xs
xsm
sm
md
lg

เหตุรถชนคนที่‘เทียนอันเหมิน’กับ‘การต่อสู้เพื่อปฏิรูปจีน’

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Crash a symbol of China reform struggle
By Francesco Sisci
30/10/2013

เหตุการณ์รถยนต์คันหนึ่งพุ่งเข้าชนกลุ่มคนในบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน จากนั้นก็ไปชนราวเหล็กกั้นและเกิดไฟลุกท่วมทั้งคัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 5 คนในสัปดาห์นี้ ไม่ว่ามันจะเป็นการปฏิบัติการประท้วงอย่างชนิดมีการวางแผนเอาไว้หรือไม่ก็ตามที ก็ยังคงมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์อยู่นั่นเอง เมื่อพิจารณาจากความยากลำบากมากมายที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต้องเผชิญอยู่ในการผลักดันการปฏิรูปอันน่าตื่นเต้นระทึกใจ ซึ่งบัดนี้มาถึงขั้นตอนการตัดสินใจอย่างเป็นทางการอันสำคัญในกรุงปักกิ่ง ถ้าหาก สี ประสบความสำเร็จในการสร้างเศรษฐกิจภาคเอกชนที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้ การเจริญเติบโตด้วยฝีก้าวรวดเร็วของจีนก็จะดำเนินต่อไป แต่ถ้าเขาเพลี่ยงพล้ำปราชัย การแตกระเบิดจากภายในอย่างชนิดที่เคยเกิดขึ้นในสหภาพโซเวียตก็อาจจะติดตามมา

ปักกิ่ง – มันก็คล้ายๆ กับเกิดระเบิดตูมใหญ่ขึ้นในจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ ของนครวาติกัน ก่อนที่จะคณะคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเข้าสู่สถานที่เก็บตัวประชุมลับเพื่อสรรหาพระสันตะปาปาองค์ใหม่ หรือไม่ก็อาจเทียบได้กับการเกิดระเบิดบึ้มขึ้นมาตรงหน้าทำเนียบขาวก่อนที่ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอเมริกันจะทำพิธีสาบานตัวเข้ารับตำแหน่ง นี่แหละคือสถานการณ์ในเวลานี้ของประเทศจีน เมื่อรถยนต์คันหนึ่งพุ่งเข้าชนกลุ่มคนที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน ในตอนเที่ยงของวันจันทร์ (28 ต.ค.) ที่ผ่านมา ไม่ถึงสองสัปดาห์ก่อนจะมีการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่าจะมีการประกาศมาตรการปฏิรูปต่างๆ อย่างน่าตื่นเต้นชวนติดตาม

รถคันดังกล่าวหลังจากชนกลุ่มคนซึ่งมีทั้งนักท่องเที่ยวและตำรวจแล้ว ก็ได้ปะทะกับราวเหล็กกั้นสะพานและเกิดไฟลุกท่วม ทำให้ผู้อยู่ในรถทั้ง 3 คนเสียชีวิต เช่นเดียวกับผู้ที่อยู่แถวนั้นอีก 2 คน แล้วยังมีผู้บาดเจ็บอีกหลายสิบคน ภายหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปหลายชั่วโมงแล้ว ยังไม่เป็นที่ทราบกันว่ามันเป็นอุบัติเหตุหรือเป็นการก่อเหตุร้าย (หมายเหตุผู้แปล – ทางการตำรวจมหานครปักกิ่งเพิ่งมายืนยันว่าเป็น “การก่อเหตุแบบผู้ก่อการร้าย” ในวันพุธที่ 30 ต.ค.) ผู้เห็นเหตุการณ์บางคนเล่าว่าพวกเขาได้ยินเสียงเหมือนระเบิด แต่มันก็อาจจะเป็นเพียงเสียงของรถขณะปะทะเข้ากับราวเหล็กกั้นที่บริเวณขอบนอกของจัตุรัส ขณะที่คนอื่นๆ ระบุว่ารถยนต์คันนั้นได้ฝ่าเข้ามาแล่นในพื้นที่สำหรับคนเดินซึ่งอยู่ชิดกับขอบถนนเป็นระยะทางหลายสิบเมตรทีเดียว หนังสือพิมพ์ “โกลบอลเดลี่” (Global Daily) ที่มียอดจำหน่ายสูง เขียนฟันธงกันเลยว่า มันเป็นคาร์บอมบ์ฆ่าตัวตายของพวกผู้ก่อการร้ายชาวอุยกูร์ ทว่าทำไมในรถยนต์ระเบิดฆ่าตัวตายจึงต้องนำคนมานั่งถึง 3 คน แทนที่จะใช้เพียงแค่คนเดียว?

