เอเอฟพี – ในแต่ละปีจะมีเด็กสาวในประเทศกำลังพัฒนา ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ราว 7.3 ล้านคน คลอดลูกในสภาพที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต และทุกข์ทรมาน ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมเป็นเพียงหนทางเดียวเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ รายงานขององค์การสหประชาชาติฉบับหนึ่ง ซึ่งนำออกเผยแพร่วันนี้ (30 ต.ค.) ระบุ
เด็กสาวในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา และเอเชียใต้ โดยที่มีรายงานว่าเด็กสาวทุก 1 ใน 10 คนในบังกลาเทศ ชาด กินี มาลี โมซัมบิก และไนเจอร์ มีลูกก่อนอายุ 15 ปีเสียอีก รายงานของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ระบุ
ข้อมูลจากรายงานประจำปีว่าด้วย “สถานะประชากรโลก” (State of World Population) ของกองทุนนี้ระบุว่า ในแต่ละปี เด็กสาวประมาณ 70,000 คน ที่อายุตั้งแต่ 10-19 ปี ต้องจบชีวิตเพราะภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร
มีเด็กสาวหลายคนที่ถูกปล่อยให้เป็นโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และต้องเจ็บปวดจากการคลอดลูกเพราะสภาพร่างกายยังไม่พร้อม นอกจากนี้พวกเธอยังต้องเผชิญกับชีวิตข้างหน้าที่ลำบากยากแค้น ในกรณีที่พวกเธอถูกบีบให้ออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย
กองทุน UNFPA กล่าวเตือนว่า เรื่องนี้เป็น “ปัญหาใหญ่ระดับโลก” ที่ต้องได้รับการใส่ใจ อีกทั้งได้กระตุ้นเตือนให้รัฐบาล และองค์กรภาคประชาชนตระหนักว่า เด็กสาวเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงฝ่ายเดียว
ปัญหาความยากจน การขาดการศึกษา การขาดความรู้ในเรื่องวิธีคุมกำเนิด และการบังคับให้เด็กแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย กระทั่งการทารุณทางเพศ ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุของปัญหานี้ ทั้งนี้พบว่า 9 ใน 10 ของเด็กสาวที่มีลูกตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นผู้ตั้งครรภ์เนื่องจากการแต่งงาน หรือการมีคู่ครองอย่างเป็นทางการ
“บ่อยครั้งที่สังคมเอาแต่จ้องประณามเด็กสาวที่ตั้งท้อง” บาบาตุนเด โอโซติเมฮิน ผู้อำนวยการบริหารของกองทุน UNFPA กล่าวก่อนการนำเสนอรายงานที่ใช้ชื่อเฉพาะฉบับว่า “การเป็นแม่ในวัยเด็ก” (Motherhood in Childhood) ฉบับนี้ที่กรุงลอนดอน
“จริงๆ แล้วก็คือ การตั้งท้องของเด็กสาววัยรุ่นโดยส่วนใหญ่ ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของพวกเธอ แต่เป็นเพราะพวกเธอไม่มีทางเลือก และตกอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้”
ผลการสำรวจด้านสุขภาพชี้ว่า มีผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาที่อายุตั้งแต่ 20 ถึง 24 ปีถึง 19 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น 36.4 ล้านคน (ตามข้อมูลของตัวเลขประชากรปี 2010) มีลูกคนแรกก่อนตัวเองอายุ 18 ปี
ในจำนวนดังกล่าว มีประมาณ 17.4 ล้านคนอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ขณะที่ 10.1 ล้านคนมาจากแอฟริกาใต้ทะเลทรายสะฮารา และอีก 4.5 ล้านคนจากละตินอเมริกา และแคริบเบียน กองทุน UNFPA เผย
จากตัวเลขเหล่านี้ คณะผู้จัดทำรายงานฉบับนี้คำนวณว่า ในแต่ละปีมีเด็กสาว 7.3 ล้านคนกลายเป็นแม่คน ขณะที่พวกเธอเองยังเป็นเด็ก โดยที่ 2 ล้านคนในจำนวนดังกล่าวมีอายุ 14 ปี หรือต่ำกว่านั้นด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เด็กสาวในภูมิภาคเอเชียใต้ถึง 2.9 ล้านคน, ในแอฟริกาใต้ทะเลทรายสะฮารา 1.8 ล้านคน ตลอดจนในละตินอเมริกา และแคริบเบียนอีก 0.5 ล้านคน มีลูกคนแรกก่อนอายุ 15 ปี
รายงานฉบับดังกล่าวชี้ว่า เด็กผู้หญิงเหล่านี้ต้องมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากว่าจะเสียชีวิต หรือบาดเจ็บจากการคลอดบุตร เกิดภาวะอ่อนเพลียจากการคลอดที่นานผิดปกติ และการคลอดติดขัด โดยที่ในกรณีเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเด็กที่เกิดมาจะเสียชีวิต และแม่ที่ไม่ได้คลอดด้วยวิธีการผ่าตัดจะมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
อย่างไรก็ตาม มีรายงานออกมาว่า เด็กสาวในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ที่มีลูกตั้งแต่อายุยังน้อยนั้นมีเปอร์เซ็นต์ลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ไม่ได้หมายรวมถึงประเทศในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา
สำหรับประเทศที่มีแม่วัยเด็กคิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุด คือ ไนเจอร์ (51 เปอร์เซ็นต์) ตามมาด้วย ชาด (48 เปอร์เซ็นต์) มาลี (46 เปอร์เซ็นต์) กินี (42 เปอร์เซ็นต์) และโมซัมบิก (40 เปอร์เซ็นต์)
ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ประสบปัญหาแม่วัยรุ่นเช่นกัน แต่คิดเป็นเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของปัญหาทั่วโลก คือ ราว 680,000 คน โดยเกือบครึ่งมาจากสหรัฐฯ
ในทุกประเทศ เด็กสาวที่ยากจน มีการศึกษาต่ำ และอาศัยอยู่ตามพื้นที่ทุรกันดารเป็นผู้ที่มีโอกาสตั้งท้องมากกว่า และปัจจัยเหล่านี้คือหนทางสำคัญที่จะช่วยเหลือพวกเธอได้
ด้วยเหตุนี้ กองทุน UNFPA จึงเรียกร้องให้ผู้ปกครองพยายามส่งเด็กผู้หญิงเข้าเรียนในโรงเรียน สอนวิชาเพศศึกษาให้พวกเธอ ยุติการจับเด็กแต่งงาน เปลี่ยนทัศนคติในเรื่องบทบาท และความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแม่วัยเด็กอย่างมากกว่านี้
“เราต้องสะท้อนปัญหา และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย รวมถึงบรรทัดฐานของครอบครัว และของรัฐบาล ที่บีบบังคับให้เด็กผู้หญิงไม่มีทางเลือก แต่ผลักไสให้พวกเธอเดินไปในทางที่นำไปสู่การตั้งท้องตอนอายุยังน้อย” โอโซติเมฮินกล่าวสรุป