xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’เริ่มต้น‘ตอนใหม่’เพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

New chapter for change opens in China
By Francesco Sisci
13/11/2013

การรวมศูนย์อำนาจเข้ามาอยู่ในมือของคณะผู้นำระดับสูงสุด, ระยะใหม่แห่งการปฏิรูปทางเศรษฐกิจซึ่งจะเปิดที่ทางเพื่อให้พลังตลาดสามารถทำงานได้มากขึ้น, และการให้บทบาทเพิ่มขึ้นมากมายสำหรับฝ่ายตุลาการในประเทศจีน เหล่านี้คือส่วนประกอบหลักๆ ที่ปรากฏออกมาจากการประชุมคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งปิดฉากลงช่วงต้นสัปดาห์นี้ ถ้าหากเปรียบเป็นหนังสือแล้ว ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ชี้ให้เห็นว่ากำลังจะมีการเปิดเข้าสู่ตอนใหม่ ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร

ปักกิ่ง – การรวมศูนย์อำนาจเข้ามาอยู่ในมือของคณะผู้นำระดับสูงสุด, ระยะใหม่แห่งการปฏิรูปทางเศรษฐกิจซึ่งจะให้พลังตลาดมีบทบาทกว้างขวางยิ่งขึ้น, และการให้บทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากมายแก่ฝ่ายตุลาการ เหล่านี้คือส่วนประกอบหลักๆ ที่ปรากฏออกมาจากแถลงการณ์ของการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางทั้ง 205 คนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งสิ้นสุดลงในวันอังคาร (12 พ.ย.) ที่ผ่านมา และทั้งหมดนี้ล้วนแต่ชี้ให้เห็นว่ากำลังจะมีการเปิดเข้าสู่ตอนใหม่ ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตมโหฬาร

ใน 3 ส่วนประกอบเหล่านี้ การรวมศูนย์อำนาจดูจะชัดเจนเด่นชัดที่สุด โดยที่ประชุมเต็มคณะคราวนี้ได้อนุมัติให้จัดตั้งคณะทำงานหรือหน่วยงานใหม่ขึ้นมา 2 ชุด ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในโครงสร้างเก่าของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

คณะทำงานหรือหน่วยงานใหม่ดังกล่าว ชุดหนึ่งคือ “คณะผู้นำ” ซึ่งมีหน้าที่ “ดำเนินการให้การปฏิรูปหยั่งรากลงลึกมากยิ่งขึ้นโดยองค์รวม , รับผิดชอบการวางแผนการปฏิรูปต่างๆ อย่างรอบด้าน”, และควบคุมการปรับใช้และการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนการเหล่านี้ แถลงการณ์ของที่ประชุมเต็มคณะไม่ได้ระบุว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบคณะทำงานชุดนี้ แต่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดก็ย่อมต้องเป็น สี จิ้นผิง ซึ่งเป็นทั้งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีของประเทศ

นี่คือวิธีใหม่ในการรับมือกับการปฏิรูป ตอนที่ เติ้ง เสี่ยวผิง เปิดฉากเปิดประเทศจีนเมื่อ 35 ปีก่อนนั้น มันไม่ได้มีแผนการที่ชัดเจนอะไรเลย และเป้าหมายที่ต้องการบรรลุถึงก็อึมครึมเป็นอย่างมาก การที่ในคราวนี้พรรคมีความปรารถนาที่จะเห็นแผนการตลอดจนเป้าหมายที่ชัดเจน จึงหมายถึงพรรคจะต้องให้ความไว้วางใจคณะทำงานพิเศษชุดหนึ่ง เข้ามาเป็นผู้กำกับตรวจสอบให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายนี้ ขณะนี้ไม่มีความชัดเจนใดๆ ว่าใครเป็นสมาชิกของคณะทำงานชุดนี้บ้าง แต่หลายๆ คนน่าจะเป็นผู้ที่ สี เลือกสรรคัดกรองมาด้วยตนเอง

ส่วนคณะทำงานหรือหน่วยงานพิเศษอีกชุดหนึ่งนั้น จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีความรับผิดชอบครอบคลุมทั้งภายในและภายนอกประเทศ คณะทำงานซึ่งอาจจะมีลักษณะเหมือนเป็นสภาที่มีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ชุดนี้ ไม่เพียงแต่จะมีผู้แทนของฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนทางด้านกิจการต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังจะนำเอาพวกนักเศรษฐศาสตร์และพวกผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการค้าเข้ามาร่วมด้วย เพื่อทำหน้าที่ประเมินสรุปอย่างรอบด้านในประเด็นปัญหาซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติ

