เอเจนซีส์ - ทำเนียบขาวเผยจะติดตามสอดส่องการเก็บรวบรวมข่าวกรอง และอาจตั้งข้อจำกัดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความโปร่งใส หวังคลี่คลายความแค้นเคืองของยุโรปที่มีต่อการสอดแนมครอบจักรวาลของอเมริกาตั้งแต่คนธรรมดาจนถึงผู้นำ โดยคณะผู้แทนจากบรัสเซลส์ชี้ สิ่งที่วอชิงตันต้องรีบเร่งกระทำคือการฟื้นความไว้ใจและรับปากว่า จะเลิกดักฟังผู้นำชาติพันธมิตร
เจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาวแถลงเมื่อวันจันทร์ (28) ว่า ขณะนี้คณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังพยายามหาแนวทางเพิ่มความโปร่งใส และร่วมมือกับรัฐสภาอเมริกัน ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยความรักชาติ ซึ่งประกาศใช้ภายหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 โดยจะต้องเพิ่มการตรวจสอบและเพิ่มข้อจำกัดของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่เก็บรวบรวมข่าวกรอง
วันเดียวกัน หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ในคณะรัฐบาลและรัฐสภาว่า โอบามากำลังพิจารณาจะสั่งห้ามการดักฟังผู้นำชาติพันธมิตร ท่ามกลางกระแสเดือดดาลของยุโรปที่ถูกสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) เจาะข้อมูลการสื่อสารทั้งทางโทรศัพท์และออนไลน์ ตั้งแต่พลเมืองธรรมดานับสิบๆ ล้านคน ไปจนกระทั่งระดับผู้นำ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี
ตัวโอบามาเองซึ่งให้สัมภาษณ์ข่าวเครือข่ายโทรทัศน์เอบีซีนิวส์ แม้ปฏิเสธที่จะยืนยันเรื่องดังกล่าวโดยอ้างความจำเป็นในการปกปิดปฏิบัติการข่าวกรองเป็นความลับ แต่ยอมรับว่า คณะรัฐบาลกำลังประเมินวิธีการเก็บข้อมูลข่าวกรองของหน่วยงานต่างๆ เสียใหม่
ขณะเดียวกัน ส.ว.ไดแอนน์ เฟนสไตน์ แห่งพรรคเดโมแครต ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาแถลงว่า ไม่ได้รับทราบเกี่ยวกับขอบเขตกิจกรรมของเอ็นเอสเอ และประกาศตรวจสอบปฏิบัติการสอดแนมครั้งใหญ่ พร้อมระบุว่า ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงในการดักฟังผู้นำชาติพันธมิตร ซึ่งรวมถึงฝรั่งเศส สเปน เม็กซิโก และเยอรมนี
เฟนสไตน์ ซึ่งเคยปกป้องเอ็นเอสเอมาก่อน มาในคราวนี้วิพากษ์ว่า การที่โอบามาไม่ล่วงรู้ว่าแมร์เคิลถูกดักฟังโทรศัพท์ถือเป็น “ปัญหาใหญ่” และว่า ประธานาธิบดีจำเป็นต้องอนุมัติการรวบรวมข่าวกรองในลักษณะนี้
ท่ามกลางความตึงเครียดในสองฟากฝั่งแอตแลนติกเช่นนี้ คณะผู้แทนของสภายุโรปชุดหนึ่งได้เข้าพบไมค์ โรเจอร์ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯเมื่อวันจันทร์
โคลด มอเรส สมาชิกรัฐสภายุโรปจากอังกฤษ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการฟื้นความไว้วางใจและให้คำมั่นกับยุโรปว่า จะไม่มีการล่วงละเมิดด้วยการสอดแนมอีก
แต่สำหรับเอลมาร์ บร็อก ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของสภายุโรป แสดงความไม่พอใจชัดเจนว่า การสอดแนมแมร์เคิลและผู้นำอื่นๆ มานานกว่า 10 ปีเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเชื่อว่า การดักฟังแมร์เคิลเข้าข่ายละเมิดกฎหมายเยอรมนี
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมนียังออกมาเปิดเผยในวันเดียวกันโดยอ้างอิงมติที่ไม่มีผลผูกพันที่สภายุโรปอนุมัติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ให้ระงับข้อตกลง “สวิฟต์” ที่อนุญาตให้อเมริกาเข้าถึงข้อมูลการโอนเงินของพวกธนาคารในยุโรป เพื่อวัตถุประสงค์ในการสกัดช่องทางอัดฉีดเงินให้ขบวนก่อการร้าย ทั้งนี้เนื่องจากในเวลานี้เชื่อกันว่า วอชิงตันใช้ข้อมูลนี้เพื่อรวบรวมข่าวกรองทางเศรษฐกิจของยุโรปด้วย
อนึ่ง คณะผู้แทนจากยุโรปมีกำหนดหารือกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศและผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติในวันอังคารและพุธ (29-30) และในเร็วๆ นี้สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ จะเดินทางไปบรัสเซลส์เพื่อประชุมติดตามผลร่วมกับเจ้าหน้าที่ยุโรป