xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ยอมรับ “ส่งออก” เดือน ก.ย. หดตัวรุนแรงเหนือความคาดหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธ.ไทยพาณิชย์ ชี้การส่งออกไทยเดือนกันยายน 2556 หดตัวรุนแรงเหนือความคาดหมาย แต่ยังหวังไตรมาส 4/2556 ดันยอดทั้งปีเติบโตได้ 1.5%

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินสถานการณ์ที่กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนกันยายนอยู่ที่ 19,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.1%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า) ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 18,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 5.2%YOY ดุลการค้าเกินดุล 473 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยหดตัวเหนือความคาดหมาย การส่งออกของไทยกลับมาหดตัวอีกครั้งหลังจากขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนกันยายนอยู่สูงกว่ามูลค่าการส่งออกเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกเพียงเล็กน้อย

การส่งออกไปยังญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยล้วนหดตัวในเดือนกันยายน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปญี่ปุ่น ที่หดตัวถึง 13.6%YOY นับเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และอุปกรณ์ ยางพารา และอาหารทะเลกระป๋องล้วนหดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าหมวดรถยนต์และอุปกรณ์ ที่ลดลงถึง 32.8%YOY ทั้งนี้ การส่งออกไปญี่ปุ่นที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินบาท และเงินสกุลอื่นในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี การส่งออกที่หดตัวค่อนข้างมากส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกทองที่ลดลง มูลค่าการส่งออกทองคำหดตัวถึง 80.6%YOY ในเดือนกันยายน ซึ่งหากไม่รวมการส่งออกทองคำ การส่งออกของไทยโดยรวมจะหดตัวเพียง 0.6%YOY นอกจากนี้ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าหลักของไทยโดยมีสัดส่วนต่อการส่งออกทั้งหมดประมาณ 10% ยังคงหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ไปยัง 2 ตลาดหลักอันได้แก่ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ หดตัวถึง 18.6%YOY และ 14.2%YOY ตามลำดับ

การนำเข้าหดตัวค่อนข้างมาก การนำเข้าเครื่องจักร ทั้งเครื่องจักรอุตสาหกรรม และเครื่องจักรไฟฟ้า หดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเครื่องจักรไฟฟ้า ที่หดตัวถึง 26.2%YOY การนำเข้าเครื่องจักรที่ลดลงเป็นผลจากการเร่งลงทุนไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ และยังขยายตัวอย่างจำกัดตามแนวโน้มการบริโภค และการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน

ดุลการค้าเกินดุล 473 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะไม่สูงมากนัก แต่การนำเข้าที่ลดลงค่อนข้างมาก ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยเกินดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี

EIC ประเมินว่าการส่งออกจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แม้การส่งออกจะหดตัวค่อนข้างมากในเดือนกันยายน แต่ EIC มองว่า การส่งออกในไตรมาส 4 จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก ต่อเนื่องถึงปีหน้า นอกจากนี้ การส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบที่กลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายนหลังจากหดตัวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา จะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกโดยรวมของไทยปรับตัวดีขึ้น และสามารถขยายตัวได้ประมาณ 1.5% ในปี 2013
กำลังโหลดความคิดเห็น