รอยเตอร์ – ประธานาธิบดี ฮามิด คาร์ไซ แห่งอัฟกานิสถาน ยังคงยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติมต่อสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการลงนามข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคี (BSA) ซึ่งจะอนุญาตให้ทหารอเมริกันบางส่วนอยู่ปฏิบัติภารกิจในอัฟกานิสถานต่อไปได้หลังปี 2014 ทำให้แนวโน้มที่ 2 ประเทศจะร่วมมือกันได้ยิ่งห่างไกลออกไป
ซูซาน ไรซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ได้พบปะกับประธานาธิบดี คาร์ไซ ที่กรุงคาบูลเมื่อวานนี้ (25) โดยผู้นำอัฟกันยื่นคำขาดให้สหรัฐฯ ยุติการบุกค้นบ้านเรือนประชาชน และแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนการเจรจาสันติภาพระหว่างอัฟกานิสถานกับกลุ่มตอลิบาน ก่อนที่ตัวเขาเองจะยอมลงนามข้อตกลง
ทำเนียบขาวมีถ้อยแถลงหลังจากนั้นว่า เงื่อนไขที่ คาร์ไซ ยื่นต่อ ไรซ์ เมื่อวานนี้(25) นั้น “สะท้อนให้เห็นว่า ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานไม่พร้อมที่จะลงนามข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคีกับสหรัฐฯ”
ท่าทีของ คาร์ไซ ดูจะเป็นข่าวร้ายสำหรับวอชิงตัน หลังจากที่สภาผู้ปกครองชนเผ่าอัฟกัน “โลยาจีร์กา” ซึ่งประชุมเสร็จสิ้นไปเมื่อวันอาทิตย์(24) อุตส่าห์ลงมติเห็นชอบกับข้อตกลงนี้แล้ว ทว่า คาร์ไซ ยังคงประกาศชัดว่า จะไม่เซ็นข้อตกลงกับสหรัฐฯ ก่อนถึงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า
รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี และรัฐมนตรีกลาโหม ชัค เฮเกล แห่งสหรัฐฯ ต่างเรียกร้องให้อัฟกานิสถานลงนามข้อตกลงความมั่นคงภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้สหรัฐฯ สามารถเตรียมการคงกำลังทหารบางส่วนไว้หลังปี 2014 ได้
ไรซ์ ซึ่งเดินทางไปอัฟกานิสถานเป็นเวลา 3 วันเพื่อเยี่ยมเยียนทหารอเมริกัน บอกกับ คาร์ไซ ว่า ความล่าช้าในการลงนาม “จะทำให้สหรัฐฯและพันธมิตรนาโตไม่สามารถวางแผนภารกิจในอัฟกานิสถานหลังสิ้นปี 2014... และหากไม่มีลายเซ็นรับรองของผู้นำอัฟกัน สหรัฐฯก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะกำหนดแผนงานหลังปี 2014 เอง ซึ่งก็จะไม่มีการทิ้งทหารไว้ในอัฟกานิสถานเลย”
ปัจจุบัน มีทหารอเมริกันปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงอยู่อัฟกานิสถาน 47,000 นาย
ประธานาธิบดี คาร์ไซ ยังขอให้สหรัฐฯส่งตัวนักโทษอัฟกันในเรือนจำกวนตานาโมกลับประเทศ โดยอ้างว่าสภาโลยาจีร์กาได้ลงมติรับรองข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคีกับอเมริกา “ภายใต้เงื่อนไขนี้” และยังขอคำยืนยันว่า รัฐบาลสหรัฐฯจะไม่สนับสนุนผู้สมัครคนใดเป็นพิเศษในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอัฟกานิสถานซึ่งจะมีขึ้นในเดือนเมษายนปีหน้า
คาร์ไซ กล่าวหาว่าสหรัฐฯ แทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2009 ขณะที่ฝ่ายศัตรูทางการเมืองของเขาก็ตำหนิว่า ประธานาธิบดีกำลังใช้ข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคีกับสหรัฐฯ เป็นเครื่องมือสอดแทรกอิทธิพลของตนเองในการเลือกตั้งครั้งใหม่