เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ชาวอิตาเลียนออกโรงในวันเสาร์ (23) โดยระบุ ไม่ขัดข้อง หากประเทศในยุโรปจะเริ่มลดทอนความเข้มงวดของ “มาตรการรัดเข็มขัด” ทางเศรษฐกิจลงในเวลานี้
ดรากี วัย 66 ปี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งประธานอีซีบี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2011 กล่าวระหว่างเข้าร่วมการประชุมของผู้ว่าการธนาคารกลางจากทั่วโลกที่หุบเขา “แจ็คสัน โฮล” ในมลรัฐไวโอมิงของสหรัฐฯในวันเสาร์ (23) โดยยอมรับว่า ที่ผ่านมา การบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวดในหลายประเทศทั่วยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่ม “ยูโรโซน” ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง จนทำให้เกิดคำถามตามมามากมายถึงความจำเป็นของการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในระยะยาว
“ในขณะนี้ ผมเชื่อว่า ยุโรปได้ตระหนักแล้วว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันไปให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นจากผลพวงของมาตรการรัดเข็มขัดที่บังคับใช้ในแต่ละประเทศ แต่เราจะแก้ปัญหาการว่างงานให้ลุล่วงอย่างยั่งยืนมิได้เลย ตราบใดที่เรายังคงมาตรการเข้มงวดเหล่านี้ไว้ และทางอีซีบีเองจะไม่ขัดขวาง หากประเทศสมาชิกของเราจะลดทอนมาตรการรัดเข็มขัด เพื่อกระตุ้นการเติบโต และการจ้างงาน” ดรากี กล่าว
อย่างไรก็ดี ประธานธนาคารกลางยุโรป ย้ำว่า ยังคงมีความสุ่มเสี่ยงที่เศรษฐกิจของยุโรปซึ่งยังคงเปราะบาง อาจต้องเผชิญกับวิกฤตรอบใหม่ หากทุกประเทศหันหลังให้กับมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อสร้างวินัยทางการเงินการคลังอย่างสิ้นเชิง และหันไปทุ่มเทกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างบ้าคลั่งเพียงเพื่อสร้างการเติบโต และลดจำนวนผู้ว่างงาน
“อนาคตของยุโรปจะถูกคุกคามอย่างสำคัญ หากทุกประเทศในภูมิภาคพากันละทิ้งการรักษาวินัย และหวนคืนสู่เส้นทางการใช้จ่ายโดยขาดความรอบคอบ เพียงเพื่อหวังผลระยะสั้นในการสร้างการเติบโต และแก้ปัญหาการว่างงาน” ดรากี กล่าวเสริม
ทั้งนี้ ท่าทีล่าสุดของประธานธนาคารกลางยุโรปมีขึ้น หลังมีการยืนยันว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเยอรมนี และฝรั่งเศส ที่เป็นหัวเรือใหญ่ของกลุ่มยูโรโซนเริ่มเข้าสู่ภาวะ “ชะลอตัว” ขณะที่เศรษฐกิจของอิตาลีได้กลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง