เอเจนซีส์ - ฝรั่งเศสและเยอรมนีต่างออกมาตอบโต้ในวันพุธ (30 ต.ค.) หลังจาก 1 วันก่อนหน้านั้น พวกผู้นำ หน่วยงานจารกรรมของสหรัฐฯ พยายามพลิกกระแสความไม่พอใจของฝ่ายยุโรป ซึ่งมีต่อรายการข่าวการแอบดักฟังทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างกว้างขวางของอเมริกา โดยที่ “บิ๊ก” ข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ยืนยัน การสอดแนมประมุขต่างชาติเป็น “หลักการพื้นฐาน” ของการปฏิบัติการข่าวกรองของทุกๆ ประเทศ ขณะที่ผู้อำนวยการเอ็นเอสเอก็แจกแจงว่า รายงานที่กล่าวหาวอชิงตันดักฟังการสื่อสารของชาวยุโรปนับล้านๆ “ผิดทั้งเพ” เพราะจริงๆ แล้วข้อมูลเหล่านั้นแฮกโดยหน่วยงานข่าวกรองของยุโรปเอง
ระหว่างให้การต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (29) เจมส์ แคลปเปอร์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งหมายเลขหนึ่งของประชาคมข่าวกรองอเมริกัน ได้ปกป้องโครงการดักฟังโทรศัพท์และตรวจสอบอีเมลของชาวอเมริกันนับล้านว่า จำเป็นต่อการต่อต้านการก่อการร้าย
แคลปเปอร์ยังพยายามลดกระแสความไม่พอใจของพันธมิตรในยุโรป โดยกล่าวว่า ตลอด 50 ปีที่เขาทำงานด้านข่าวกรอง การเก็บข้อมูลที่เป็นความลับเกี่ยวกับผู้นำต่างชาติ ไม่ว่าด้วยการสอดแนมการสื่อสารหรือวิธีการอื่นๆ ถือเป็น “หลักการพื้นฐาน” ของหน่วยงานข่าวกรองทุกๆ ประเทศ
ต่อข้อถามจาก ส.ส.ไมค์ โรเจอร์ส ประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้ที่ว่า ผู้นำสหรัฐฯ ถูกพันธมิตรสอดแนมเช่นเดียวกันหรือไม่ แคลปเปอร์ตอบว่า “แน่นอน”
ส่วนคำถามเกี่ยวกับการเก็บบันทึกการใช้โทรศัพท์ในฝรั่งเศส สเปน และประเทศอื่นๆ พล.อ.เคธ อเล็กซานเดอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ยืนยันว่า อเมริกาไม่ได้เป็นคนดำเนินการตามที่มีรายงานออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่งสร้างความไม่พอใจไปทั่วยุโรป
อเล็กซานเดอร์แจงว่า แท้จริงแล้วอเมริกาได้รับข้อมูลดังกล่าวจากพันธมิตรนาโต อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางทหาร และว่ารายงานของสื่อมวลชนในฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี “ผิดถนัด” เนื่องจากสับสนกับข้อมูลที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างของเอ็นเอสเอ ลักลอบนำออกมาเผยแพร่
ก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า การสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์ดำเนินการโดยหน่วยข่าวกรองของฝรั่งเศสและสเปนเอง โดยมีฐานปฏิบัติการอยู่นอกพรมแดนหรือบางครั้งในเขตสงคราม จากนั้นจึงส่งข้อมูลให้แก่เอ็นเอสเอ
หากรายงานของวอลล์สตรีทเจอร์นัลเป็นจริง จะทำให้รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปหน้าม้านเป็นแถว เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ออกมาประท้วงอเมริกาอย่างรุนแรงว่า ละเมิดความเป็นส่วนตัวของพลเมืองของตน
ทางด้าน ส.ว.ไดแอน ไฟน์สไตน์ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐฯ ออกมาสนับสนุนเรื่องนี้ทันทีว่า อเมริกาไม่เกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลการสื่อสารในฝรั่งเศสและเยอรมนี อีกทั้งข้อมูลเหล่านั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพลเมืองของสองประเทศ โดยยังเป็นการเก็บข้อมูลในพื้นที่สงครามของนาโต เช่น อัฟกานิสถาน
