xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยต่างชาติเทียบชุมนุมไทย-ยูเครน ชี้สหรัฐฯ หรี่ตาเข้าข้างรบ.ยิ่งลักษณ์-ทักษิณเพราะมีผลประโยชน์ร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แอคทิวิสต์โพสต์ - นักค้นคว้าวิจัยทางการเมืองชาวสหรัฐฯ เขียนบทความลงบนเว็บไซต์แอ็กทิวิสต์โพสต์ เปรียบเทียบการประท้วงในยูเครนและไทย ระบุจุดยืนของชาติตะวันตกต่อเรื่องนี้ไร้มาตรฐานอย่างชัดเจน โดยจะมองว่าการชุมนุมเป็นเรื่องดีก็ต่อเมื่อตนเองมีส่วนได้ประโยชน์เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับหลักนิติรัฐหรือประชาธิปไตยตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

ในบทความเรื่อง A Tale of Two Protests: Ukraine and Thailand นายโทนี คาตาลัคซี นักค้นคว้าวิจัยทางการเมืองและนักเขียนชาวอเมริกัน รวมทั้งยังเป็นนักวิจัยภูมิศาสตร์ทางการเมือง เกริ่นว่าในขณะที่ชาติตะวันตกแสร้งแสดงบทบาทสนับสนุนผู้ประท้วงฝ่ายสนับสนุนอียูในยูเครน แต่อีกด้านหนึ่งก็กลับตำหนิผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลไทยที่ได้รับการหนุนหลังจากอเมริกา ทั้งที่ทั้งสองก็มีพฤติกรรมแบบเดียวกัน

นายโทนีระบุว่า เมื่อมีคำถามว่าการประท้วงแบบไหนเป็นสิ่งดี บางคนอาจวัดกันที่วัตถุประสงค์ แต่ความเป็นจริงแล้วในส่วนของพวกชาติตะวันตก การประท้วงจะเป็นเรื่องดีก็ต่อเมื่อการชุมนุมนั้นรับใช้ผลประโยชน์ของพวกเขา ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการประท้วงที่กำลังดำเนินอยู่ในยูเครน และไทย ซึ่งผู้ชุมนุมต่างก็พยายามบุกยึดอาคารราชการและเตรียมการขยายขอบเขตไปยังหน่วยงานอื่นที่ยังไม่สามารถยึดได้ ด้วยต่างมีเป้าหมายขับไล่รัฐบาลของประเทศตนเอง ทว่าชาติตะวันตกกลับบอกว่าอันหนึ่งดีเลิศ ส่วนอีกแห่งไม่ใช่การชุมนุมอย่างสันติ

รางวัลโนเบลสำหรับผู้ประท้วงยูเครน

บทความของนายโทนี อ้างถึงกรณีมีผู้ประท้วงราว 10,000 คนรวมตัวกันชุมนุมต่อต้านการตัดสินใจทิ้งข้อตกลงประวัติศาสตร์อันจะนำไปสู่การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของรัฐบาลเมื่อวันเสาร์ (30 พ.ย.) เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการปราบปรามผู้ประท้วงของตำรวจปราบจลาจลหนึ่งวันก่อนหน้านี้ ที่เป็นผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายรายและหลายคนถูกจับกุม

สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเคียฟ รัฐบาลสหรัฐฯประณามปฏิบัติการของตำรวจ โดยเรียกมันว่าเป็นการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ขณะที่ทางกระทรวงการต่างประเทศอเมริกา ก็ระบุในถ้อยแถลงเวลาต่อมาว่า “เราเรียกร้องเหล่าผู้นำของยูเครน เคารพต่อสิทธิการแสดงออกและการชุมนุม เราเรียกร้องรัฐบาลยูเครน สนับสนุนสิ่งแวดล้อมทางบวกสำหรับประชาสังคมและเพื่อปกป้องสิทธิการของชาวยูเครนทุกคนในการแสดงมุมมองต่ออนาคตของประเทศในแนวทางที่สร้างสรรค์และเป็นไปอย่างสันติในกรุงเคียฟ รวมถึงพื้นที่อื่นๆของประเทศ ความรุนแรงและการข่มขู่ไม่ควรเกิดขึ้นในยูเครน ณ วันนี้”

นายโทนี ตั้งข้อสังเกตในบทความว่าเสียงชื่นชมจากฝั่งสหรัฐฯ มีออกมา แม้ว่าผู้ประท้วงชาวยูเครนทั้งจุดไฟเผาและใช้รถแทรกเตอร์ในความพยายามทะลายแนวกั้นของตำรวจ รวมทั้งได้ปิดกั้นถนนสายหลักที่มุ่งสู่อาคารที่ทำการของรัฐบาล ขวางข้าราชการเข้าทำงาน ซึ่งเรื่องราวนี้ก็พบเห็นตามสื่อหลักต่างๆ

