xs
xsm
sm
md
lg

มาเลย์ยัวะสิงคโปร์ช่วย US-ออสซี สอดแนมผ่านโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



บีบีซีนิวส์/เอเจนซีส์ - มาเลเซียเรียกตัวข้าหลวงใหญ่ (เอกอัครราชทูต) สิงคโปร์ มาประท้วงเมื่อวันอังคาร (26 พ.ย.) หลังสื่อมวลชนเปิดโปงว่าแดนลอดช่องสมคบกับเกาหลีใต้ ช่วยเหลืออเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย สอดแนมกัวลาลัมเปอร์และเพื่อนบ้านอื่นๆ ในเอเชีย ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีพาณิชย์อินโดนีเซียเผยว่ากำลังหาช่องทางนำเข้าอาหารจากประเทศอื่นแทนแดนจิงโจ้ เพื่อตอบโต้ที่แคนเบอร์ราดักฟังโทรศัพท์ผู้นำของตน นอกจากนั้นยังมีผู้ประท้วงที่แต่งกายแบบทหารไปชุมนุมเผารูปของนายกฯ ออสเตรเลีย ที่หน้าสถานทูตออสซีในกรุงจาการ์ตา

หนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ (เอสเอ็มเอช) รายงานข่าวเมื่อวันจันทร์ (25) ว่า สิงคโปร์และเกาหลีใต้มีบทบาทสำคัญในเครือข่ายข่าวกรอง “ไฟฟ์อายส์” ที่ประกอบด้วยอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์

รายงานดังกล่าวอ้างอิงแผนที่ที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ลักลอบเผยแพร่ และเอ็นอาร์ซี ฮันเดลส์บลัด หนังสือพิมพ์เนเธอร์แลนด์นำมาตีพิมพ์ ซึ่งแฉว่า หน่วยข่าวกรองทางทหารของสิงคโปร์และเกาหลีใต้ช่วยกันทำให้หน่วยงานจารกรรมของอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย เข้าถึงข้อมูลที่ส่งผ่านโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงความเร็วสูงใต้น้ำ SEA-ME-WE 3 ที่มีสิงคโปร์ เทเลคอมมิวนิเคชันส์ (สิงค์เทล) ร่วมถือหุ้น

โครงข่าย SEA-ME-WE 3 ซึ่งอักษรย่อหมายถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันออกกลาง-ยุโรปตะวันตกนั้น เชื่อมโยงระบบสื่อสารกว่า 30 ประเทศ รวมถึงจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม บาห์เรน และฝรั่งเศส

เอสเอ็มเอชเสริมว่า ออสเตรเลียและสิงคโปร์ร่วมมือกันรวบรวมข่าวกรองเกี่ยวกับอินโดนีเซียและมาเลเซียมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970

“คงไม่ใช่การเน้นย้ำเกินจริงหากจะบอกว่า การสอดแนมประเทศซึ่งเป็นมิตรและเพื่อนบ้านที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่รับไม่ได้” แอนิฟาห์ อามัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียแถลงเมื่อวันอังคาร (26) และว่า รัฐบาลของเขามีความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อรายงานข่าวเรื่อง

ทางด้านสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม กระทรวงต่างประเทศ กระทั่งสิงค์เทล ต่างไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานนี้ มีเพียง ออง เคง ยอง ข้าหลวงใหญ่สิงคโปร์ประจำมาเลเซีย ที่ออกมายืนยันว่า ถูกกระทรวงการต่างประเทศแดนเสือเหลืองเรียกตัวเข้าพบจริงเมื่อวันอังคาร ทั้งนี้ มาเลเซียกับสิงคโปร์ต่างเป็นประเทศสมาชิกในเครือจักรภพอังกฤษ จึงเรียกตำแหน่งเอกอัครราชทูตของอีกฝ่ายหนึ่งว่าข้าหลวงใหญ่

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่เสือเหลืองก็ได้ยื่นประท้วงอเมริกาและออสเตรเลีย รวมถึงเรียกนักการทูตอเมริกันและออสซีเข้าพบเพื่อให้ชี้แจงเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ว่า วอชิงตันเป็นหัวโจกวางเครือข่ายสอดแนมในเอเชีย ซึ่งรวมถึงการตั้งศูนย์ดักฟังในสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ออสเตรเลียประจำมาเลเซีย
แอนิฟาห์ อามัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย แสดงความกังวล หลังสื่อมวลชนเปิดโปงว่า สิงคโปร์สมคบกับเกาหลีใต้ ช่วยเหลืออเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย สอดแนมกัวลาลัมเปอร์และเพื่อนบ้านอื่นๆ ในเอเชีย
สถานีวิทยุโทรทัศน์บีบีซีระบุว่า แม้หลายปีหลังๆ มานี้กัวลาลัมเปอร์กับสิงคโปร์มีความพยายามปรับปรุงสัมพันธไมตรีระหว่างกัน ทว่า ข้อกล่าวหาล่าสุดจะกดดันให้นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัคของมาเลเซีย ต้องส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้เพื่อนบ้านสอดแนมตนเอง

