เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - “โซโคอินเตอร์เนชันแนล” บริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันสัญชาติอังกฤษต้องยกเลิกแผนการขุดเจาะน้ำมันในเขตอุทยานแห่งชาติที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปแอฟริกา กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) องค์การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมชื่อดังระบุวานนี้ (1 ส.ค.)
WWF แถลงว่าเป็นแผนการที่ผิดมหันต์ที่จะขุดเจาะน้ำมันในอุทยานวิรุงกา ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (สป.คองโก) ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของกอริลลาที่ใกล้สูญพันธุ์ และสัตว์อื่นๆ อีก 3,000 ชนิด และกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางไปทั่วโลกจากภาพยนตร์เรื่อง “กอริลลาส์อินเดอะมิสต์” (Gorillas in the Mist)
“พวกบริษัทน้ำมันกำลังยืนอยู่ที่ธรณีประตูของหนึ่งในสถานที่ซึ่งทรงคุณค่าที่สุดและเปราะบางที่สุดในโลก” แลส กุสตาฟส์สัน ประธานฝ่ายบริหารขององค์การ WWF กล่าวกับสื่อมวลชน
ทางด้าน รุย เด ซูซา ประธานของบริษัท โซโค ได้กล่าวย้ำในการแถลงเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า บริษัท “ใส่ใจอย่างที่สุดต่อความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมของอุทยานแห่งชาติวิรุงกา” และรู้สึกกระตือรือร้นที่จะหาทางพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่นี้ไปพร้อมๆ กัน
อุทยานวิรุงกาซึ่งมีเนื้อที่ 7,800 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1925 ช่วงเวลาที่สป.คองโกยังคงตกเป็นประเทศอาณานิคมของเบลเยียม
เรย์มอนด์ ลุมบูเอนาโม ผู้อำนวยการองค์การ WWF แห่ง สป.คองโก กล่าวหาว่ารัฐบาลสป.คองโกเองก็มีส่วนผิด
แม้ว่าประเทศจะมีกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม และในเรื่องการทำข้อตกลงกับนานาชาติ แต่รัฐบาลของสป.คองโก ประเทศที่ประสบกับความขัดแย้งภายในประเทศอย่างหนัก ทว่าร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติกลับประกาศให้สัมปทานน้ำมันในพื้นที่ส่วนใหญ่ในอุทยานเมื่อปี 2007
“การสำรวจแหล่งน้ำมันที่นี่อาจส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อชุมชนในพื้นที่ซึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานวิรังกา เป็นต้นว่า ปลา น้ำดื่ม และสิ่งจำเป็นอื่นๆ” ลุมบูเอนาโมกล่าว
ทางด้านองค์การยูเนสโก องค์การด้านวัฒนธรรมของยูเอ็นแถลงแล้วว่า การสำรวจแหล่งน้ำมันและการขุดเจาะน้ำมันจะทำลายสถานภาพความเป็นมรดกโลกของวิรังกา และเมื่อเดือนพฤษภาคม โททาล บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ซึ่งถือสัมปทานร่วมกับบริษัทโซโค ระบุว่าจะไม่ขุดเจาะน้ำมันที่อุทยานแห่งนี้
ทว่าเด ซูซา ประธานโซโคกลับเน้นย้ำว่า หากสป.คองโกต้องการสำรวจแหล่งน้ำมันต่อไป “บริษัทอังกฤษที่มีความรับผิดชอบ และน่าเชื่อถืออย่างโซโคย่อมจะเป็นผู้ดำเนินการที่เหมาะสมที่สุดในกรณีนี้”
บริษัทนี้สัญญาว่าจะไม่ขุดเจาะเขตภูเขาซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของกอริลลาหรือพื้นที่อื่นที่มีความอ่อนไหวมาก
นอกจากจะเป็นถิ่นกำเนิดของดอกไม้และสัตว์ประจำถิ่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติแล้ว บรรดาทุ่งหญ้าสะวันนา แม่น้ำ ทะเลสาบ และหนองบึง ในอุทยานวิรุงกาต่างก็เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญยิ่งต่อมนุษย์นับล้านคน WWF ระบุ
อย่างไรก็ตาม เด ซูซา ออกมาย้ำว่าจะมีการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด และการสร้างสาธารณูปโภคในระหว่างที่บริษัทดำเนินโครงการสำรวจน้ำมันในอุทยานแห่งนี้
“โครงการน้ำมันที่ประสบความสำเร็จจะช่วยพัฒนาสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ” เขากล่าว
ทว่า WWF ไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าอุตสาหกรรมน้ำมันอาจจะสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งอย่างยืดเยื้อยาวนานในระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มกบฏ ฝ่ายรัฐบาล และรวันดา ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน
กุสตาฟส์สันได้ยกตัวอย่างกรณีพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ ของไนจีเรีย โดยกล่าวว่าโครงการที่ดำเนินมานับทศวรรษในพื้นที่นั้นได้ก่อให้เกิดมลพิษ และแม้การขุดเจาะน้ำมันจะสร้างรายได้ประจำปีเป็นมูลค่าราว 10 พันล้านดอลลาร์ แต่ประชาชนในท้องถิ่นก็ยังแทบไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย
สำหรับที่ สป.คองโก เขากล่าวว่ามีความเสี่ยงที่จะมีชาวต่างชาติพากันไหลบ่าเข้ามาหางานทำ ซึ่งเป็นเหมือนการสุมไฟให้ทำให้ความขัดแย้งที่มีอยู่เดิมยิ่งร้อนระอุขึ้นอีก
รายงานของดัลเบิร์ก บริษัทที่ปรึกษาอิสระซึ่ง WWF เป็นผู้มอบหมายให้จัดทำขึ้นระบุว่า การใช้ประโยชน์จากการจับปลา ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ และจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในเขตอุทยานแห่งนี้ก็สามารถสร้างรายได้ถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี แม้รายงานดังกล่าวจะยังเน้นย้ำว่าสป.คองโกจะต้องมีสันติภาพเสียก่อน