รอยเตอร์ – ชาติสมาชิก “ไอเอ็มเอฟ” เห็นพ้องจำเป็นต้องใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก พร้อมเรียกร้องรัฐบาลประเทศต่างๆ งดขัดขวางอัตราเติบโตด้วยการนำเอามาตรการรัดเข็มขัดที่รุนแรงเกินไปมาใช้ กระนั้นก็ตาม เยอรมนีซึ่งเป็นผู้ที่ยืนกรานในเรื่องการใช้มาตรการเข้มงวดที่สุด ยังคงไม่เชื่อว่า “วิกฤต” ครั้งใหม่ของโลกกำลังเริ่มก่อตัวขึ้นมาแล้ว
ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังระส่ำระสาย ภูมิภาคยูโรโซนมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย และแม้แต่จีนยังเติบโตชะลอตัว คณะกรรมการกำหนดนโยบายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จึงระบุว่า การมุ่งเน้นการเติบโตเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกในขณะนี้
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าคณะกรรมการการเงินและการคลังระหว่างประเทศ แถลงในนามสมาชิก 188 ชาติของไอเอ็มเอฟ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมประจำภาคฤดูใบไม้ร่วงที่กรุงวอชิงตันในวันเสาร์ (4 ต.ค.) ว่า ประเทศมากมายกำลังเผชิญแนวโน้มอัตราเติบโตของเศรษฐกิจลดต่ำหรือชะลอตัว ขณะที่อัตราว่างงานก็สูงลิบในระดับที่ยอมรับไม่ได้
ในรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับล่าสุด ที่นำออกเผยแพร่ในช่วงก่อนเริ่มต้นการประชุมที่กรุงวอชิงตันคราวนี้ ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกประจำปีปัจจุบัน จากที่เคยให้ไว้ ณ 3.4% ลงมาอยู่ที่ 3.3% ถือเป็นการปรับลดครั้งที่ 3 แล้วในรอบปีนี้ โดยระบุว่าเนื่องจากการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของทั่วโลก ภายหลังจากวิกฤตการเงินโลกปี 2007-2009 กำลังมีแนวโน้มลดต่ำลง ถึงแม้ธนาคารกลางชั้นนำของทั่วโลกอัดฉีดเงินสดจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบก็ตาม
ไอเอ็มเอฟชี้ว่า ยุโรปเป็นภูมิภาคที่น่าเป็นห่วงที่สุด และเรื่องนี้ยังได้รับการตอกย้ำโดยบรรดาผู้วางนโยบาย นักเศรษฐศาสตร์ และนักลงทุนมากมาย ที่ร่วมอยู่ในงานประชุมของไอเอ็มเอฟคราวนี้
อย่างไรก็ตาม พวกเจ้าหน้าที่ยุโรปพยายามคลายความวิตกเรื่องนี้ โดยที่ มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) บอกว่า ผลด้านลบของการใช้มาตรการคุมเข้มทางการคลังในยูโรโซนอย่างเข้มงวด ซึ่งถูกกล่าวโทษว่าเป็นตัวขัดขวางไม่ให้เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวนั้น เวลานี้เริ่มอ่อนแรงลงแล้ว ขณะที่ วูล์ฟกัง ชอเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนี กล่าวปฏิเสธความคิดที่ว่า เมืองเบียร์ ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 1 ในยุโรป มีความเสี่ยงที่จะประสบภาวะถดถอย เขาบอกด้วยว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอให้คิดว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญวิกฤต
กระนั้น คณะกรรมการกำหนดนโยบายไอเอ็มเอฟ ยังคงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ใช้นโยบายการคลังที่ยืดหยุ่น ทว่าความพยายามในการหาทางผ่อนคลายเพื่อให้ฝรั่งเศสมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ในการปรับยอดขาดดุลงบประมาณของตนให้อยู่ภายในเป้าหมายของสหภาพยุโรป (อียู) นั้น ถูกขัดขวางจากการยืนกรานของเมืองเบียร์ว่า ข้อตกลงว่าด้วยความเหมาะสมทางการคลังของยอียู เป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และอียูจะไม่อนุมัติให้เงินช่วยเหลือใหม่ๆ
ขณะเดียวกัน แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดูเจิดจรัสที่สุดบนเรดาร์เศรษฐกิจโลกอันมืดมน จนดึงดูดนักลงทุนให้แห่ซื้อสกุลเงินดอลลาร์ ทว่า การที่แดนอินทรีมีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำเช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของค่าแรง กำลังบ่งชี้ว่าภาวะฟื้นตัวของอเมริกาอยู่ในอัตราเชื่องช้าที่สุดนับจากช่วงหลังสงครามโลกและยังไม่สามารถกระตุ้นอุปสงค์ได้ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลมากขึ้นว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะบ่อนทำลายการเติบโตของสหรัฐฯด้วยเช่นกัน
สแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตอกย้ำความเสี่ยงดังกล่าว ด้วยการยอมรับในที่ประชุมของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) ซึ่งเป็นองค์การของพวกธนาคารและสถาบันการเงินภาคเอกชนรายยักษ์ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจทำให้แผนการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดต้องล่าช้าออกไป
คำแถลงของ คณะกรรมการกำหนดนโยบายไอเอ็มเอฟ เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ดำเนินแผนการปฏิรูปตลาดแรงงานและสวัสดิการสังคมชนิดที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในทางการเมือง เพื่อเปิดทางให้มีการนำเม็ดเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างงานและกระตุ้นการเติบโตให้มีความยั่งยืน
ทาร์มาน ชานมูกะรัตนัม ประธานของคณะกรรมการชี้ว่า เป้าหมายสำคัญของคณะกรรมการคือ การมองไปข้างหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นจริงสูงมาก ที่ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตในระดับต่ำกว่าศักยภาพเป็นระยะเวลายาวนาน
คณะกรรมการยังเรียกร้องให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ระมัดระวังในการสื่อสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความตื่นตระหนกในตลาด คำแถลงนี้แม้ไม่ได้ระบุชื่อโดยตรง แต่ดูเหมือนคำเตือนนี้มีเป้าหมายไปที่เฟด ที่จะสิ้นสุดโครงการซื้อคืนพันธบัตรในเดือนนี้ และคาดว่า จะเริ่มขยับขึ้นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอันดับต่อไปในประมาณกลางปีหน้า