การชุมนุมที่แย่ของไทย

ในทางกลับกัน นายโทนีบอกว่า สหรัฐฯ ก็ประณามอย่างโต้งๆ ต่อการประท้วงต่อต้านระบอบทักษิณ และรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า “รุนแรงและบอกว่าการบุดยึดหน่วยงานราชการหรือเอกชนเป็นที่ยอมรับไม่ได้ในแนวทางของการคลี่คลายความแตกต่างทางการเมือง” นอกจากนี้ แล้วในขณะที่ชาติตะวันตกเรียกมาตรการปราบจลาจลของยูเครนว่า “ความรุนแรง” แต่อีกด้านหนึ่งสื่อจากชาติตะวันตก กลับไม่พาดพิงคำว่า “การปราบปรามรุนแรง” ในแบบเดียวกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย ทั้งที่เมื่อมองดูแล้วรัฐบาลไทยก็ใช้วิธีการเดียวกับรัฐบาลยูเครนในการควบคุมฝูงชน

ทำไมชาติตะวันตกถึงปกป้องรัฐบาลไทย

รัฐบาลของทักษิณและยิ่งลักษณ์ ได้รับการหนุนหลังจากชาติตะวันตกมานานเกือบทศวรรษ โดยเฉพาะในส่วนของทักษิณนั้น ความสัมพันธ์อันดีระหว่างเขากับตะวันตกเริ่มต้นขึ้นก่อนเข้ารับตำแหน่งในปี 2001 ด้วยซ้ำ

นายโทนีอ้างข้อเขียนของนายทนง ขันทอง จากหนังสือพิมพ์ “เดอะ เนชัน” ระบุว่า ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก นายทักษิณได้พยายามแสวงโอกาสการลงทุนในวอลล์สตรีทและลอนดอนควบคู่กับการไต่เต้าทางการเมือง โดยคาร์ไลล์กรุ๊ปเคยตั้งให้เขาเป็นที่ปรึกษากลางปี 1998 นอกจากนี้ยังเคยพยายามใช้สายสัมพันธ์กับอเมริกาส่งเสริมภาพลักษณ์ทางการเมืองในช่วงที่เขาก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เขาเชิญบุชผู้พ่อมาเยือนกรุงเทพฯ บอกว่าภารกิจของเขาคือเป็นพ่อสื่อระหว่างกองทุนจากสหรัฐฯ กับธุรกิจไทย เขายังเชิญเจมส์ เบเกอร์ เดอะเติร์ด รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในยุคจอร์จ บุช มาเที่ยวไทยเมื่อเดือนมีนาคมปีนั้นด้วย

เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีปี 2001 ทักษิณเริ่มตอบแทนการสนับสนุนจากผู้อุปถัมภ์ชาวตะวันตกของเขา ในปี 2003 เขาส่งทหารไทยไปอิรักทั้งที่กองทัพและประชาชนคัดค้าน เขายังอนุญาตให้ซีไอเอใช้ไทยในโครงการส่งผู้ร้ายข้ามรัฐอย่างลับๆในปี 2004 นอกจากนี้แล้ว ทักษิณยังได้ผลักดันเอฟทีเอสหรัฐฯ-ไทยที่ได้รับการสนุนสนุนจากสภานักธุรกิจอาเซียน-สหรัฐอเมริกาโดยไม่ผ่านรัฐสภา และหลังถูกรัฐประหารปี 2006 ทักษิณก็ยังเป็นที่รักของสื่อตะวันตกอันเป็นผลจากสายสัมพันธ์กับบริษัทล็อบบี้ชั้นนำหลายแห่งในสหรัฐฯ ที่ยกเขาเป็นบุรุษของประชาชนที่ต่อสู้กับชนชั้นนำ ในกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ สภานักธุรกิจอาเซียน-สหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนเอฟทีเอสหรัฐฯ-ไทยเมื่อปี 2004 ประกอบด้วยตัวแทนบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งยกตัวอย่างเช่น 3เอ็ม, ไอบีเอ็ม, โบอิ้ง,ซิตีกรุ๊ป, เจเนอรัล อิเล็กทริค, ล็อคฮีด มาร์ติน, เชฟรอน, ฟิลิป มอร์ริส ฯลฯ รวมถึงสถาบันการเงินอย่างโกลด์แมน แซค และเจพี มอร์แกน

นายโทนีปิดท้ายว่า เป็นที่ชัดเจนว่าชาติตะวันตกได้ลงทุนทั้งเวลาและทรัพยากรอย่างมหาศาลไปกับระบอบทักษิณ และการประณามผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็เป็นแค่ความพยายามปกป้องการลงทุนของตนเอง ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหลักนิติรัฐหรือประชาธิปไตยแม้แต่น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น