เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียประกาศในวันพุธ (27) โดยระบุ รัสเซียจะนำ “ขีปนาวุธข้ามทวีป” จำนวน 22 ลูก เข้าประจำการในกองทัพแดนหมีขาวช่วงต้นปีหน้า เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางด้านความมั่นคง
ประธานาธิบดี ปูติน วัย 61 ปี ซึ่งกลับเข้ามาครองอำนาจเป็นสมัยที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เผยระหว่างเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการพัฒนาขีปนาวุธเชิงยุทธศาสตร์ในกรุงมอสโก ในวันพุธ (27) โดยยืนยันว่าขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBMs) ถือเป็นองค์ประกอบหลักที่มีความสำคัญยิ่งต่อยุทธศาสตร์ด้านการป้องปรามทางนิวเคลียร์ และรัฐบาลรัสเซียมีแผนจะนำขีปนาวุธข้ามทวีปราว 22 หน่วยเข้าประจำการในกองทัพเพิ่มเติมตั้งแต่ต้นปี 2014
แม้ผู้นำรัสเซียจะไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่า ขีปนาวุธข้ามทวีปที่จะถูกนำเข้าประจำการนั้นเป็นชนิดใด แต่แหล่งข่าวภายในกระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยต่อสำนักข่าวอาร์ไอเอ โนวอสติ โดยระบุว่า ขีปนาวุธข้ามทวีปแบบที่จะถูกนำเข้ามาประจำการในปีหน้านั้นจะเป็นขีปนาวุธเคลื่อนที่แบบ “ยาร์ส” ซึ่งสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้พร้อมกันหลายหัว
ข้อมูลจากนิตยสารออนไลน์ “Bulletin of the Atomic Scientists” ของสหรัฐฯเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาระบุ ในเวลานี้ รัสเซียมีขีปนาวุธข้ามทวีปเข้าประจำการในกองทัพทั้งสิ้น 326 ชุด ซึ่งสามารถรองรับการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้กว่า 1,050 หัวรบ
ขณะที่ข้อมูลจากรายงานของคณะกรรมาธิการกลาโหมประจำ “สภาดูมา” หรือสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย ระบุว่า ในระหว่างปีงบประมาณ 2014-2016 รัสเซียมีแผนเพิ่มงบประมาณรายปีอีกมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในส่วนที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตน โดยระบุเมื่อถึงปี ค.ศ. 2016 งบประมาณที่รัฐบาลรัสเซียจะนำมาทุ่มในโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนจะสูงถึง 46,260 ล้านรูเบิล (คิดเป็นเงินไทยราว 44,830 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากงบประมาณด้านอาวุธนิวเคลียร์ 29,290 ล้านรูเบิล (คิดเป็นเงินไทยราว 28,400 ล้านบาท) ในปีนี้
ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่ากระทรวงกลาโหมรัสเซีย มีแผนปลดประจำการขีปนาวุธข้ามทวีปทั้งแบบ SS-18 Satan, SS-19 Stiletto และแบบ SS-25 Sickle โดยเตรียมแทนที่ด้วยขีปนาวุธแบบ SS-27 Sickle-B (โทโปล-เอ็ม) และขีปนาวุธในตระกูล “ยาร์ส” ภายในปี ค.ศ.2021