xs
xsm
sm
md
lg

“ไห่เยี่ยน” จุดเปลี่ยนมุมมองภาวะโลกร้อน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ – นักประวัติศาสตร์อาจมองซูเปอร์ไต้ฝุ่น “ไห่เยี่ยน” เป็นจุดเปลี่ยนในการรายงานข่าวภัยพิบัติและการเมือง ในการหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากนี่เป็นครั้งแรกที่มหาภัยพิบัติธรรมชาติในพื้นที่เขตร้อน สลัดทิ้ง ฉลาก “เมด อิน เอเชีย” และสร้างความกังวลไปทั่วโลก

ปกติแล้วการรายงานข่าวพายุ น้ำท่วม และภัยแล้ง มักเริ่มต้นและจบลงในรูปแบบเดียวกับข่าวสงคราม ที่เน้นย้ำสภาพเลวร้ายที่เกิดขึ้น โดยการระบุจำนวนผู้เสียชีวิตและถ่ายทอดความหดหู่ของผู้รอดชีวิตที่สูญเสีย บ้าน ทรัพย์สิน และคนรัก ที่ว่ากันว่าภาพบอกเล่าถ้อยคำนับร้อยนับพันดูจะเป็นจริงที่สุดในการรายงานข่าวภัยพิบัติ เพราะช่วงหลายวันมานี้เราได้เห็นแต่ฉากน่าตื่นตระหนกของบ้านเรือนที่พังพินาศในฟิลิปปินส์ ศพลอยล่องในกระแสน้ำ เด็กร้องไห้คร่ำครวญ อัตราส่วนภาพต่อคำพูดในการรายงานข่าวยุคนี้พุ่งทะยานอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน รายงานข่าวภัยพิบัติในเอเชียที่มีให้เห็นบ่อยมากกลายเป็นหน้าต่างที่ทำให้โลกรู้จักภูมิภาคนี้มากขึ้น และความที่ภาวะโลกร้อนไม่ได้เป็นเรื่องของประเทศหนึ่งประเทศใดโดยเฉพาะ ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน จึงไม่ใช่เรื่องราวความทุกข์ระทมเฉพาะของประชาชนชาวตากาล็อกเท่านั้น

นาดาเรฟ ซาโน ตัวแทนจากฟิลิปปินส์ในที่ประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยสภาพอากาศโลกที่กรุงวอร์ซอของโปแลนด์ ใช้โศกนาฏกรรมไห่เยี่ยนเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมกันดำเนินการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแถลงพร้อมคราบน้ำตาของซาโนได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน รวมไปถึงสาวกเว็บไซต์ยูทิวบ์จำนวนมาก

คำพูดของซาโนไม่ได้เกินจริงเลย เพราะทุกวันนี้น้ำในทะเลลึกนอกชายฝั่งฟิลิปปินส์ได้ชื่อว่าอุ่นที่สุดในโลกและยังคงอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อประกอบกับระบบบรรยากาศและมหาสมุทรที่เผชิญความกดดันมากขึ้น รวมทั้งที่ตั้งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแนวโน้มเผชิญไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง จึงทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดมหาพายุขึ้นอีกในอนาคต

พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนจึงถือเป็นแค่ “บทโหมโรง” ของยุคแห่งสภาพอากาศรุนแรงที่คลื่นพายุซัดฝั่ง ที่ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินในบริเวณชายฝั่ง รวมทั้งความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอาจเกิดขึ้นเป็นปกติ

ในความเป็นจริงแล้ว ภัยพิบัติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยลุกลามสร้างกระแสหวาดหวั่นทั่วโลกมาแล้วในปี 1815 เมื่อภูเขาไฟแทมโบราในอินโดนีเซียระเบิดรุนแรงที่สุดในรอบหลายพันปี และทำให้ระบบสภาพภูมิอากาศโลกปั่นป่วน พืชพันธุ์จากอินโดนีเซียจนถึง ไอร์แลนด์เสียหาย ผู้คนนับล้านต้องอพยพเข้าสู่เมือง โรคที่มาพร้อมความอดอยาก เช่น ไทฟอยด์และอหิวาตกโรค แพร่ระบาดราวไฟป่า ความทุกข์ยากแสนสาหัสเหล่านี้ทำให้พ่อแม่บางคนต้องกลั้นใจปลิดชีพลูกตัวเอง (เรื่องนี้เล่าขานไปทั่วจากบาหลีถึงจีนกระทั่งสวิตเซอร์แลนด์หลังมหันตภัยแทมโบรา)

บทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างรวดเร็ว ทว่า คงมีแค่เพียงนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เท่านั้นที่สามารถปลุกจิตสำนึกทั่วโลกให้ร่วมกันแก้ปัญหานี้ได้ และโศกนาฏกรรมไห่เยี่ยนถูกคาดหวังให้เป็นตัวช่วยสำคัญ

จุดยืนของซาโนในการปฏิเสธอนาคตที่มหาไต้ฝุ่นแบบไห่เยี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปกติ และขอให้ทั่วโลกยืนหยัดเคียงข้างคนฟิลิปปินส์ในยามแห่งวิกฤตนี้ มีนัยระดับโลกที่ครอบคลุมกว้างไกลอย่างมาก นั่นคือการสร้างฐานที่มั่นสำหรับอนาคตของมนุษยชาติในโลกที่สามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น