xs
xsm
sm
md
lg

แฉต่อ ‘มะกัน’ ดักฟัง ‘แมร์เคิล’ กว่าสิบปี ‘โอบามา’ ก็รู้แถมยังหนุนสอดแนมเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ชุมนุมเดินขบวนนับพัน ไปรวมตัวกันที่บริเวณใกล้ๆ อาคารรัฐสภาอเมริกันในกรุงวอชิงตันเมื่อวันเสาร์ (26) เพื่อคัดค้านทางการสหรัฐฯทำการสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้หลายคนถือป้ายที่เขียนข้อความสนับสนุนการแฉความจริงของ เอดเวิร์ด สโนว์เดน ด้วย
เอเจนซีส์ - สื่อเยอรมนีแฉต่อเมื่อวันอาทิตย์ (27 ต.ค.) ตัวประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯเองได้รับแจ้งมาตั้งหลายปีแล้ว เรื่องหน่วยงานข่าวกรองอเมริกันดักฟังโทรศัพท์ของนายกรัฐมนตรีเมืองเบียร์ อังเกลา แมร์เคิล แถมการสอดแนมนี้น่าจะกระทำมาตั้งแต่ปี 2002 นั่นคือก่อนที่เธอจะก้าวขึ้นเป็นประมุขฝ่ายบริหารของประเทศด้วยซ้ำ ข้อมูลที่ถูกเปิดโปงใหม่ๆ เหล่านี้เชื่อว่าจะยิ่งสร้างความไม่พอใจให้เยอรมนี โดยที่ก่อนหน้านี้เบอร์ลินก็เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูงไปขอคำอธิบายอย่างละเอียดถึงวอชิงตันอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ทางด้านประชาชนอเมริกันเรือนพัน ได้ออกมาชุมนุมเดินขบวนประท้วงโครงการสอดแนมออนไลน์ของเอ็นเอสเอ ชี้ก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวประชาชน

บิลด์ อัม ซอนทาก หนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ที่ขายดีที่สุดของเยอรมนี รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในแวดวงข่าวกรองอเมริกันหลายรายระบุว่า คีธ อเล็กซานเดอร์ ผู้อำนวยการของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ได้เคยบรรยายสรุปให้โอบามาทราบเมื่อปี 2010 ถึงการปฏิบัติการสอดแนมแมร์เคิล

“โอบามาไม่ได้สั่งยุติการปฏิบัติการ แต่กลับให้เอ็นเอสเอทำงานนี้ต่อไป” สื่อเยอรมนีฉบับนี้รายงาน โดยอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของเอ็นเอสเอ

บิลด์ อัม ซอนทาก ระบุว่า โอบามาต้องการได้รับข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับแมร์เคิล ซึ่งแสดงบทบาทเป็นผู้ตัดสินคนสำคัญที่สุดในกรณีวิกฤตหนี้ยูโรโซน รวมทั้งถูกจับตามองกันทั่วไปว่าเป็นผู้นำที่ทรงอำนาจที่สุดของยุโรป

รายงานกล่าวต่อไปว่า เมื่อทราบจุดประสงค์ของโอบามา เอ็นเอสเอจึงได้เพิ่มระดับการสอดแนมการติดต่อสื่อสารของเธอมากขึ้นอีก โดยไม่เพียงพุ่งเป้าดักฟังโทรศัพท์มือถือเครื่องที่เธอใช้จัดการงานต่างๆ ของพรรคคริสเตรียน เดโมแครติก ยูเนียน ของเธอเท่านั้น แต่ยังโทรศัพท์เครื่องทางการซึ่งมีการเข้ารหัสป้องกันการสอดแนมเอาไว้อีกด้วย และผู้ชำนาญการของเอ็นเอสเอก็สามารถเฝ้าติดตามเนื้อหาของการสนทนาของเธอ ตลอดจนการส่งข้อความของเธอ โดยที่ปกติแล้วแต่ละวันแมร์เคิลจะส่งข้อความผ่านมือถือไปถึงพวกผู้ช่วยคนสำคัญๆ รวมสิบกว่าฉบับทีเดียว

