xs
xsm
sm
md
lg

ตัวเลขเงินเฟ้อยูโรโซนยังไม่ลด ส่งสัญญาณ ศก.ยุโรปยังเปราะบาง คาดปีหน้า “อีซีบี” อาจใช้ “ยาแรง” แก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) คาด ตัวเลขเงินเฟ้อในกลุ่มยูโรโซนหรือกลุ่ม 17 ชาติที่ใช้ “เงินยูโร” เป็นเงินตราสกุลหลัก ยังคงไม่ลดลง ถือเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมต่ออีซีบีให้ต้องเร่งหาทางดำเนินนโยบายใหม่ๆ ในปีหน้า เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจของยุโรป ตลอดจน หาทางรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ

รายงานข่าวล่าสุดที่มีการเผยแพร่ผ่านทางสำนักงานใหญ่ของอีซีบี ที่ตั้งอยู่ในนครแฟรงค์เฟิร์ตของเยอรมนีระบุว่า อัตราเงินเฟ้อโดยรวมของกลุ่มยูโรโซนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอาจอยู่ที่ระดับ 0.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 0.7 เปอร์เซ็นต์ในเดือนตุลาคม

และถือเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อทางอีซีบีให้ต้องพิจารณาออกมาตรการแก้ปัญหาที่มีความเข้มข้นมากกว่าที่เป็นอยู่ แม้ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของเดือนพฤศจิกายนที่ 0.9 เปอร์เซ็นต์นั้น จะลดลงจากระดับ 2.2 เปอร์เซ็นต์ของเมื่อเดือนมกราคม

อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดกันว่า ที่ประชุมเชิงนโยบายนัดสุดท้ายของอีซีบีในปีนี้ ที่กำลังเปิดฉากจะไม่มีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม หลังจากที่ทางอีซีบีได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดเมื่อเดือนที่แล้ว ด้วยการตัดลดอัตราดอกเบี้ยหลักลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.25 เปอร์เซ็นต์

ด้านแหล่งข่าวซึ่งใกล้ชิดกับมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป ชาวอิตาเลียน วัย 66 ปี ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งบอสใหญ่ของอีซีบีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2011 ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ดรากี อาจพิจารณาออกมาตรการใหม่ที่มีความเข้มข้นมากขึ้นในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อใน 17 ชาติยูโรโซนในปีหน้า ซึ่งอาจรวมถึงการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยสำคัญ

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของอีซีบีมีขึ้น หลังจากที่สำนักงานสถิติแห่งยุโรป (ยูโรสแต็ท) ออกมาเปิดเผยรายงานฉบับล่าสุดซึ่งระบุว่า อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของกลุ่มยูโรโซนในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ที่สิ้นสุดไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการขยายตัวแบบต่ำเตี้ยติดดินเพียง 0.10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

อัตราการเติบโตเพียง 0.10 เปอร์เซ็นต์ เป็นการบ่งชี้ว่าภาวะทางเศรษฐกิจของกลุ่ม 17 ประเทศยูโรโซนที่เป็นบ้านของประชากรกว่า 330 ล้านคนนั้นยังอยู่ในภาวะเปราะบางและแทบไม่สามารถสร้างการเติบโตได้ด้วยตนเอง หากปราศจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะจากรัฐบาลของเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ที่มีส่วนแบ่งการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจรวมกันมากกว่า 74 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของยูโรโซน
กำลังโหลดความคิดเห็น