เอเอฟพี - นโยบายการคลังของฝรั่งเศสเริ่ม “เลยเถิด” จนเกินรับได้ หลังรัฐบาลเรียกเก็บภาษีบริษัทสูงมากจนอาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์เมืองน้ำหอม เมื่อค่ำวานนี้ (11)
โฆเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์ LCI ว่า แม้กรอบงบประมาณที่ฝรั่งเศสเสนอมา “จะเป็นที่น่าพอใจในภาพรวม... แต่วันนี้นโยบายการคลังของฝรั่งเศสเลยเถิดจนเกินจะรับได้”
“ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่บริษัทต่างๆ ต้องจ่ายภาษีให้รัฐแพงที่สุดในสหภาพยุโรป และนั่นจะเป็นปัญหาต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน”
บาร์โรโซ เรียกร้องให้ปารีส “ลดรายจ่ายสาธารณะลงบ้าง” เนื่องจากมาตรการทำนองนี้ยังไม่มีระบุอยู่ในแผนงบประมาณที่ฝรั่งเศสเสนอมา
ในวันศุกร์นี้ (15) คณะกรรมาธิการยุโรปจะแถลงผลประเมินภาพรวมเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในยูโรโซน ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพต่อสกุลเงินยูโร
สัปดาห์ที่แล้ว สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) เพิ่งจะปรับลดเครดิตของฝรั่งเศสลง 1 ขั้นเหลือ AA พร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายลดการขาดดุลสาธารณะและส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยูโรโซน เพิ่งหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) มาหมาดๆ เมื่อไตรมาสสองปีนี้ ด้วยอัตราการขยายตัว 0.5% ทว่าเศรษฐกิจในภาพรวมก็ยังคงไม่แข็งแกร่ง
ด้านเยอรมนีซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่โตที่สุดในยูโรโซนก็กำลังมาแรง โดยสถิติเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบว่า เมืองเบียร์ได้ดุลการค้าเกินดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์เกิน 6% ของจีดีพี
บาร์โรโซ ระบุว่า คณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมที่จะ “ศึกษาวิเคราะห์เชิงลึก” เกี่ยวกับความไม่สมดุลต่างๆ ของเศรษฐกิจเยอรมนีในวันพุธนี้ (13) พร้อมชี้ว่าตัวเลขดุลการค้าของเยอรมนีเป็นสิ่งที่ “เกินธรรมดา”
ชาติสมาชิกยูโรโซน, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหรัฐฯ ต่างกังวลว่าเศรษฐกิจเยอรมนีที่มีภาคส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก แต่อัตราการบริโภคภายในประเทศกลับต่ำ อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของกลุ่มยูโรโซน