย (wire fraud) รวมถึงข้อหาฉ้อโกงผ่านระบบสายอีก 6 กระทง ซึ่งหากศาลพบว่ามีความผิดจริงทั้งหมด ชิชากลี อาจถูกตัดสินจำคุกถึง 180 ปี

“จากการถูกเนรเทศในวันนี้ จะทำให้เขาถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรระหว่างประเทศ และข้อหาอาชญากรรมอื่นๆ เขาจะถูกนำตัวสู่กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับ วิกเตอร์ บูท” บารารา กล่าว

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า ชิชากลี ผู้นี้เป็นหุ้นส่วนใกล้ชิดกับ บูท หรือที่รู้จักในฉายาว่า “พ่อค้าความตาย” จากการที่เขาเต็มใจจัดส่งอาวุธครามให้แก่ผู้นำทหารหรือใครก็ตามที่มีปัญญาจ่ายเงินให้ได้ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา

เมื่อปี 2011 บูท ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานวางแผนจำหน่ายอาวุธแก่กองทัพปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย หรือกลุ่มกบฏฟาร์ก (FARC) และกำลังรับโทษจำคุก 25 ปีอยู่ในสหรัฐฯ

ก่อนจะถูกตำรวจรวบตัวได้ในไทย บูท เคยเป็นผู้นำในการลักลอบค้าอาวุธข้ามชาติ โดยใช้เครื่องบินขนส่งอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหารล็อตใหญ่ไปส่งยังดินแดนต่างๆซึ่งกำลังเป็นสมรภูมิการต่อสู้ที่รุนแรง

ชิชากลี ยังมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ ชาร์ลส เทย์เลอร์ อดีตประธานาธิบดีเผด็จการแห่งไลบีเรีย ผู้ตกเป็นอาชญากรสงครามในคดีเพชรสีเลือด

อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ ออกคำสั่งเมื่อปี 2004 ห้ามบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ เทย์เลอร์ ทำธุรกรรมการเงินในสหรัฐฯ คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับต่อ บูท ในทันที และขยายไปถึง ชิชากลี ในปี 2005 ต่อมาบุคคลทั้งสองได้เปิดบริษัทในนามบุคคลอื่นเพื่อบังหน้า รวมถึงบริษัท ซามาร์ แอร์ไลนส์ ตามที่ระบุเอกสารของศาล

อัยการระบุว่า เมื่อปี 2007 ซามาร์ แอร์ไลนส์ ได้สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้งจำนวน 2 ลำจากบริษัทในสหรัฐฯ และโอนเงินกว่า 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านธนาคารในนิวยอร์กไปยังบัญชีของบริษัทการบินดังกล่าว อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังได้สั่งอายัดเงินทุนที่ถูกโอนไปยังบัญชีของบริษัทการบิน หลังสืบทราบว่า ชิชากลี มีส่วนพัวพันกับธุรกรรมการเงินครั้งนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น