เอเอฟพี – นักวิเคราะห์ต่างชาติชี้ แม้กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะเรียกร้องให้ทหารอยู่เคียงข้างประชาชนในการโค่นล้ม “ระบอบทักษิณ” แต่เหตุจลาจลวุ่นวายที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองไทยนับตั้งแต่กองทัพยื่นมือเข้ามาก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2006 ยังเป็นเสมือนฝันร้ายที่ทำให้บรรดาผู้นำกองทัพต้อง “คิดหนัก” หากประวัติศาสตร์จะต้องซ้ำรอย
ประเทศไทยต้องเผชิญกับเหตุประท้วงไม่หยุดหย่อนหลังการโค่นอำนาจ ทักษิณ มหาเศรษฐีโทรคมนาคมซึ่งใช้อำนาจทางการเมืองก่อร่างสร้างฐานเสียงรากหญ้าจนเหนียวแน่น ในขณะที่ชนชั้นกลางและผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศต่างมองว่าบุคคลผู้นี้ทั้ง “โกงกิน” และประสงค์ร้ายต่อสถาบันเบื้องสูง
แม้การรัฐประหารจะทำให้อำนาจตกมาอยู่ในมือกองทัพ แต่เพียง 1 ปีให้หลัง พลพรรคของ ทักษิณ ก็กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้อีกจากการชนะเลือกตั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความคับแค้นใจต่อกลุ่มฝ่ายค้านที่วันนี้ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนร่วมใจขจัด “ระบอบทักษิณ” ออกไปจากประเทศ และตั้ง “สภาประชาชน” ขึ้นมาบริหารแทน
สัปดาห์นี้ กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำ ได้บุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจบริหาร หลังจากเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเหตุปะทะในกรุงเทพมหานครทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายราย
ในขณะที่สถานการณ์การชุมนุมเสี่ยงเลยเถิดจนควบคุมไม่ได้ กองทัพจึงได้ส่งทหารไร้อาวุธหลายร้อยนายสนธิกำลังกับตำรวจเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย และยังรับบทคนกลางเชิญนายกฯยิ่งลักษณ์ และนายสุเทพ เข้าเจรจาสงบศึกกันในวันอาทิตย์ (1)
มาตรการยืดหยุ่นของบรรดาผู้นำกองทัพดูเหมือนจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้บ้าง โดยวานนี้ (3) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ก็ได้ออกมายืนยันอีกครั้งว่า กองทัพต้องการให้ภาคการเมืองแก้ไขปัญหากันเอง
แหล่งข่าวระดับสูงซึ่งใกล้ชิดการประชุมเจรจาเมื่อวันอาทิตย์ (1) ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า ผู้บัญชาการทั้ง 3 เหล่าทัพต่างปฏิเสธที่จะหนุนหลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์
“ท่านผู้บัญชาการทั้ง 3 เหล่าทัพไม่มีใครเข้าข้างรัฐบาล... ท่านกล่าวว่า หากรัฐบาลใช้ความรุนแรงกับประชาชน กองทัพก็ต้องเลือกอยู่ข้างประชาชน” เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม กล่าว
ผศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพมองว่าทหารมีหน้าที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงพยายามคืนความสงบเรียบร้อยให้บ้านเมืองก่อนถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคมนี้
“ก่อนหน้านี้กองทัพพยายามมาโดยตลอดที่จะไม่ยุ่ง และอยู่เหนือความขัดแย้งครั้งนี้ แต่เวลานี้ผมคิดว่าทหารกำลังถูกดึงให้เข้ามามีส่วนคลี่คลายปัญหามากขึ้น ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่แกนนำผู้ประท้วงต้องการ” อ.ฐิตินันท์กล่าว
อย่างไรก็ตาม อ.ฐิตินันท์ย้ำว่า ทหารก็ทราบดีว่าการเข้าแทรกแซง “อาจนำไปสู่เหตุจลาจลวุ่นวายบนท้องถนนที่รุนแรงยิ่งขึ้น”
นักวิเคราะห์ชี้ว่า แม้ประเทศไทยจะเคยเกิดความพยายามก่อรัฐประหารมาแล้วทั้งสิ้น 18 ครั้ง ซึ่งสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง นับตั้งแต่เริ่มใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี 1932 แต่กองทัพก็ตระหนักดีว่า หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีกครั้งจะยิ่งฉุดประเทศชาติให้ดำดิ่งลงสู่วังวนแห่งความขัดแย้งที่ยากจะแก้ไขได้
แอนดรูว์ วอล์กเกอร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ระบุว่า “การก่อรัฐประหารเมื่อปี 2006 ถือว่าล้มเหลว เพราะกระตุ้นให้อิทธิพลทางการเมืองของทักษิณเข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งจะไม่เป็นเช่นนี้ หากวันนั้นกองทัพไม่เข้ามาแทรกแซง”
การประท้วงขับไล่รัฐบาลครั้งนี่ถือว่ารุนแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2010 ซึ่งจบลงด้วยปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ของทหารซึ่งทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตไปกว่า 90 ราย
วอล์กเกอร์ยังชี้ว่า กลุ่มคนเสื้อแดงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาสามารถปลุกระดมมวลชนจากต่างจังหวัดนับหมื่นๆ คนให้เดินทางมารวมกันที่สนามราชมังคลากีฬาสถานได้
“หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ปฏิกิริยาตอบโต้จากกลุ่มคนรักทักษิณจะคึกคัก ล้นหลาม และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงด้วย กองทัพคงไม่กล้าเสี่ยงอย่างแน่นอน”
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ซึ่งก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียง 1 ปีหลังจากที่กลุ่มเสื้อแดงบุกยึดย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพมหานคร ดูเหมือนจะได้รับการยอมรับจากกองทัพบ้างไม่มากก็น้อย แต่ พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า การปรับย้ายนายทหารเมื่อเดือนตุลาคมทำให้ทหารรอยัลลิสต์ได้เข้ามาคุมตำแหน่งสำคัญๆ ในกองทัพเพิ่มขึ้น
“ผมคิดว่าพวกผู้นำกองทัพซึ่งไม่เอาทักษิณอยู่แล้ว กำลังทำเหมือนเมื่อครั้งเกิดการชุมนุมคนเสื้อเหลืองเมื่อปี 2008 นั่นก็คือ อยู่เฉยๆ ไม่ช่วยเหลืออะไร” แชมเบอร์สระบุ