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรแน่ๆ เหตุการณ์เช่นนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของคนจีน และถ้าหากมันเป็นการปฏิบัติการที่มีการวางแผนเอาไว้ก่อน ก็ดูจะยิ่งมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งสามารถเทียบเคียงลงรอยเดียวกับละครอันน่าตื่นใจแห่งวาระการปฏิรูปทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังผลักดันอยู่ ทั้งนี้สื่อมวลชนของทางการจีนได้เสนอข่าวในวันอังคาร (29 ต.ค.) ว่า กรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ออกประกาศว่า พรรคจะจัดการประชุมคณะกรรมการกลางเต็มคณะเป็นเวลา 4 วันที่กรุงปักกิ่งระหว่างวันที่ 9 – 12 พฤศจิกายนนี้ โดยที่มีการคาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า การประชุมคราวนี้แหละจะมีการแถลงเดินหน้ามาตรการปฏิรูปเรื่องใหญ่ๆ จำนวนมาก

การปฏิรูปต่างๆ เหล่านี้ในที่สุดแล้วควรจะสามารถสกัดกั้นและทำให้พวกรัฐวิสาหกิจ (state-owned enterprises ใช้อักษรย่อว่า SOEs) ทั้งหลายกลายเป็นอัมพาต หลังจากที่กิจการซึ่งมีขนาดใหญ่โตแต่ไร้ประสิทธิภาพเหล่านี้ได้เป็นตัวการปล่อยมลพิษให้แก่พลังตลาด และบิดเบือนพลังตลาดมาอย่างยาวนาน เวลาเดียวกัน การปฏิรูปก็ควรจะสร้างเงื่อนไขที่เป็นธรรมมากขึ้นให้แก่บรรดาวิสาหกิจภาคเอกชน ซึ่งกลายเป็นตัวขับดันการพัฒนาของประเทศชาติมาหลายสิบปีแล้ว ทว่าในสายตาของทางการก็ยังคงมีฐานะเป็นเพียง “ซินเดอเรลลา” ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานสโมสรสันนิบาตของรัฐจีนเท่านั้น

เทียนอันเหมินนั้น ถือเป็นสถานที่ทางสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างแท้จริง จัตุรัสแห่งนี้ออกแบบโดยเหมา เจ๋อตง ผู้ซึ่งต้องการมหาจัตุรัสอันมีเนื้อที่ใหญ่โตกว้างขวางยิ่งกว่าจัตุรัสแดง (Red Square) ในกรุงมอสโก และใช้เป็นสถานที่จัดชุมนุมมวลชนขนาดใหญ่โตมหึมาเพื่อเอาไว้โอ่อวดชาวโซเวียต ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินนี่เอง “นายท้ายเรือผู้ยิ่งใหญ่” ผู้นี้ได้ประกาศเปิดฉาก “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ขึ้นในปี 1966 ต่อหน้าพวกเรดการ์ดวัยหนุ่มสาวจำนวนเป็นล้านๆ ซึ่งเดินทางมาจากทุกซอกทุกมุมของประเทศ ที่นี่อีกเช่นกันที่ยุคสมัยการปกครองของเหมาได้จบสิ้นลงในทางเป็นจริงในอีก 10 ปีต่อมา เมื่อผู้คนเป็นแสนๆ คนพากันหลั่งไหลทะลักสู่ถนนสายต่างๆ ในบริเวณนี้เพื่อระลึกถึงการถึงแก่อสัญกรรมของนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล อันเป็นการแสดงท่าทีท้าทายต่อต้านการปฏิวัติวัฒนธรรม