บิลด์ อัม ซอนทาก บอกว่า มีเพียงโทรศัพท์พื้นฐานเครื่องที่ได้รับการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษและตั้งอยู่ในห้องทำงานของเธอเท่านั้น ที่พวกสายลับอเมริกันดักฟังไม่ได้

ทั้งนี้ ข่าวกรองที่รวบรวมได้จากการดักฟังการติดต่อสื่อสารของแมร์เคิล รายงานข่าวชิ้นนี้กล่าวว่าจะถูกส่งตรงไปยังทำเนียบขาว โดยไม่ส่งผ่านสำนักงานใหญ่ของเอ็นเอสเอ ในค่ายฟอร์ตมีด มลรัฐแมริแลนด์

ก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แดร์ ชปีเกล นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ชื่อดังของเยอรมนี เป็นผู้ที่เสนอรายงานข่าวโดยอ้างอิงเอกสารลับที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างของเอ็นเอสเอ นำออกมาเปิดโปง ระบุว่าเอ็นเอสเอดักฟังโทรศัพท์ของแมร์เคิล ซึ่งทำให้เบอร์ลินเรียกเอกอัครราชทูตอเมริกันมาประท้วง อันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศภายหลังสงคราม

มาในวันเสาร์นี้ (26) แดร์ ชปีเกล เปิดโปงต่ออีกว่า หมายเลขโทรศัพท์มือถือของแมร์เคิลนั้นถูกใส่ไว้ในบัญชีของ “บริการเก็บข้อมูลพิเศษ” (เอสซีเอส) ของเอ็นเอสเอตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งตอนนั้นเจ้าตัวยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีด้วยซ้ำ และยังคงอยู่เรื่อยมาจนถึงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่โอบามา เดินทางเยือนเบอร์ลินในเดือนมิถุนายนปีนี้

ในเอกสารของเอสซีเอส หน่วยงานแห่งนี้ยังระบุว่า มีสาขาจารกรรมที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายในสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันในเบอร์ลิน เพื่อดักฟังการสื่อสารของรัฐบาลเยอรมนีด้วยอุปกรณ์ไฮเทค

แดร์ ชปีเกล ยังรายงานโดยอ้างอิงเอกสารลับจากปี 2010 ว่า เอสซีเอสมีสาขาในลักษณะนี้ใน 80 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงปารีส มาดริด โรม ปราก เจนีวา และแฟรงก์เฟิร์ต

รายงานของแดร์ ชปิเกล ระบุว่า ตอนที่แมร์เคิลโทรศัพท์ไปขอคำชี้แจงเรื่องนี้เมื่อวันพุธ (23) นั้น โอบามาได้กล่าวขอโทษ และพูดว่าถ้าเขาได้ทราบเรื่องการปฏิบัติการเช่นนี้มาก่อนแล้ว เขาก็จะสั่งระงับในทันที

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ฟรังฟูร์ทเทอร์ อัลเกไมเนอ ซอนทากไซตุง ก็รายงานว่า ผู้นำสหรัฐฯ บอกประมุขเมืองเบียร์ว่า ไม่รู้เรื่องการดักฟังนี้มาก่อน ขณะที่สื่อเยอรมนีอื่นๆ กล่าวว่า ซูซาน ไรซ์ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของโอบามา ยังได้บอกกับพวกเจ้าหน้าที่เยอรมนีเช่นกันว่า โอบามาไม่ทราบเรื่องการแอบสอดแนมเช่นนี้

ความบาดหมางจากกิจกรรมการสอดแนมของอเมริกาเช่นนี้ ปะทุขึ้นครั้งแรกหลังจากที่สโนว์เดนหลบหนีออกมาลี้ภัยนอกสหรัฐฯ พร้อมกับเปิดเผยเอกสารลับของเอ็นเอสเอซึ่งแสดงให้เห็นว่า วอชิงตันดักฟังการสื่อสารของสำนักงานต่างๆ ของสหภาพยุโรป (อียู) รวมทั้งโทรศัพท์ อีเมล และข้อความตัวอักษรหลายร้อยล้านรายการในเยอรมนีในแต่ละเดือน