อันที่จริงแล้ว เรื่องการรวมศูนย์อำนาจมาอยู่ในมือคณะผู้นำสูงสุด ซึ่งปรากฏออกมาจากที่ประชุมเต็มคณะคราวนี้ ไม่เพียงมองเห็นได้จากการจัดตั้งคณะทำงานหรือหน่วยงานใหม่ 2 ชุดนี้เท่านั้น หากยังสังเกตได้จากสำนวนภาษาของแถลงการณ์การประชุม ซึ่งมีการเน้นย้ำบทบาทของ สี เอาไว้อย่างหนักแน่น กล่าวคือ สี เป็นผู้นำที่ยังมีชีวิตอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ปรากฏชื่ออยู่ในแถลงการณ์ฉบับนี้ โดยที่นอกเหนือจากเขาแล้ว บุคคลอื่นที่ได้รับการเอ่ยนามก็มีเพียง เหมา เจ๋อตง และ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของระยะ 30 ปีแรก และระยะ 30 ปีที่สองของสาธารณรัฐประชาชนจีนตามลำดับ ขณะที่เลขาธิการใหญ่พรรคและประธานาธิบดีประเทศ 2 คนก่อนหน้า สี ซึ่งได้แก่ เจียง เจ๋อหมิน และ หู จิ่นเทา ได้รับการเอ่ยอ้างถึงเพียงแค่ในรูปของแนวความคิดทฤษฎีที่พวกเขาคิดค้นพัฒนาขึ้นมาและได้รับการยอมรับจากพรรค อันได้แก่ “ทฤษฎี 3 ตัวแทน” และ “การพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มีคณะทำงานใหม่ และบทบาทสำคัญโดดเด่นของ สี ปรากฏในสคริปต์ของที่ประชุมเต็มคณะคราวนี้ ทว่าการปฏิรูปอันแท้จริงซึ่งออกมาจากการประชุม กลับไม่ได้มีความสำคัญในระดับสำคัญมากๆ แต่อย่างใด สภาวการณ์เช่นนี้ดูจะชี้ให้เห็นว่าภายในพรรคมีแรงต่อต้านคัดค้านการปฏิรูปอย่างแรงกล้า (โดยเฉพาะในเมื่อการปฏิรูปสำคัญๆ เท่าที่มีการเปิดเผยออกมานั้น จะเป็นการตัดหั่นอภิสิทธิ์มากมายของพวกรัฐวิสาหกิจและกลุ่มที่มีผลประโยชน์ผูกติดอยู่กับระบบเก่าอย่างเหนียวแน่น ) ตลอดจนการที่ตัว สี เองก็ดูมีความปรารถนาที่จะเลือกใช้วิธีปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าที่จะคิดหักด้ามพร้าด้วยเข่า

แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็ตามที ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่า เรื่องพลังของตลาด และเรื่องระบบยุติธรรม คือ 2 ปริมณฑลใหญ่ที่จะต้องดำเนินการปฏิรูป ทั้งนี้ในด้านเศรษฐกิจนั้น ที่ประชุมเต็มคณะต้องการให้เปิดที่ทางมากขึ้นแก่พลังของตลาด ถึงแม้นี่ยังไม่ได้หมายความว่าจะมีการยกเลิกเพิกถอนการวางแผนและการควบคุมของภาครัฐไปอย่างสิ้นเชิงเลยก็ตามที รายละเอียดรูปธรรมจริงๆ ของเรื่องนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก โดยสิ่งที่เราทราบในเวลานี้ก็มีเพียงข้อความนามธรรมกว้างๆ ของแถลงการณ์ ซึ่งกล่าวว่า ที่ประชุมเต็มคณะให้คำมั่นสัญญาที่จะ “เดินหน้าขับเคลื่อนให้รัฐวิสาหกิจทั้งหลายเข้าสู่ระบบแห่งการเป็นวิสาหกิจที่ดีและทันสมัย และสนับสนุนให้เศรษฐกิจในภาคที่มิใช่เป็นของรัฐมีการพัฒนาไปอย่างแข็งแรง”

แต่กระนั้นเราก็ยังพอจะอนุมานได้ว่า รัฐวิสาหกิจทั้งหลายจะต้องถูกปฏิรูป ขณะที่พวกบริษัทเอกชนจะได้รับการประคับประคอง ถึงแม้มีการใช้ศัพท์แสงเฉพาะวงการอันเข้าใจยากเช่นนี้ ทว่าข้อความที่พรรคต้องการส่งออกมาก็ยังคงมีความแจ่มแจ้ง นั่นก็คือ กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางครั้งใหญ่ การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่ใช่สิ่งที่บังเกิดขึ้นปุบปับภายในเวลา 1 วัน แต่พรรคสัญญาว่ามันจะเกิดขึ้นมาแน่ๆ

เมื่อไม่กี่วันมานี้ สำนักข่าวนิวไชน่านิวส์ (New China News Agency) ของทางการจีน ได้รายงานข่าวว่า รัฐวิสาหกิจต่างๆ จะเปิดกว้างมากขึ้นในการรับเงินลงทุนจากภาคเอกชน เรื่องนี้ย่อมจะส่งผลทำให้ภาครัฐควบคุมเศรษฐกิจลดน้อยลง และก็จะเป็นการอัดฉีดประสิทธิภาพเข้าไปในระบบเพิ่มมากขึ้น

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์ให้กับ อิล โซเล 24 โอเร (Il Sole 24 Ore) หนังสือพิมพ์รายวันในอิตาลี สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมล์ได้ที่ fsisci@gmail
กำลังโหลดความคิดเห็น