การให้การของแคลปเปอร์และอเล็กซานเดอร์มีขึ้นขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังพิจารณาห้ามอเมริกาดักฟังโทรศัพท์ผู้นำชาติพันธมิตร ท่ามกลางบรรยากาศความโกรธเคืองอย่างรุนแรงในเยอรมนีจากรายงานที่อ้างอิงข้อมูลลับที่สโนว์เดนเปิดโปง ซึ่งระบุว่า วอชิงตันดักฟังโทรศัพท์อังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีมากว่า 10 ปี รวมทั้งเก็บข้อมูลการใช้โทรศัพท์และการสื่อสารออนไลน์ของพลเมืองในยุโรปหลายสิบล้านรายการ
เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวที่ไม่ประสงค์ออกนามเสริมว่า ยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายแต่อย่างใด เนื่องจากโอบามาต้องการรอฟังผลการตรวจสอบแนวทางการปฏิบัติในการสอดแนมของสหรัฐฯ ก่อน
**รัฐบาลฝรั่งเศส-เยอรมนีตีศอกตอกคืน**
ต่อมาในวันพุธ (30ต.ค.) นาจัต วัลโล-เบลกาเซม โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศส ได้ออกมาแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีแดนน้ำหอม โดยเธอพูดถึงการตอบโต้ของ พล.อ.คีธ อเล็กซานเดอร์ ผู้อำนวยการเอ็นเอสเอของสหรัฐฯที่ว่า พวกหน่วยข่าวกรองของยุโรปต่างหาก ที่เป็นผู้ส่งข้อมูลการใช้โทรทัศน์ของชาวยุโรปมาให้แก่ทางอเมริกา และวิจารณ์ว่าเรื่อง “ไม่น่า” จะเป็นอย่างที่อเล็กซานเดอร์พูด
เธอย้ำถึงการทำความตกลงกันในสัปดาห์ที่แล้วระหว่างประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส กับนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ที่ว่าจะทำความเข้าใจกับสหรัฐฯ ให้ได้ เกี่ยวกับความประพฤติในการรวบรวมข่าวกรองในระหว่างชาติพันธมิตรด้วยกัน
“เราจะต้องฉายแสงสว่างส่องให้เห็นการประพฤติปฏิบัติที่ทำกันมาในอดีตให้ชัดเจน และสร้างความมั่นใจว่าในอนาคตสิ่งต่างๆ จะทำกันออกมาได้อย่างดีที่สุด ... เราไม่สามารถปล่อยให้มีความสงสัยเคลือบแคลงเกิดขึ้นในระหว่างพันธมิตรได้” เธอระบุ
ทางด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส โรแมง นาดัล ได้แถลงในวันพุธเช่นกันว่า มีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับ “ลักษณะและขนาดขอบเขตของการแอบดักฟังของสหรัฐฯที่กระทำในดินแดนของเรา”
ขณะเดียวกัน เขายืนยันว่า “สำหรับกิจกรรมสอดแนมที่พวกหน่วยงานข่าวกรองของเรากระทำอยู่นั้น หน่วยงานเหล่านี้ยึดมั่นอยู่ในขอบเขตของกฎหมายอย่างเข้มงวด”
สำหรับเยอรมนี ระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงเบอร์ลินในวันพุธ สเตฟเฟน ไซแบร์ต โฆษกรัฐบาลเมืองเบียร์ ได้ถูกสอบถามความเห็นเกี่ยวกับคำพูดของแคลปเปอร์ ที่ว่าผู้นำของสหรัฐฯก็ถูกพวกชาติพันธมิตรสอดแนมเช่นกัน ซึ่งโฆษกผู้นี้ตอบโดยอ้างอิงคำพูดของ แกร์ฮาร์ด ชินด์เลอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบีเอ็นดี ที่เป็นหน่วยงานข่าวกรองในต่างประเทศของเยอรมนี ตอนที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บิลด์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ชินด์เลอร์บอกว่า สำนักงานของเขาไม่ได้กำลังดำเนินงานสอดแนมใดๆ ต่อรัฐบาลสหรัฐฯ เลย
ชินด์เลอร์พูดด้วยซ้ำว่า ระบบทางเทคนิคของทางสำนักงานที่อาจจะสามารถรวบรวมข่าวกรองแบบสุ่มได้นั้น ก็ได้ถูกทำให้เสียใช้การไม่ได้
อนึ่ง ชินด์เลอร์ยังได้ออกมาพูดแบบเดียวกันนี้อีกครั้งในวันพุธ (30) โดยเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ “ไซต์” ของเยอรมนีระบุว่า เขาชี้ชัดๆ ว่า เยอรมนีไม่ได้ดำเนินปฏิบัติการแอบดักฟังใดๆ จากสถานเอกอัครราชทูตของตนในวอชิงตันเลย