แล้วก็เป็นที่นี่อีกที่พวกนักศึกษาซึ่งเรียกร้องประชาธิปไตย ก่อการชุมนุมใหญ่ขึ้นมาในปี 1989 จากนั้นในปี 2000 เทียนอันเหมินอีกเช่นกันคือสถานที่ซึ่งพวกนักเคลื่อนไหวของลัทธิฝ่าหลุนกงที่ถูกประกาศให้เป็นองค์การผิดกฎหมายไปแล้ว ได้พยายามเคลื่อนไหวแสดงกำลังจนกระทั่งกลายเป็นการจุดไฟเผาตัวเอง นับตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมา มีการออกคำสั่งห้ามการชุมนุมในบริเวณจัตุรัสแห่งนี้ และมีการตระเตรียมตำรวจนอกเครื่องแบบพรักพร้อมสำหรับเข้าปฏิบัติการทำลายพฤติการณ์ประท้วงคัดค้านทั้งหลายทั้งปวง อย่างไรก็ตาม คุณย่อมไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้หรอกว่าจะมีใครใช้วิธีขับรถพุ่งเข้าไปชนราวเหล็กกั้น

ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม ทางการจีนเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยมากขึ้นอีกเท่าตัว รวมทั้งนำเอามาตรการป้องกันไว้ก่อนอย่างใหม่ๆ ออกมาใช้ กระนั้นข้อเท็จจริงยังคงมีอยู่ว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้อย่างหมดสิ้นสมบูรณ์แบบ เรื่องการประท้วงคัดค้านทางการเมืองนั้นยกเอาไว้ก่อนยังไม่พูดถึงก็ได้ แต่มันย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะป้องกันไม่ให้มีคนบ้าแม้สักคนเดียวก่อเรื่องก่อราวขึ้นมาในจัตุรัสเทียนอันเหมิน ในเมื่อคุณถูกรายล้อมอยู่ด้วยพลเมืองจีนจำนวนถึงประมาณ 1,400 ล้านคน

ฟังดูแล้วอาจจะรู้สึกเหมือนขัดกันเอง ทว่าในทางเป็นจริงแล้ว มีแต่จะต้องยิ่งเปิดกว้างและยิ่งโปร่งใสให้มากขึ้นอีกเท่านั้น จึงจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์เช่นนี้ได้ แม้ว่ามันอาจจะไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็จะสามารถเข้าจัดการได้ดีกว่าอย่างแน่นอนภายหลังเกิดเหตุแล้ว การที่พวกเจ้าหน้าที่ปิดปากเงียบอยู่ตั้งหลายชั่วโมงและแสดงท่าทีลำบากยุ่งยากในการติดต่อสื่อสาร – อย่างที่เกิดขึ้นในกรณีล่าสุดที่เทียนอันเหมินนี้ ล้วนแต่เป็นการสร้างบรรยากาศอิหลักอิเหลื่อ และทำให้เป็นการยากลำบากที่จะเข้าใจว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นมา ตลอดจนที่จะเชื่อถือคำแถลงของทางการ ไม่ว่าจะบอกกล่าวเล่าแถลงอะไรออกมา นอกจากนั้นแล้วยังมีเรื่องของความเป็นสัญลักษณ์ที่จะต้องตระหนักเอาไว้ให้ดี ทั้งนี้ภายหลังจากจีนดำเนินการปฏิรูปมาเวลา 30 ปี โดยที่ในตอนแรกๆ มีการริเริ่มส่งเสริมวิสาหกิจภาคเอกชนอย่างอิดๆ ออดๆ นั้น มาถึงเวลานี้ สี กำลังตระเตรียมที่จะประกาศการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างมโหฬารแล้ว

การเปิดทางให้พวกรัฐวิสาหกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ และพวกบริษัทเอกชนที่มีประสิทธิภาพมากกว่า มีสิทธิเข้าถึงตลาดได้อย่างเท่าเทียมกันนั้น ย่อมมีความหมายไม่ต่างอะไรกับการลงโทษทำให้พวกรัฐวิสาหกิจต้องมีบทบาทน้อยลงกว่าเดิมนั่นเอง สี นั้นระบุว่า พวกรัฐวิสาหกิจควรจะต้องถูกยกเลิกอภิสิทธิ์ในการผูกขาดกิจการด้านต่างๆ ที่เวลานี้พวกเขายึดครองอยู่ในมือ ขณะเดียวกัน สิทธิพิเศษของพวกเขาที่จะเข้าถึงสินเชื่อจากภาครัฐก็จะค่อยๆ ถูกลดลงไป และหันมาใช้มาตรการที่ก่อให้เกิดการแข่งขันกันเพิ่มมากขึ้นในหลายๆ ภาคส่วน

