xs
xsm
sm
md
lg

Focus : สื่อนอกชี้ “นิรโทษกรรมสุดซอย” ทำ รบ.เพื่อไทยตกต่ำ-จับตาการเมืองไทย “ยุ่งเหยิง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – นักวิเคราะห์ต่างชาติมองการเมืองไทยกำลังเข้าสู่ภาวะยุ่งเหยิงอลเวงอีกครั้ง โดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องเผชิญทั้งกลยุทธ์โจมตีจากฝ่ายค้าน รวมไปถึงกระแสต่อต้านจากมวลชนที่ทยอยเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อขับไล่ระบอบทักษิณ

ในวันพรุ่งนี้ (24) คาดว่าจะมีประชาชนทั้งที่เกลียดชังรัฐบาลเพื่อไทย และกลุ่ม “คนเสื้อแดง” ที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาเดินขบวนประชันกันในกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับเป็นการแสดงพลังทางการเมืองบนท้องถนนครั้งใหญ่ที่สุด ถัดจากเหตุชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

พรรคเพื่อไทยซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแทนอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กำลังตกที่นั่งลำบาก หลังล้มเหลวในการผลักดันร่างกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับที่นอกจากจะทำให้ศัตรูของทักษิณออกมาขวางสุดลิ่มทิ่มประตูแล้ว แม้แต่คนเสื้อแดงบางกลุ่มเองก็ยังรับไม่ได้

“เราจะได้เห็นความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ” ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกรณีที่มาของ ส.ว. ซึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเสนอให้ ส.ว.ทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้ง

“เวลานี้การประท้วงของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนั้นเข้มแข็งมากพอที่จะขัดขวางนโยบายของรัฐได้ และในเมื่อรัฐบาลไม่สามารถจะปฏิบัติตามนโยบายของตนเอง ผมคิดว่าวัฏจักรของการเลือกตั้งกำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว” อ.ฐิตินันท์ระบุ

ประเทศไทยเกิดการแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายและมีการเดินขบวนประท้วงของกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ถูกโค่นอำนาจโดยการรัฐประหารของกองทัพเมื่อ 7 ปีก่อน

ผู้สังเกตการณ์การเมืองมองว่า วิกฤตการณ์ครั้งล่าสุดนี้มีชนวนเหตุจากความไม่พอใจของสังคมต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่พรรคเพื่อไทยเสนอ ซึ่งหากประกาศใช้ก็จะทำให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ถูกลบล้างความผิด และเดินทางกลับประเทศไทยได้อย่างสง่างาม แต่ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้กลุ่มบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ฆาตกร” สลายชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 พ้นผิดไปด้วย

ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกฝ่ายค้านโจมตีอย่างรุนแรง และนำมาซึ่งการเดินขบวนประท้วงที่ยังไม่ยุติลงง่ายๆ แม้ว่าวุฒิสภาจะลงมติคว่ำร่างไปแล้วก็ตาม

คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่มา ส.ว. ถือเป็นความพ่ายแพ้ซ้ำสองของพรรคเพื่อไทย แม้จะยังไม่ถึงขั้นถูกยุบพรรคเหมือนกรณีพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนก็ตาม

ล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านยังเรียกร้องให้น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับบรรดา ส.ส.และ ส.ว.312 คน ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ขณะที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์เองก็ต้องเตรียมตัวรับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า

“คำตัดสินของศาลสื่อให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมของฝ่ายรอยัลลิสต์ที่จะโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงให้ได้ด้วยกระบวนการทางกฎหมายที่มีอยู่ โดยค่อยๆ บั่นทอนความแข็งแกร่งของพรรคเพื่อไทยไปทีละน้อย” พอล แชมเบอร์ส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสากลศึกษาระบุ

นักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่ศาลไม่ยอมรับร่างแก้ไขรัฐธรรมมนูญกรณีที่มา ส.ว. ก็เพราะไม่ต้องการให้ระบอบทักษิณสามารถขยายอิทธิพลควบคุมได้ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อย่างไรก็ดี ต่อให้วิกฤตการเมืองครั้งนี้บีบคั้นจนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ก่อนอยู่ครบเทอมในปี 2015 ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยก็ยังคงเหนียวแน่นพอที่จะชนะเลือกตั้งได้อยู่ดี

“คนไทยส่วนใหญ่พร้อมที่จะโหวตให้พรรคของทักษิณ แต่เวลานี้ยังไม่เหมาะที่จะยุบสภา เพราะความนิยมของพรรคเพื่อไทยกำลังตกต่ำถึงขีดสุด” แชมเบอร์สให้ความเห็น

การผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทำให้คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยรู้สึกผิดหวังกับรัฐบาล เพราะไม่ต้องการให้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่พัวพันกับการสลายชุมนุมเมื่อปี 2553 จนทำให้คนเสื้อแดงล้มตายไปกว่า 90 ชีวิต พลอยได้อานิสงส์พ้นผิดไปด้วย

ไมเคิล มอนเตซาโน นักวิเคราะห์จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ ชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถือเป็นสัญญาณ “สงบศึก” ระหว่างทักษิณกับศัตรูของเขา “โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นสูงหลายคน”

อย่างไรก็ดี การที่คนไทยทุกหมู่เหล่าออกมาคัดค้าน รวมไปถึงเสียงประณามจากคนเสื้อแดงเอง ก็แสดงให้เห็นว่า ชนชั้นปกครองเหล่านี้ยังไม่อาจควบคุมมวลชนที่หนุนหลังพวกเขาอยู่ได้เต็มที่

“ชนชั้นสูงที่อยู่เบื้องหลังการเมืองในประเทศไทยไม่สามารถควบคุมมวลชนได้อยู่หมัดเหมือนที่ผ่านๆ มา” มอนเตซาโนกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น