xs
xsm
sm
md
lg

นักอนุรักษ์เผย “10 สถานที่เสี่ยงมลพิษ” มากที่สุดในโลก-เตือนกระทบประชากร 200 ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ย่าน Agbogbloshie ในกรุงอักกรา เมืองหลวงของสาธารณรัฐกานา เป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงมลพิษมากที่สุด เนื่องจากเป็นแหล่งรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่อันดับ 2 ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก
เอเอฟพี - สถาบันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเผยแพร่รายนาม 10 สถานที่เสี่ยงมลพิษมากที่สุดในโลก พร้อมเตือนว่าประชากรโลกหลายร้อยล้านคนกำลังใช้ชีวิตอยู่ในความเสี่ยง วานนี้ (4)

ริชาร์ด ฟุลเลอร์ ผู้อำนวยการสถาบันแบล็กสมิธ ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ ประเมินว่า “ประชากรโลกกว่า 200 ล้านคนเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพ เนื่องจากมลพิษในประเทศกำลังพัฒนา”

สถาบันแบล็กสมิธ ร่วมกับ กรีน ครอสส์ สวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดพิมพ์รายนาม “สถานที่ที่มีมลพิษร้ายแรงที่สุดในโลก” 10 อันดับแรก โดยสรุปจากผลประเมินความเสี่ยงกว่า 2,000 กรณีใน 49 ประเทศ

ย่าน Agbogbloshie ในกรุงอักกรา เมืองหลวงของสาธารณรัฐกานา ถูกจัดเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงมลพิษมากที่สุด เนื่องจากเป็นแหล่งรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่อันดับ 2 ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก

ทุกๆ ปี กานาจะนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มือสองราว 215,000 ตันจากประเทศแถบยุโรปตะวันตก และตัวเลขนี้ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มอีกเท่าตัว ภายในปี 2020

ปัญหาสำคัญจากกระบวนการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในกานาก็คือ การเผาทำลายสายเคเบิลเพื่อเอาลวดทองแดงที่อยู่ภายใน ซึ่งสายเคเบิลอาจมีส่วนประกอบของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว เป็นต้น

รายงานชิ้นนี้ระบุว่า จากการสุ่มตรวจตัวอย่างดินบริเวณย่าน Agbogbloshie พบว่ามีโลหะอันตรายปนเปื้อนเกินมาตรฐานถึง 45 เท่า

“ขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ มันเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน เพราะทุกคนล้วนอยากมีคอมพิวเตอร์, แล็ปท็อป และอุปกรณ์ทันสมัยอื่นๆ ดังนั้นผมคิดว่าสิ่งที่เราเห็นในวันนี้เป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น” แจ็ก คาราวาโนส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจากสถาบันแบล็กสมิธให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
เจ้าหน้าที่กลุ่มกรีนพีซสวมชุดป้องกันขณะสำรวจสารพิษที่ถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำซิตารุม ในจังหวัดชวาตะวันตกของอินโดนีเซีย (แฟ้มภาพ)
สถานที่อื่นๆ ซึ่งมีชื่อติดโผมลพิษเป็นครั้งแรกในปีนี้ ได้แก่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำซิตารุมในจังหวัดชวาตะวันตกของอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรอยู่อาศัยประมาณ 9 ล้านคน และยังมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ราว 2,000 แห่ง

ชาวบ้านยังคงใช้น้ำจากแม่น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก แต่จากการตรวจสอบพบว่าแม่น้ำสายนี้เต็มไปด้วยสารพิษ เช่น อะลูมิเนียม และแมงกานีส และเมื่อสุ่มตรวจด้วยมาตรฐานน้ำดื่มก็พบว่า มีปริมาณสารตะกั่วเกินกว่ามาตรฐานน้ำดื่มของสหรัฐฯ กว่า 1,000 เท่า

กาลิมันตัน ซึ่งเป็นดินแดนของอินโดนีเซียบนเกาะบอร์เนียว ก็ถูกจัดเป็นพื้นที่เสี่ยงมลพิษจากการขุดหาแร่ทองคำด้วยวิธีพื้นบ้าน โดยนักขุดทองส่วนใหญ่จะใช้สารปรอทในกระบวนการสกัดทองคำ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โลหะหนักชนิดนี้แพร่กระจายออกไป

ย่าน Hazaribagh ในเมืองหลวงของบังกลาเทศก็เป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยง โดยแต่ละวันโรงงานฟอกหนังราว 270 แห่งจะปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็งโครเมียม 6+ ราวๆ 22,000 ลูกบาศก์ลงสู่แม่น้ำบุรีคงคา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของกรุงธากา และเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของพลเมือง

สถานที่อื่นๆ ซึ่งถูกจัดเป็นพื้นที่เสี่ยงมลพิษมากที่สุดเช่นกัน ได้แก่ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ในไนจีเรีย, ที่ราบลุ่มแม่น้ำมาตันซา-ริอาชูเอโลในอาร์เจนตินา, โรงไฟฟ้าเชอร์โนเบิลในยูเครน, เมือง Norilsk และ Dzershinsk ในรัสเซีย และเมืองคับเวในแซมเบียซึ่งมีการทำเหมืองตะกั่ว

จีนและอินเดียซึ่งเคยติดโผสถานที่เสี่ยงมลพิษมากที่สุดในโลกเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ไม่มีชื่อในลิสต์สำหรับปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น