จังหวะก้าวเช่นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการรับประกันว่า การเจริญเติบโตของจีนจะยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาหลายสิบปีต่อจากนี้ และไม่ตกอยู่ในอาการสะดุดติดขัดเมื่อเวลาผ่านไปถึงช่วงประมาณปี 2020 อันเป็นระยะที่มีผู้คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะประสบภาวะล่มสลายแบบที่เคยเกิดขึ้นในสหภาพโซเวียตอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปเช่นนี้กำลังก่อให้เกิดกลุ่มที่ตั้งตัวเป็นศัตรูของ สี ขึ้นมาแล้วเป็นจำนวนมากมาย พวกเจ้าหน้าที่ของรัฐเยอะแยะ ทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก คิดถูกต้องทีเดียวที่เกิดความหวาดกลัวขึ้นมาว่าพวกเขากำลังจะถูกลดทอนอำนาจและบทบาทหน้าที่

เป็นเวลาหลายเดือนทีเดียว พวกฝ่ายค้านเหล่านี้กำลังชูธงอุดมการณ์แห่งลัทธิเหมาอิสต์ และพยายามโหมประโคมให้เห็นว่า ผู้ประกอบการภาคเอกชน (ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีจำนวนไม่กี่คน) กำลังเป็น “ปีศาจร้าย” ที่คอยเล่นงานเอารัดเอาเปรียบผู้คนซึ่งยังคงอยู่ส่วนล่างสุดของบันไดแห่งการพัฒนาทางสังคม พลังคัดค้านนี้ป่าวร้องอย่างเปิดเผยให้เห็นถึงความชอบธรรมและความแข็งแกร่งของพวกเขา และกำลังขัดขวางสกัดกั้นการปฏิรูป ดังนั้น สี จึงต้องใช้ธงแห่งลัทธิเหมาอิสต์เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะได้ริบเอาธงผืนนี้ออกมาจากพวกศัตรูของเขา, เพื่อผ่อนเพลาและสยบเสียงคัดค้านในหมู่ประชาชน, และเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้พลังต่างๆ ที่ต่อต้านการปฏิรูปเกิดการรวมกลุ่มมากขึ้นจนกลายเป็นแนวร่วมขึ้นมา

รถยนต์ที่ไฟลุกไหม้ท่วมคันในเทียนอันเหมิน กำลังกลายเป็นการแสดงท่าทีประท้วงคัดค้านการปฏิรูปไปแล้ว ไม่ว่ามันจะเป็นเหตุการณ์โจมตีจริงๆ หรือเป็นอุบัติเหตุ ในขณะเดียวกันมันก็เป็นสัญลักษณ์ของความยากลำบากจำนวนมากและใหญ่โตที่ สี กำลังเผชิญอยู่แล้วและจะต้องเผชิญต่อไปอีก ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศจีนอย่างลงรากลึกซึ้ง

ในประเทศจีนนั้น ผู้นำมีเวลาเตรียมการสำหรับการต่อสู้ทางการเมืองอันลำบากหนักหน่วงเป็นระยะเวลาหลายๆ ปี ถ้าหาก สี ประสบความสำเร็จในการสร้างเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับภาคเอกชนอันแข็งแกร่งขึ้นมาภายในช่วงเวลา 10 ปี ประเทศจีนก็จะสามารถมีสกุลเงินตราที่แลกเปลี่ยนกับสกุลอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ (อย่างที่คาดกันว่าจะมีการประกาศเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการกลางเต็มคณะคราวนี้) แล้วจากนั้นก็ควรที่จะสามารถใช้ประชาธิปไตยทางการเมืองในบางรูปแบบด้วย ถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้ว การพัฒนาก็จะสามารถดำเนินต่อเนื่องไปด้วยฝีก้าวอันรวดเร็วเป็นระยะเวลาอีกกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ถ้าหากการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม สี ประสบความเพลี่ยงพล้ำและพ่ายแพ้ เส้นทางสู่การแตกระเบิดขึ้นภายในตามแบบที่เคยเกิดขึ้นในสหภาพโซเวียต ก็ปรากฏขึ้นให้เห็นรำไรแล้วทั้งในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจ

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์ให้กับ อิล โซเล 24 โอเร (Il Sole 24 Ore) หนังสือพิมพ์รายวันในอิตาลี สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมล์ได้ที่ fsisci@gmail
กำลังโหลดความคิดเห็น