ขณะเดียวกัน ข้อกล่าวหาใหม่นี้ยังถือเป็นกรณีขัดแย้งล่าสุดเกี่ยวกับการสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นในเอเชีย โดยเมื่อต้นเดือนนี้ ในรายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่งของ เอสเอ็มเอช ซึ่งอ้างอิงแผนที่ของสโนว์เดนที่ระบุที่ตั้งปฏิบัติการสอดแนมของอเมริกา 90 แห่งในสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลทั่วโลก ซึ่งรวมถึงกัมพูชา จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า และไทย ก็ได้สร้างความแค้นเคืองให้หลายประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายเหล่านี้

สัปดาห์ที่แล้ว อินโดนีเซียเพิ่งประกาศระงับความร่วมมือในทางทหารกับออสเตรเลีย และในการขัดขวางผู้ต้องการเป็นผู้อพยพที่พยายามลักลอบเข้าสู่แดนจิงโจ้ รวมทั้งลดระดับความสัมพันธ์ด้านต่างๆ หลังมีรายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่งซึ่งระบุว่า แคนเบอร์ราดักฟังโทรศัพท์ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน และภรรยา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอีกเกือบสิบคน

ล่าสุดในวันอังคาร รัฐมนตรีพาณิชย์แดนอิเหนา กิตา วิร์จาวัน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า กำลังหาช่องทางนำเข้าอาหารจากที่อื่นที่ไม่ใช่ออสเตรเลีย

อินโดนีเซียนั้นเป็นลูกค้าใหญ่ที่นำเข้าข้าวสาลี ปศุสัตว์เป็นๆ เนื้อวัว และน้ำตาลทรายดิบจากออสเตรเลีย ขณะที่ออสซี่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 10 ของแดนอิเหนา

วิร์จาวัน ที่เริ่มรณรงค์ขอเสียงสนับสนุนในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกลางปีหน้า เสริมว่า ได้ขอให้รัฐสภาทบทวนกฎหมายจำกัดการนำเข้าอาหาร โดยที่ในปัจจุบันจะอนุญาตให้นำเข้าปศุสัตว์จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เท่านั้น ตามมาตรการป้องกันโรคเท้า-ปากเปื่อย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วิร์จาวันแจกแจงว่าได้ข่าวมาว่า มาเลเซียนำเข้าเนื้อวัวจำนวนมากจากพื้นที่ที่ปลอดจากโรคนี้และโรคอื่นๆ ในอินเดีย และอีกประเด็นที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญคือ การรักษาเสถียรภาพราคา หลังจากที่ราคาเนื้อวัวจากออสเตรเลียพุ่งขึ้นเมื่อต้นปี ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียทะยานตาม

ในวันอังคารเช่นกัน ยังมีกลุ่มคนจากองค์กรกึ่งทหารแห่งหนึ่งของอินโดนีเซีย ไปประท้วงที่บริเวณด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำจาการ์ตา ผู้ประท้วงเหล่านี้ซึ่งสวมชุดคล้ายทหารสีดำและสีส้ม ได้เผาภาพนายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ ของแดนจิงโจ้ และถือแผ่นป้ายเขียนข้อความต่างๆ เป็นต้นว่า เรียกร้องให้ออสเตรเลียขอโทษ ตลอดจนให้เอกอัครราชทูตแดนจิงโจ้ออกไปจากอินโดนีเซีย

ก่อนหน้านี้ในสัปดาห์ที่แล้ว ก็มีผู้ชุมนุมเดินขบวนหลายร้อยคน เดินทางมาที่สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียนี้ และพากันขว้างไข่และมะเขือเทศเน่าเข้าใส่เป็นการประท้วง

ตั้งแต่ที่เกิดพิพาทในเรื่องนี้กันมา แอ็บบอตต์ยังปฏิเสธไม่ยอมขอโทษอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้แดนอิเหนายิ่งโกรธขึ้ง และยุทโธโยโน ได้ส่งหนังสือฉบับหนึ่งไปถึงผู้นำออสซี่ในสัปดาห์ที่แล้ว เรียกร้องขอให้อธิบายแจกแจงพฤติการณ์ที่ตกเป็นข่าว

มีรายงานว่า แอ็บบอตต์ได้ตอบหนังสือกลับมาแล้วในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และในวันอังคาร ประธานาธิบดียุทโธโยโน ได้พบหารือกับรองประธานาธิบดีโบอีดิโอโน , เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำแคนเบอร์รา ที่ถูกเรียกตัวกลับประเทศชั่วคราว, และรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงจาการ์ตา เพื่อพิจารณาจังหวะก้าวต่อไปของแดนอิเหนา

ถึงแม้ยังไม่มีการเปิดเผยข้อความในหนังสือตอบของแอ็บบอตต์ แต่ จูเลียน อัลดริน ปาชา โฆษกประธานาธิบดียุโธโยโน แถลงก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีจะหารือกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในวันอังคาร ซึ่งบ่งบอกให้เห็นว่าฝ่ายอินโดนีเซียมีความพอใจ โดยเขาระบุว่า “คำตอบจากนายกรัฐมนตรีแอ็บบอตต์ แน่นอนทีเดียวว่ามีความสอดคล้องกับความคาดหมายของเรา”
กำลังโหลดความคิดเห็น