แต่เรื่องราวดูเหมือนทำท่ายุติลงได้ หลังจากรัฐบาลเยอรมนีประกาศในเดือนสิงหาคม หรือไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาในเมืองเบียร์ว่า อเมริการับประกันว่า ไม่ได้ละเมิดกฎหมายเยอรมนี ด้วยเหตุนี้เอง การเปิดโปงพฤติกรรมการสอดแนมระลอกล่าสุดจึงสร้างความไม่พอใจขนานใหญ่ทั้งต่อรัฐบาลและชาวเยอรมนี

ล่าสุดเบอร์ลินเตรียมส่งหัวหน้าหน่วยข่าวกรองไปวอชิงตันในสัปดาห์นี้ เพื่อขอคำตอบจากทำเนียบขาวและเอ็นเอสเอเกี่ยวกับข้อกล่าวหาการดักฟังโทรศัพท์แมร์เคิล โดยคณะผู้แทนอาจประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสำนักงานข่าวกรองต่างประเทศและในประเทศ รวมถึงโรนัลด์ โปฟอลลา หัวหน้าคณะทำงานของแมร์เคิลที่รับผิดชอบหน่วยงานข่าวกรอง

ความขัดแย้งจากกรณีการสอดแนมยังกระตุ้นให้ผู้นำยุโรปที่ร่วมประชุมสุดยอดปลายสัปดาห์ที่แล้วออกคำแถลงเรียกร้องร่างกฎเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลข่าวกรองกับวอชิงตัน พร้อมเตือนว่า สัมพันธภาพระหว่างยุโรปกับอเมริกาต้องอยู่บนพื้นฐานของความเคารพและความเชื่อใจระหว่างกัน

ขณะที่คณะกรรมาธิการเสรีภาพพลเมืองของสภายุโรปยังเตรียมส่งตัวแทนไปวอชิงตันในวันจันทร์ (28) เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการเยียวยาทางกฎหมายให้แก่พลเมืองอียู

แมร์เคิลเอง กล่าวในระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของอียูในวันพฤหัสบดี (24) ว่า การแอบสอดแนมที่เกิดขึ้นได้ทำลายความไว้วางใจที่เยอรมนีมีต่ออเมริกา และเรียกร้องให้วอชิงตันยอมรับเรื่องวางกฎเกณฑ์ “งดสอดแนม” กับเบอร์ลินและปารีสภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ มีรายงานว่าเยอรมนีและบราซิลยังกำลังร่วมกันผลักดันร่างมติต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งเน้นย้ำความไม่พอใจต่อโครงการสอดแนมของอเมริกา

ขณะเดียวกัน ที่กรุงวอชิงตันในวันเสาร์ (26) ชาวอเมริกันกว่า 2,000 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้สนับสนุนแนวทางการเมืองต่างขั้ว ทั้งเสรีนิยมและอนุรักษนิยม ร่วมกันชุมนุมเดินขบวนที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภาประท้วงโครงการสอดแนมออนไลน์ของเอ็นเอสเอ โดยโจมตีว่า เป็นการสอดแนมชีวิตประจำวันของพลเมืองโดยผิดกฎหมาย

การประท้วงครั้งนี้จัดโดยแนวร่วมที่เรียกตัวเองว่า “สต็อป วอตชิง” ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเฝ้าติดตามสาธารณะและบริษัทต่างๆ รวม 100 แห่ง และต้องการเรียกร้องให้รัฐสภาปฏิรูปแก้ไขประดากรอบโครงกฎหมายที่สนับสนุนการลักลอบเก็บข้อมูลออนไลน์ของเอ็นเอสเอ



กำลังโหลดความคิดเห็น