xs
xsm
sm
md
lg

“ชาติซาฮารา” หารือใหญ่ ร่วมป้องกันก่อการร้ายเครือข่าย “อัลกออิดะห์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากแฟ้ม) สมาชิกของกองกำลังฝ่ายป้องกันลิเบีย ขณะเตรียมการคุ้มกันความปลอดภัยให้แก่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล
เอเอฟพี – บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศจากชาติต่างๆ ทั่วทะเลทรายซาฮารา จรดภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ มารวมตัวกันที่กรุงราบัต ของโมร็อกโกในวันนี้ (14 พ.ย.) เพื่อหารือถึงหนทางรักษาความปลอดภัยในบริเวณพรมแดน และรับมือกับเหตุรุนแรงฝีมือเครือข่ายอิสลามิสต์ ซึ่งปะทุขึ้นในภูมิภาคทะเลทรายซาฮาราอันกว้างใหญ่ไพศาล

นอกจากนี้ เหล่าเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ก็มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งมุสตาฟา คัลฟี รัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารของโมร็อกโกกล่าวว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อ “เพิ่มความมีชีวิตชีวา” ให้แก่ความร่วมมือในระดับภูมิภาค เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการของสถานการณ์ในมาลีและลิเบีย

ทั้งนี้ มาลียังคงกำลังเผชิญกับเหตุไม่สงบ ซึ่งเป็นฝีมือของเครือข่ายอิสลามิสต์ ถึงแม้ตั้งแต่เมื่อ 10 เดือนก่อน ฝรั่งเศสเริ่มใช้ปฏิบัติการทางทหาร ขับไล่กลุ่มก่อการร้ายเครือข่ายอัลกออิดะห์ ที่กำลังยึดครองภาคเหนือของประเทศนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้สื่อข่าววิทยุชาวฝรั่งเศส 2 รายถูกฆ่าตาย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

โรแมง นาดาล โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสกล่าว ก่อนการประชุมที่กรุงราบัตว่า “การ (ใช้ปฏิบัติการทหาร) แทรกแซงที่มาลีไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด และยังคงเกิดเหตุรุนแรงที่นั่น”

ตอนนี้ พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงออกมาเตือนด้วยว่า พื้นที่แถบทะเลทรายอันกว้างใหญ่ ในภาคใต้ของลิเบียก็กำลังกลายเป็นแหล่งกบดานล่าสุด ของกลุ่มหัวรุนแรงติดอาวุธที่หลบหนีมาจากมาลี ประเทศเพื่อนบ้าน
(ภาพจากแฟ้ม) หอสังเกตการณ์ของสเปน ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพรมแดนรอยต่อระหว่างสเปน และโมร็อกโก
ที่ ลิเบีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคเรื่องความปลอดภัยในบริเวณพรมแดนครั้งที่แล้ว เมื่อเดือนมีนาคม 2012 ยังคงต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อคืนความสงบเรียบร้อยให้กับประเทศ ภายหลังที่กลุ่มกบฏที่มีชาติสมาชิกนาโตหนุนหลัง ลุกขึ้นมาโค่นล้มอำนาจและฆ่าอดีตผู้นำเผด็จการ โมอัมมาร์ กัดดาฟี ในปี 2011

ผู้แทนที่มาร่วมการประชุมครั้งที่แล้วได้ประกาศใช้ แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือในระดับภูมิภาค ซึ่งมุ่งฟื้นฟูความร่วมมือเพื่อปราบปรามการก่อการร้าย การอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย และขบวนการอาชญากรรม ซึ่งรวมถึงการลักลอบขนยาเสพติด และอาวุธเข้าประเทศ

อย่างไรก็ตาม เหตุรุนแรงฝีมือของเครือข่ายกลุ่มอิสลามิสต์ ที่สั่นคลอนภูมิภาคแห่งนี้นับแต่นั้นมา เป็นต้นว่า เหตุที่เกิดขึ้นในตูนิเซีย และแอลจีเรีย ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็น ที่จะต้องพยายามอย่างจริงจังมากกว่านี้

เหล่าผู้จัดการประชุมชี้แจงวานนี้ (13) ว่า การประชุมที่กรุงราบัต ซึ่งมีตัวแทนจาก 17 ประเทศมาเข้าร่วมครั้งนี้ จะตรวจสอบ การประกาศใช้แผนปฏิบัติการ ตามที่ตกลงกันไว้ในการประชุมที่กรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้ความมั่นคงปลอดภัยในบริเวณพรมแดนของประเทศในภูมิภาคแห่งนี้

สิ่งที่สะท้อนถึงความยากลำบากในการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาค เรื่องหนึ่งได้แก่การที่ไม่มีใครคาดหวังว่า รามตาน ลามัมรา รัฐมนตรีต่างประเทศของแอลจีเรีย จะมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ภายหลังที่ประเทศนี้กับโมร็อกโกกำลังบาดหมางกันอย่างรุนแรง ในประเด็นพื้นที่ทางตะวันตกของทะเลทรายซาฮารา ซึ่งทำให้ประเทศทั้งสองเป็นปฏิปักษ์กันมานาน

ภัยคุกคามความมั่นคงซึ่งปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องในซาฮารา ได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดเมื่อเดือนมกราคมของปีนี้ เมื่อกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์บุกยึดโรงผลิตก๊าซ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ทะเลทรายของแอลจีเรีย
(ภาพจากแฟ้ม) กองกำลังความมั่นคงของตูนิเซียรุดเข้าตรวจสอบพื้นที่ชายหาด หลังได้รับแจ้งว่ามีผู้ก่อการร้ายพยายามจะระเบิดฆ่าตัวตายทว่าไม่สำเร็จ
ตัวประกันหลากหลายสัญชาติกันถูกฆ่าตายไปอย่างน้อย 37 รายในวิกฤตการณ์ 4 วันคราวนั้น ซึ่งเหตุนองเลือดได้ยุติลงเมื่อหน่วยคอมมานโดของแอลจีเรียได้ระดมกำลังปิดล้อมโรงก๊าซแห่งนี้

ในการกล่าวช่วงต้นสัปดาห์นี้ รัฐมนตรี คัลฟี ของโมร็อกโก เน้นย้ำว่า ราบัตพร้อมจะร่วมมือกับแอลจีเรียเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยในบริเวณพรมแดน

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลโมร็อกโก กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ทั้งสองประเทศไม่ได้ร่วมมือกัน แม้แต่การป้องกันผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในโมร็อกโก เนื่องจากกลายเป็นดินแดนทางผ่านที่ประชากรในแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮาราใช้เดินทางมุ่งหน้าขึ้นไปทางเหนือ

การรับมือกับปัญหานี้จะเป็นสิ่งที่การประชุมครั้งนี้ให้ความสำคัญ หลังจากที่ไม่นานมานี้เพิ่งเกิดเหตุเรืออับปางสองครั้ง ซึ่งทำให้ผู้อพยพชาวแอฟริกาเสียชีวิตไปถึง 400 ราย ในบริเวณเกาะลัมเปดูซา ของอิตาลี

ความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นในภูมิภาคทะเลทรายซาฮารานั้น ไม่ได้เป็นเพียงสาเหตุเดียวที่จุดชนวนให้ชาวภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา พยายามข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในยุโรป

ทั้งนี้ ประชากร 11 ล้านคน จากทั้งสิ้น 80 ล้านที่อาศัยในประเทศต่างๆ ในแถบทะเลทรายซาฮารา ต้องประสบกับสภาวะขาดแคลนอาหาร และภัยแล้งรุนแรงที่เกิดขึ้นถึง 3 ครั้งในรอบ 10 ปีมานี้ ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมเหตุความไม่สงบต่างๆ ที่เกิดขึ้น
(ภาพจากแฟ้ม) เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพฝรั่งเศสบินตรวจการเหนือพื้นที่ทะเลทรายของมาลี ในระหว่างดำเนินปฏิบัติการทางทหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น